ด้านล่างนี้น่าจะเป็น “คำนำ” หนังสือเล่มครั้งแรกของผม วันนี้เพิ่งจะได้จับ ผมเลือกใช้คำว่า “มาราธอน” กับกิจกรรมของเครือข่ายพลเมืองเน็ตนี้ เพราะเห็นด้วยว่าการศึกษาและรณรงค์ประเด็นใดก็ตาม ไม่สามารถสำเร็จได้ชั่วข้ามคืน มาราธอนคือการวิ่งระยะไกล ข้ามเขตแดนและส่งข่าวสาร หนังสือเล่มวางตำแหน่งตัวเองเป็นจุดสตาร์ท ดังคำออกตัว
—-
“เราเดินด้วยคำถาม” ผมได้ยินคำพูดนี้ครั้งแรกจากบล็อกของพี่แจง ฐิตินบ โกมลนิมิ นักข่าวที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนใต้มานานหลายปี ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำอย่างคำพูดดังกล่าวได้บ้าง
หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความและบทสนทนาว่าด้วยอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม และวัฒนธรรม จากกิจกรรมที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้มีส่วนร่วม ในช่วงปี 2010 ถึง 2011 ซึ่งเป็นสองปีที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมปรากฏอย่างชัดเจนกว้างขวางบนพื้นที่ออนไลน์ที่เชื่อมกับออฟไลน์ ตั้งแต่การชุมนุมและการสลายการชุมนุมเมื่อต้นปี 2010 ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปและน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011*
ขอบคุณ นฤมล กล้าทุกวัน ที่รับเป็นบรรณาธิการให้หนังสือเล่มนี้ กระบวนการต่างๆ กินเวลาหลายเดือน “มาราธอน” เกินกว่าที่ผมบอกกับเธอไว้ในคราวแรกมาก ผมน่าจะรู้จักนฤมลที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ท่าพระจันทร์ คนรอบตัวผมหลายคนรู้จักนฤมลในวาระต่างกันไป จำนวนหนึ่งวนเวียนอยู่ในแวดวงสื่อใหม่และความเคลื่อนไหว “ไม่เอารัฐประหาร”
ในช่วงปี 2004-2007 สื่อออนไลน์อย่างประชาไท มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โอเพ่นออนไลน์ วิกิพีเดียไทย พลวัต ดูโอคอร์ เว็บบอร์ดและบล็อกต่างๆ รวมทั้งวงสนทนาที่จัดโดยเว็บไซต์บล็อกนัน กลุ่มผู้ใช้ลีนุกซ์ในประเทศไทย ยูเฟส บาร์แคมป์ ไบโอสโคป ไทยอินดี้ และงานแสดงศิลปะดอคูเมนทา ได้ทำให้ผมรู้จักผู้คนมากมายที่ผมจะได้ร่วมงานด้วยในอีกหลายปีให้หลัง เป็นการเปลี่ยนสายงานจากที่เคยอยู่ในแวดวงซอฟต์แวร์และภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มาสู่การขับเคลื่อนประเด็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยิ่งรู้จักคนเหล่านี้มากขึ้น ผมก็ยิ่งเดินทางมากขึ้น
“ชีวิตคือการเดินทาง” และสำหรับคนรุ่นผม (เกิด 1979 เรียนโรงเรียนเอกชนชายล้วน อาศัยอยู่ในเขตเมือง และสามารถเข้าถึงเครื่องเล่นเกมแฟมิคอม) ตัวอย่างที่ให้ภาพได้ชัดที่สุดอันหนึ่งก็คือ วิดีโอเกมอาร์พีจี (role-playing game: RPG) อย่างไฟนอลแฟนตาซีหรือดราก้อนเควสต์ที่ผู้เล่นสวมบทบาทตัวละครสมมติออกเดินทางไปตามดินแดนต่างๆ เพื่อ “เก็บเพื่อน” หรืออีกนัยหนึ่งคือการเก็บประสบการณ์และความสามารถต่างๆ เพื่อถึงจุดหนึ่งจะได้คลี่คลายปริศนาของเกมและเตรียมความพร้อมไปสู่การปราบเจ้าจอมมารบอสใหญ่อันจะเป็นจุดสิ้นสุดของเกม
ในระหว่างทางของกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกบันทึกรวบรวมลงหนังสือเล่มนี้ ผมได้พบเจอบุคคลต่างๆ จำนวนมาก บ้างตั้งใจ บ้างเป็นเหตุบังเอิญอันน่ายินดี ผมรู้สึกจริงๆ ว่าชีวิตเป็นการเดินทาง แม้อุปลักษณ์เกมอาร์พีจีในแบบดั้งเดิมอาจไม่ทาบสนิทเสียทีเดียวกับชีวิตของเราหลายคน เพราะเราไม่มีหรือไม่เคยนึกถึงบอสใหญ่ที่จะต้องปราบในตอนสุดท้าย แต่อย่างน้อยการได้พบสิ่งต่างๆ รวมทั้งผู้คนระหว่างเดินทาง ก็ทำให้เราได้ทราบถึงภารกิจหรือที่ภาษาเกมเรียกว่า “เควสต์” ในช่วงชีวิตหนึ่งๆ ที่เราอยากจะเอาชนะให้ได้ น่าจะด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้นักเดินทางจำนวนหนึ่ง มักบอกว่า สิ่งสำคัญของการเดินทางไม่ใช่จุดหมาย แต่คือการเดินทางโดยตัวของมันเอง พูดหล่อๆ แบบให้เอาไปทวีตต่อได้ก็อาจจะพูดว่า เรามองไปที่จุดหมายเพื่อมองเข้ามาในตัวเราเอง
