รวมเอกสารข้อเสนอการกำกับกิจการ AI ของไทย (ต.ค. 2565 / มี.ค. 2567)


ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อพัฒนากรอบกติกาเกี่ยวกับความปลอดภัยและความรับผิดของระบบที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มีอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน รวมถึงในประเทศไทย โดยหน่วยงานและชุมชนที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนนี้มีหลากหลาย เช่น ภาครัฐ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยี ชุมชนวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ กฎหมาย ปรัชญา คอมพิวเตอร์ ชุมชนวิชาชีพด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงหน่วยงานมาตรฐานอุตสาหกรรม

แม้จะพอเห็นพ้องกันในระดับหลักการโดยทั่วไป แต่ในหลายเรื่องการพัฒนาข้อตกลงร่วมกันในระดับปฏิบัติก็ไม่ง่าย ส่วนหนึ่งเพราะยังเห็นปัญหาไม่ชัดเจน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการประยุกต์เทคโนโลยีในเรื่องที่ไม่เคยใช้ในวงกว้างมาก่อน ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่องที่เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีกับเรื่องที่สังคมได้ใช้ได้รู้จักมานานแล้ว ทำให้พอจะยืมกรอบวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่มีอยู่แล้วมาใช้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของมนุษย์-มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ที่อนุญาตให้เราหยิบวิธีคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิทธิพลเมือง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ มาเป็นคุณค่าแกนกลาง และยืมเอามาตรการที่เคยใช้ได้ดีในการปกป้องคุณค่าดังกล่าว มาเป็นจุดตั้งต้นได้

เช่น มาตรการสำหรับความปลอดภัยทางถนน มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรการสำหรับความปลอดภัยในการทํางาน ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือกระทั่งกรอบทำงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ — อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ก็อาจมีข้อจำกัดหรือไม่สามารถเสนอทางออกที่ชัดเจนสำหรับความขัดกันแบบใหม่ๆ ระหว่างประโยชน์สาธารณะและสิทธิของปัจเจก

สำหรับประเทศไทย หลายหน่วยงานก็กำลังทำงานเรื่องกรอบกติกาเหล่านี้อยู่ ทั้งหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจกำกับกิจการ หน่วยงานรัฐที่ทำเรื่องนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยี หน่วยงานรัฐที่ทำงานเรื่องคุ้มครองสิทธิ สถาบันการศึกษา รวมไปถึงภาคธุรกิจ เช่น สมาคมผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้ติดตามเรื่องนี้อยู่บ้าง หลายคนก็ประสบปัญหาว่ามีหลายเอกสารจากหลายคณะทำงานมาก ตามไม่ทัน ไม่รู้ว่าใครกำลังทำเรื่องอะไรอยู่ หรือเรื่องที่กลุ่มหนึ่งทำอยู่นั้นไปสัมพันธ์อย่างไรกับเรื่องที่อีกกลุ่มกำลังทำอยู่ไหม หรือบางทีก็สับสนจำสลับกัน

โพสต์นี้พยายามจะรวบรวมเอกสารเหล่านั้นเท่าที่หาได้จนถึง 24 ต.ค. 2565 9 เม.ย. 2566 4 มี.ค. 2567 โดยจะพยายามปรับปรุงเป็นระยะเมื่อพบเอกสารใหม่ (จะคั่นหน้าไว้ในเบราว์เซอร์ก็ได้ครับ) และถ้าใครเจอเอกสารใหม่ หรือพบเว็บไซต์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ได้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหมวดหมู่เข้าถึงสะดวกอยู่แล้ว ก็วานแจ้งด้วยครับ -/\-

เอกสารที่เสร็จและเผยแพร่ให้นำไปใช้ได้แล้ว

เอกสารลักษณะหลักการและแนวปฏิบัติที่เผยแพร่ให้นำไปใช้ได้แล้ว เท่าที่ทราบมี 2 ฉบับ 3 ฉบับ ทั้งหมดไม่ใช่ระเบียบหรือกฎหมายในตัวเอง คือไม่มีบทลงโทษและไม่มีอำนาจบังคับทางกฎหมาย แต่หน่วยงานไหนจะนำไปใช้ภายในขอบเขตอำนาจตัวเองโดยสมัครใจ ก็สามารถทำได้ เอกสารดังกล่าวได้แก่:

โครงการต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี 2 ก.พ. 2564

จาก “หลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 ทำให้เกิด “โครงการสร้างความตระหนักรู้ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ อย่างมีจริยธรรม” (ai-ethics.onde.go.th / เดิมเมื่อปี 2565 ใช้ชื่อโดเมน ethics.tu-onde.com) ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ

เนื้อหาในเว็บไซต์ของโครงการ มีหลายส่วน บางส่วนเหมือนจะยังไม่สมบูรณ์ (เมื่อปี 2565) หนึ่งในส่วนที่เข้าไปใช้ได้แล้วคือ:

สารภาพว่าเห็นตอนแรกแล้วตาแตกมาก ต้องตั้งสติ แต่คนที่เคยทำงานพวกตรวจมาตรฐานมาคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี (ผมนี่ไม่คุ้นนัก) เอกสารการใช้งานของเครื่องมือดังกล่าว น่าจะพอทำให้เห็นภาพได้บ้าง ซึ่งการใช้งานจะอิงกับวิธีการปฏิบัติตาม (implementation) และกรอบแนวปฏิบัติ (core model) ตามบทที่ 3 ของเอกสารแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ — ตรงนี้ก็น่าจะต้องการเสียงจากนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และนักวิชาชีพด้านการตรวจสอบ ว่าใช้งานได้จริงแค่ไหน

กรอบการทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาครัฐ

หากเจาะจงเฉพาะการใช้งานในภาครัฐหรือโดยภาครัฐ (เพื่อให้บริการแก่สาธารณะ) ยังมีเอกสารอีก 2 ชิ้น จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร./DGA) คือ:

  • เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับการบริหารงานและการบริการภาครัฐ (AI for Government Administration and Services)
    เผยแพร่เมื่อ พ.ย. 2562 แนะนำประเด็นเบื้องต้น กรณีศึกษา ตัวอย่างจากต่างประเทศ และข้อเสนอแนะ มีเนื้อหาข้อเสนอแนะกว้างๆ เกี่ยวกับจริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์แทรกอยู่เล็กน้อย โดยในส่วนข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานภาครัฐ มีหัวข้อ “การสร้างจริยธรรม” (หน้า 135-139) และในส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มีหัวข้อ “การกำหนดกรอบการกำกับดูแล” (หน้า 142-143)
  • กรอบการทำงานปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ (AI Government Framework)
    เผยแพร่เมื่อ ธ.ค. 2563 นำเสนอแนวคิดและขั้นตอนปฏิบัติในการเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐไปสู่การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการพิจารณาข้อกำหนดขอบเขตของการจัดจ้างบุคคลภายนอก (TOR) โดยมีประเด็นด้านกฎหมายและจริยธรรมแทรกอยู่เล็กน้อย ในเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินความพร้อมของหน่วยงาน/ของรัฐบาล เช่น ในรายการตรวจประเมิน (หน้า 33) และในตารางตัวชี้วัด (หน้า 94)

ทั้งนี้หนึ่งปีหลังจากการเผยแพร่เอกสารชิ้นแรก เมื่อ 27 พ.ย. 2563 สพร.ได้เปิดตัวศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ (AI Government Center: AIGC) ถ้าใครจะติดตามแนวปฏิบัติสำหรับภาครัฐ ก็ติดตามได้จากศูนย์นี้ (หน้าเฟซบุ๊ก) และทางสพร.

เอกสารที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา

นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ เท่าที่ทราบอีก 3 โครงการ:

  • โครงการจัดทำระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ – สดช.
  • โครงการเพื่อการศึกษา หารือ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่ – สพธอ.
  • โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประเมินการทำงานของโปรแกรมที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ – สพธอ.

รายละเอียดมีดังนี้

โครงการจัดทำระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์

โครงการจัดทำระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ มีสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช./ONDE) เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักๆ เป็นนักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีจากที่อื่นบ้าง)

โดยหลังจากประชุมระดมความคิดเห็น (focus group) ต่อ “(ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” และ “(ร่าง) ระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” ไปเมื่อ 1-5 และ 8-9 ส.ค. 2565 (7 รอบ) ก็ได้ปรับปรุงเอกสาร และเผยแพร่เอกสารชุดใหม่ออกมา 2 ฉบับเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (public hearing) ในชื่อ:

**เป็นข้อเสนอจากผู้ศึกษาว่า ร่าง พ.ร.ฎ. สามารถที่จะเป็นแบบนี้ได้ แต่ไม่ใช่ร่างที่ทางสดช.จำเป็นจะต้องเสนอจริงๆ ส่วนคำว่า “รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ” ในที่นี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา และยังไม่น่าจะนับเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่จัดให้มีขึ้นต่อร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญได้

ทั้งนี้ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเมื่อ 18-19 ต.ค. 2565 (2 รอบ 18 ต.ค. ภาคเอกชน และ 19 ต.ค. ภาครัฐ) (ข่าวบนเว็บไซต์ สดช.)

ดูเอกสารนำเสนอ และส่งความคิดเห็นทางออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 2 พ.ย. 2565

ส่วนตัวไม่แน่ใจกับผลการศึกษานี้ว่าสุดท้ายจะไปจบกระบวนการลงอย่างไร เพราะเอาจริงๆ สถานะของเอกสารน่าจะยังไม่ใช่ร่างในกระบวนการออกกฎหมายเสียทีเดียว และถ้าดูตอน สดช. ให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันนี้ ศึกษากฎหมายลำดับรองของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทางจุฬาก็ศึกษา ฟังความคิดเห็น ปรับปรุง จนได้ร่างออกมา 29 ฉบับ แต่พอถึงเวลาจะเสนอร่างกฎหมายลำดับรองจริงๆ ทางกระทรวงดิจิทัลไม่ได้ใช้ร่างเหล่านั้นเลย แต่ไปให้ “ขาประจำ” ร่างกฎหมายลำดับรองขึ้นมาใหม่ในเวลากระชั้นชิดแล้วก็ใช้ร่างใหม่แทน (เป็นกลุ่มเดียวกับที่ร่างกฎหมายกันมาตั้งแต่สมัย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ จนมาถึงร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ) ทั้งนี้ไม่แน่ใจกระบวนการภายในในตอนนั้น ว่าถึงขนาดโยนทิ้งหมดเลยไหม หรือยังพอเอาเค้าโครงหรือความคิดเห็นที่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ใช้เวลากันนับร้อยนับพันชั่วโมงส่งเข้าไป มาพิจารณาอยู่บ้าง

โครงการเพื่อการศึกษา หารือ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่

โครงการเพื่อการศึกษา หารือ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ./ETDA) เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการโดย บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ (จนถึง 29 ส.ค. 2565) ได้นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ 4 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้นมีเรื่องการกำกับกิจการปัญญาประดิษฐ์สำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และบริการดิจิทัลด้วย

** ปรับปรุง 9 เม.ย. 2566 ** ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว เผยแพร่บนเว็บไซต์ law.go.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะระหว่างวันที่ 30 มี.ค. – 13 เม.ย. (14 วัน รวมวันหยุดราชการแล้ว สั้นมาก ชนสงกรานต์ด้วย) และเปิดประชุมออนไลน์รับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 เม.ย. 2566

โดยมีร่างกฎหมาย 3 ฉบับ

โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประเมินการทำงานของโปรแกรมที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประเมินการทำงานของโปรแกรมที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มี สพธอ. เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

มีเอกสาร 2 ฉบับ

และได้จัดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ 5 ต.ค. 2565 (บันทึกวิดีโอ)

ข้อเสนอเป็นเรื่องการวางเกณฑ์เพื่อรับตรวจประเมินโดยสมัครใจ ทั้งนี้ในบริบทการใช้จริง เมื่อดูจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตหน่วยงานที่จะจัดซื้อจัดจ้างระบบปัญญาประดิษฐ์จะร้องขอใบรับรองการตรวจประเมินนี้จากผู้เสนอขายสินค้าหรือบริการ เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจประเมินด้วยตัวเอง (ยกหน้าที่นี้ให้เป็นของผู้ตรวจประเมิน และเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจประเมินแต่ละเจ้าที่จะต้องรักษาคุณภาพในการตรวจประเมินของตัวเองเอาไว้ โดยวางอยู่บทความเชื่อที่ว่า ใบรับรองจากผู้ตรวจประเมินที่มีคุณภาพต่ำจะไม่มีใครเชื่อถือ ไม่สามารถใช้ในการเสนอขายสินค้าและบริการได้ และเมื่อไม่มีผู้ใช้บริการ ผู้ตรวจประเมินคุณภาพต่ำก็จะหายไปเอง)

ในเอกสารนำเสนออ้างอิงถึง หลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย (กระทรวงดิจิทัลฯ), แนวปฏิบัติจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มาตรฐาน ISO/IEC 25040:2011 ข้อกำหนดด้านระบบและคุณภาพซอฟต์แวร์และการประเมิน, ISO/IEC DIS 25059:2022 ข้อกำหนดด้านระบบและคุณภาพซอฟต์แวร์และการประเมิน สำหรับระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, ISO/IEC 29119-11:2020 แนวทางการทดสอบระบบที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, ISTQB: CT-AI หลักสูตรใบรับรองมาตรฐานสากล การทดสอบระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, และโครงการ A.I. Verify ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ค. ปีนี้

โครงการ A.I. Verify ของสิงคโปร์น่าสนใจในแง่ใช้แนวคิด MVP (minimum viable product) หรือ “ผลิตภัณฑ์ตั้งต้น” พยายามตรวจในเรื่องที่มีเครื่องมือให้ตรวจได้สะดวกในปัจจุบันก่อน ซึ่งรวมถึงการเน้นตรวจว่าระบบปัญญาประดิษฐ์นั้นมีประสิทธิภาพตามที่ผู้ขอรับการตรวจได้กล่าวอ้าง (claim) หรือไม่ (คล้ายกับแนวคิดของกฎหมายฉลากสินค้า-การคุ้มครองผู้บริโภค) ทำให้ตัวผู้รับตรวจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คุณภาพเอง (เช่น จะต้องแม่นยำอย่างน้อยกี่ %) ปล่อยให้เป็นเรื่องที่ผู้ขอรับตรวจจะต้องทำให้ได้ตามที่ตัวเองกล่าวอ้างเอาไว้ — ซึ่งมีข้อดีในแง่ลดความจำเป็นที่ผู้รับตรวจจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในตลาดและอุตสาหกรรมนั้นๆ เพียงพอที่จะกำหนดเกณฑ์คุณภาพที่เหมาะสมได้

โครงการอื่นๆ

  • AI for All ชุดโครงการปัญญาประดิษฐ์/วิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีส่วนของบทความและสรุปข่าวประจำเดือน ซึ่งเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อกังวลและกรอบกติกาเมื่อนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในสังคม

One response to “รวมเอกสารข้อเสนอการกำกับกิจการ AI ของไทย (ต.ค. 2565 / มี.ค. 2567)”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.