New Blood, New Media in the New City


ไปเชียงใหม่มาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน มีงานสัมมนาเกี่ยวกับสื่อใหม่/สื่อนฤมิต* จัดโดยคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจอคนเยอะแยะ เดินทางสู่ผู้คน

เลยงอกออกมาเป็นดูโอคอร์ตอนพิเศษ อย่างน่าดีใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ channel.duocore.tv/new-media-in-chiang-mai

ขอบคุณทีมงานคณะการสื่อสารมวลชน + CAMT ทีม minimal gallery ขลุ่ย เมฆ ชา และพี่ปูคนขับรถที่พาเราไปทุกที่

บรรยากาศเชียงใหม่เปลี่ยนไปนิดหน่อย ที่ช้างคลานผมเห็นร้านที่เคยไปปิดลง หลายร้านบนถนนนั้นก็ปิดด้วย คนที่นั่นว่ามันไม่บูมเหมือนสองปีก่อน ที่มีงานพืชสวนโลก
แต่รวม ๆ มันก็ยังเป็นเชียงใหม่นั่นแหละ ไม่ได้ต่างจากเดิม

จริง ๆ ที่ไหน ๆ มันก็เปลี่ยนทั้งนั้น และการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอ เหมือนใครซักคน (วิชา?) พูดระหว่างฝนตกหน้าร้าน minimal

“คนที่บอกว่าปายเปลี่ยนไปไม่ดีเลย ก็คนเชียงใหม่คนกรุงเทพนั่นแหละ คนปายเขาชอบ”

หรือที่แพทว่า

“คนเชียงใหม่ไม่รู้หรอกว่านิมมานเปลี่ยนไป คนเชียงใหม่เขาไม่ได้มานิมมาน มีแต่คนกรุงเทพแหละที่มาเที่ยว”

ใช่ หลายครั้งการเปลี่ยนแปลงมันโหดร้าย แม้กระทั่งกับ “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์”
ไปนอนบ้านริมน้ำ ซื้อของตลาดน้ำ ตกค่ำ ๆ ก็นั่งเรือไปดูหิ่งห้อย มันก็ยังเป็นปัญหาได้
ถึงขนาดชาวบ้านบางคนลงมือตัดต้นลำพูริมบ้านตัวทิ้ง เพราะรำคาญนักท่องเที่ยว ที่มักจะล่องเรือมาดูหิ่งห้อยตอนเขาเข้านอนแล้ว หรืออาจยังไม่นอนแต่รู้สึกว่าเสียความเป็นส่วนตัว

จะว่าไป การพยายามจะหยุดเวลาหรือสร้างหน้าตาให้เหมือน “เดิม ๆ” อย่าง อัมพวา มันก็คือการเปลี่ยนแปลง คือความไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง อย่างปฏิเสธไม่ได้

มันไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยน

ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงที่ เปลี่ยน หรือ ไม่เปลี่ยน แต่อยู่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น คนท้องถิ่น-ซึ่งต้องอยู่ที่นั่นทุก ๆ วัน เพราะมันเป็นบ้านเขาไม่ใช่แค่ที่ตากอากาศ-เขายินดีกับมันแค่ไหน การที่คนนอกจะไปกะเกณฑ์ว่า เชียงใหม่ต้องเป็นแบบนี้ ปายต้องเป็นแบบนั้น อัมพวา สามชุก ฯลฯ ต้องเป็นต่าง ๆ นานา

แต่ดูเหมือนแนวคิดคำว่า “วัฒนธรรม” ในสังคมไทย จะยังยึดอยู่กับคำว่า “อนุรักษ์” ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงเป็นปัญหาเสมอ

ของใหม่อะไรก็ตามมักจะเป็นตัวปัญหา สื่อใหม่/สื่อนฤมิตก็เป็นตัวปัญหาในสายตาสังคมและรัฐ ผมว่าไว้อย่างนั้นในงานสัมมนา

ที่เป็นตัวปัญหา เพราะสังคมและรัฐยังไม่รู้จะทำความเข้าใจและจัดการกับมันอย่างไร

สังคมไทยในจินตภาพของเรา เป็นสังคมที่โอบอ้อมอารี ผู้คนยิ้มแย้ม ช่วยเหลือเป็นมิตรกัน
เมื่อเกิดเหตุเด็กฆ่าแท็กซี่ เราช็อก ไม่รู้จะอธิบายมันด้วยคำอธิบายที่เราเชื่อกันใช้กันมานานได้อย่างไร

ทางออกที่สะดวกที่สุด (และมักง่ายที่สุด) ก็คือ โยนความผิดบาปไปให้ของใหม่

เมื่อก่อนบ้านเราไม่มี “เกมออนไลน์” ไม่เคยมีปัญหาอะไร ไม่มีเด็กฆ่าแท็กซี่
มาวันนี้บ้านเรามี GTA แล้วก็มีเด็กฆ่าแท็กซี่ เฮ้ย GTA มันต้องเป็นต้นเหตุแน่ ๆ !!

ง่ายดีไหมครับ

สื่อใหม่ก็เหมือนกัน สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ ทีวี วิทยุ เหล่านี้สังคมและรัฐรู้วิธีจัดการกับมัน รัฐเองมีกฎหมายไว้ควบคุม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหา สื่อนฤมิตที่มาใหม่สิที่เป็นตัวปัญหา อินเทอร์เน็ตที่มาใหม่สิที่เป็นตัวปัญหา

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่พ.ร.บ.ฉบับแรกที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ-อนุรักษ์นิยมที่มาจากการรัฐประหาร หยิบมาพิจารณาและผ่านอย่างรวดเร็ว ก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์-ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ — เขา้ต้องมีเครื่องมืออะไรมาควบคุม เพื่อให้เขาพ้นจากความกลัวดังกล่าว

ดู ๆ ไป ก็เป็นสังคมที่ปกครองกันด้วยความกลัวตั้งแต่รากฐานจริง ๆ คือ รัฐก็ออกกฎหมายเพราะกลัว ผู้คนก็ทำตามกฎหมายเพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย (หรือถ้าเป็นสมัยศาสนามีอำนาจ ก็คือทำ “ดี” เพราะกลัวบาป กลัวตกนรก) เราจะเรียกสังคมแบบนี้ว่าสังคมอารยะ (civic society) ไหม ? ผมว่าไม่นะ

คุยหลายเรื่อง จบไม่ลง ไม่ได้เขียนนาน เอาเป็นว่าตั้งคำถามหย่อนไว้เท่านี้แล้วก็หนีก่อนละกัน ลองคุยกันดูนะครับเพื่อน ๆ (ผมอาจจะไม่ได้ร่วมวงอย่างทันใจ แต่เชิญคุยกันเองได้เลยครับ)


* ผมค่อนข้างมีปัญหากับการใช้คำว่า “สื่อใหม่” เพื่อแทน New Media
และอยากจะใช้คำอื่นแทน เช่น “สื่อนฤมิต” หรืออะไรก็ได้ที่มันมีความเจาะจงกว่า และไม่กำกวมอย่างคำว่า “สื่อใหม่” — คือ บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่า เขาต้องการหมายถึงอะไร [สื่อ-ใหม่] (สองคำต่อกัน, ใหม่ ขยาย สื่อ) หรือ [สื่อใหม่] (คำเดียวกัน) — ในภาษาอังกฤษ เราสามารถใช้วิธี capitalize มันได้ ก็เขียน New Media ไปซะ ในบริบทที่ถ้าเขียน new media แล้วมันจะเป็นปัญหา — หรือในภาษาเยอรมันก็จะชัดเจนว่า เขาใช้คำว่า Neue Medien แทนที่จะเป็น neue Medien (คำนามในภาษาเยอรมันตัวแรกจะเขียนเป็นตัวใหญ่หมด ส่วน neue นั้นเป็นคำวิเศษณ์ ปกติต้องเขียนตัวเล็ก แต่ในที่นี้ คำว่า Neue Medien มันเป็นคำนามคำเดียวกัน ไม่ได้แยก) — แต่ภาษาไทยไม่มีกลไกระดับ typography อย่างนั้น (หรือ morphology ด้วย?) ทางที่ทำได้ก็น่าจะเป็นการเลี่ยงไปใช้คำอื่นซะ ข้อจำกัดพวกนี้-ประกอบกับเรื่อง ๆ อื่น น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้มีการคิดศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้น แทนที่จะใช้คำเดิม ๆ

technorati tags: , ,


6 responses to “New Blood, New Media in the New City”

  1. ไอ้เรื่องการท่องเที่ยว..คือด้วยความที่เป็นกระแสนะเราว่า เรื่องยิ่งเยอะ คนยิ่งแยะมันยิ่งเลยสร้างปัญหาในที่สุด .. แต่ตรงไหนล่ะ คือความพอดี .. สำหรับเรา โอเค เออ! แม่ง ปายโคตรจะเปลี่ยนเลยวะ ภูกระดึงโคตรจะเปลี่ยนเลยวะ ..ถูก มันคือสายตาของนักท่องเที่ยว แต่ถ้าหลายๆ นักท่องเที่ยวเห็นตรงกัน ความเห็นนั้นควรจะได้รับการนำมาพิจารณารึเปล่า ? ถูก เราไม่ได้อยู่ที่นั่น คนที่นั่นต่างหากควรจะเป็นคนตัดสิน บางทีกระแสของความใหม่ ใครๆก็ชอบ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เค้ายอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราว่าถ้ามันเป็นกรณีนี้ บางทีความเห็นของคนวงนอกอาจจะเห็นภาพในอนาคตชัดกว่าคนวงในก็ได้นะ ปล.เบื่อจริงๆ กับททท.ที่ชอบสนใจแต่ตัวเลข อุ้ย!ปีนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวเรา boom ขึ้นตั้ง 1,000 ล้านแหนะ ..แต่เคยกลับมาดูบ้างรึเปล่า ว่าเงินที่ได้กับไอ้สิ่งที่สูญเสียไปมันสัมพันธ์กันไม๊เนี่ย ? คุณวัดกันตรงไหนกันแน่ ? แล้วจริงๆ เราว่าคำว่า "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" มันดูไม่ค่อยจะเหมาะเลยเปล่าวะ .. "อุตสาหกรรม"มันดูต้องวัดอะไรที่เป็นตัวเลข มีปริมาณ มีจำนวน แต่จะเรียกว่า​"บริการ" มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด …เออ! โทษที เริ่มจะนอกเรื่องล่ะ -_-"

  2. ไม่ว่าจะมองว่ามันเป็น "อุตสาหกรรม" หรือไม่เราก็ยังมองมันเป็น "ที่ท่องเที่ยว" ใช่มั๊ยล่ะแต่สำหรับคนที่อยู่ที่นั่น มันเป็น "บ้าน" นี่นา

  3. แล้วคำว่า New Media ในภาษาอังกฤษ เวลาพูดออกเสียง มันฟังออกถึงความแตกต่างจาก new media ไหมครับ?

  4. “ผู้คนก็ทำตามกฎหมายเพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย''กำลังนึกภาพที่ผู้คนทำตามกฎหมาย ไม่ใช่เพราะกลัวความผิดตาม กม.ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ, คงไม่จำเป็นต้องใส่บทลงโทษไว้ใน กม. เลย หรือเปล่า?นึกต่อไปว่า ที่ใด มี กม. ประเภทนั้นบ้าง.* วิกิพีเดีย?

  5. กล่าวโดยย่อคือ ความกลัวไม่ดี "แต่" ความกลัวก็เป็นปัจจัยให้ทำความดีได้ความกลัวมีอยู่ในทุกคน จะไปควบคุมบังคับบัญชาให้เกิดหรือไม่เกิดไม่ได้แต่ความกลัวเป็นปัจจัย "ไม่ใช่เหตุ" ของการทำความดี เพราะความดีเป็นกรรม เป็น freewill ของมนุษย์ ไม่ได้ทำขึ้นเพราะมีความกลัวเหตุสรุปสั้นๆ ความกลัวก็เป็นกรรมหนึ่ง พอกลัวแล้วระลึกถึงความดี จึงทำความดีความดีก็เป็นอีกกรรมหนึ่ง ไม่นับรวมกัน ถ้าจะให้ปราศจากความกลัวเสียเลยแล้วถึงจะเรียกว่าสังคมอารยะ ก็หมายถึงสังคมของพระอริยบุคคล ที่ปราศจากปุถุชนการเอาชนะความกลัวในใจจะทำได้ด้วยการปฏิเสธการมีอยู่ของความกลัวกระนั้นหรือ หรือจะเอาชนะได้ด้วยการตระหนักถึงสภาวะธรรมที่แท้จริงของความกลัวจนกระจ่าง ก็เป็นสิ่งที่ปุถุชนต้องพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อให้รู้ได้ด้วยตนเอง

  6. > แต่ความกลัวเป็นปัจจัย "ไม่ใช่เหตุ" ของการทำความดี เพราะความดี> เป็นกรรม เป็น freewill ของมนุษย์ ไม่ได้ทำขึ้นเพราะมีความกลัวเหตุก็อาจจะให้ทาน เพราะกลัวตกนรกก็ได้.แต่ให้ทานไปโดยไม่ได้นึกถึงความดีเลย, ไม่ได้นึกอยากให้ผู้รับมีความสุข.ขณะให้ก็ไม่ได้รู้สึกดีต่อผู้รับเลย, โดยคิดแต่เพียงว่าจะเป็นผลดีกับตัวเอง, ตัวเองจะไม่ต้องตกนรก.คิดแต่เพียงว่านั่นเป็นการลงทุนเพื่อตัวเองเท่านั้น.> ถ้าจะให้ปราศจากความกลัวเสียเลย> แล้วถึงจะเรียกว่าสังคมอารยะ ก็หมายถึงสังคมของพระอริยบุคคล ที่ปราศจากปุถุชนอารยะ กับ อริยะ ก็ออกเสียงคล้ายๆ กัน น่าจะเป็นอันเดียวกันมั้ง.ถ้างั้น สังคมอารยะ หรือ civil society ก็คือ สังคมที่ปราศจากปุถุชน ใช่หรือไม่?ผู้คนที่ทำตามกฎหมายไม่ใช่เพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย,ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปราศจากความกลัวเสมอไปนี่นา,แต่ผู้คนอาจจะทำตามกฎหมายเพราะตระหนักดีว่า การทำตามกฎหมายจะทำให้สังคมสงบสุข.เมื่อถึงตอนนั้น, บทลงโทษใน กม., ก็ไม่ได้มีไว้ให้คนกลัว, แต่มีไว้เพื่อให้คนที่อาจเผลอทำผิด กม. ในบางเวลา อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ, ได้กลับมาฉุกคิด ได้สำนึก ว่า ตนกำลังมีส่วนจะทำให้สังคมไม่สงบสุข และ ได้คอยระวังตัวเตือนสติเตือนใจตัวเองมากขึ้น.นี่ก็ไม่ใช่เพราะความกลัวความผิดตาม กม. เลย.

Leave a Reply to AnonymousCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.