ความน่าสนใจของการศึกษา “โลกเสมือน” หรือ “โลกออนไลน์” สำหรับผม จึงอยู่ที่การที่มันหยิกตัวเราให้ตื่นจากความเคยชิน และเดินกลับมาดู (revisit) ทบทวนแนวคิดที่เราเคยยอมรับเกี่ยวกับ “โลกจริง” หรือ “โลกออฟไลน์” ว่ายังใช้ได้อยู่ไหม หรือจำเป็นต้องปรับแก้ ยืดขยาย หรือล้มมันทิ้งเสียให้หมด? สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งคำถาม แต่คนทั่วไปในสังคมเองก็คิดกับมันหรือคิดผ่านมันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน บันทึกการเดินทางแบบ “ยินดีที่ไม่รู้จัก” ใน กวน มึน โฮ หนังรักตลกที่ดังที่สุดในปี 2010 เปิดประเด็นให้เราคิดมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นนิรนาม และ Top Secret วัยรุ่นพันล้าน หนังอิงประวัติผู้ประกอบการในปี 2011 ก็เดินเรื่องด้วยสัญลักษณ์จากวิดีโอเกมอาร์พีจี ความเป็นดิจิทัล (digitality) และการเคลื่อนย้าย/เปลี่ยนสถานะ (mobility) ได้ปรากฏสู่ภาษาในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ
สถานที่ส่วนใหญ่ในงานเทศกาล เน็ตติเซ่นมาราธอน เมื่อปี 2010 อยู่ในบริเวณที่เดินถึงกันได้ คือย่านสี่แยกคอกวัว ถนนข้าวสาร และท่าพระจันทร์ (อีกสามแห่งอยู่ไกลออกไป ที่สีลม เกษตร และเชียงใหม่) เราตัดสินใจเลือกที่พักย่านถนนข้าวสารให้กับวิทยากรที่มาจากต่างเมือง ดัดแปลงห้องปรับอากาศในร้านอาหารใต้โรงแรมให้เป็นห้องสัมมนา ด้วยจุดประสงค์อยากให้วิทยากรได้เจอคนแปลกหน้า/นักเดินทาง ได้เดินสัมผัสเมืองเพราะหัวข้อหนึ่งในงานจะว่าด้วยเมืองกับอินเทอร์เน็ต และทดลองจัดงานในพื้นที่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากนัก เพราะสิ่งที่เรามองหานั้นก็เหมือนกับที่ผู้ใช้เน็ตจำนวนมากมองหาตามร้านกาแฟ คือ ที่นั่ง ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต – ด้วยความไม่พร้อมหลายประการในปี 2011 ขนาดของงานได้ลดลงและไม่ได้มีสถานะเป็นเทศกาล – ปี 2012 นี้เราอยากกลับมาคึกคักอีกรอบ
ขอบคุณร้านหนังสือก็องดิด, The Reading Room, Cubic Creative Play Cube, Chiang Mai Commons, โรงแรมวิลล่า ชาช่า, ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับสถานที่และการประสานงานวิทยากร จิราพร ธิโสภา, ธัญญธร สายปัญญา, นุตประวีณ์ สมดี, อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, ณัฐเมธี สัยเวช, วิชัย แสงดาวฉาย, ยอดพงษ์ จริยวิทยาวัฒน์, วสุมล บุณยเกียรติ, วนัสนันท์ ศรีไพศาล, พิสิฐ ศรีปราสาททอง, พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ, ทวีพร คุ้มเมธา, วรงค์ หลูไพบูลย์, และเยาวลักษณ์ ศรณ์เศรษฐกุล สำหรับการบันทึกและการประสานงานอื่นอีกสารพัด และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กับมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ที่วิ่งมาด้วยกันตลอด
ด้วยความระลึกถึง สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จของเขา
กรุงเทพ, มีนาคม 2012
* ผู้สนใจสถานการณ์อินเทอร์เน็ตไทยตามลำดับเวลาในปี 2011 สามารถดูเพิ่มเติมได้ใน “รายงานประจำปีเครือข่ายพลเมืองเน็ต: เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย พ.ศ. 2554” (เครือข่ายพลเมืองเน็ต 2555) และดูการอภิปรายเรื่องสื่อใหม่กับสิทธิเสรีภาพ การเคลื่อนไหว และการหาเสียงได้ใน “สื่อใหม่กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง” (มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ 2555)
—-
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ “มาราธอน: อินเทอร์เน็ต การเมือง วัฒนธรรม ฉบับออกตัว”
— จัดจำหน่ายโดย สายส่งศึกษิต บริษัท เคล็ดไทย จำกัด 0-2225-9536~40
สั่งซื้อออนไลน์: เคล็ดไทย | ซีเอ็ด | นายอินทร์
ห้องสมุดและองค์กรสาธารณประโยชน์ ติดต่อ contact (at) thainetizen.org เพื่อรับหนังสือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
4 responses to “คำ “ออกตัว” — มาราธอน เล่มแรก”
จะจับจะจองได้อย่างไรท่าน
น่าจะวางตามร้านหนังสือได้เร็วๆ นี้ฮะ
ร้านไหนสนใจเอาไปขาย ติดต่อ สายส่งศึกษิต บริษัท เคล็ดไทย จำกัด 0-2225-9536~40 โลด
เดี๋ยวเอาไปฝากชาวโอเพ่นดรีมนะฮะ
ตอนนี้วางขายทั่วไปแล้ว คิโนะ ซีเอ็ด เคล็ดไทย นายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬา