media and information literacy & citizen science: พลเมืองที่อ่านเขียนสารสนเทศเป็นกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่าน “วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง”


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ก.ย. 2556) ไปงาน แผนแม่บทไอซีที ระยะที่ 3 ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำลังจัดทำสำหรับ พ.ศ. 2557-2561 มีสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยจัดทำด้วย (ดูเอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อยและการรับฟังความคิดเห็น)

มนู อรดีดลเชษฐ์ (เมื่อก่อนอยู่ศรีปทุม ไม่รู้ตอนนี้อยู่ไหน) กับ พรทิพย์ เย็นจะบก จากยูเนสโกพูดถึงประเด็นการหลอมรวมกันของนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

พรทิพย์บอกว่าทุกวันนี้นิเทศศาสตร์เข้ามาอยู่ในไอซีที media literacy กลายเป็น media and information literacy (ยูเนสโกใช้คำนี้ ย่อว่า MIL ส่วนที่อื่นอาจจะเรียก information and media literacy ย่อว่า IML)

หลายคนเทียบ “media literacy” เป็นคำไทยว่า “การรู้เท่าทันสื่อ” ซึ่งก็สะท้อนความคิดในช่วงหนึ่งของนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อไทย ที่รู้สึกว่าสื่อมันมีอิทธิพลมาก ความชั่วร้ายในสังคมนี่หลักๆ มาจากสื่อไม่ดี ดังนั้นคนเราต้องได้รับการศึกษา ให้รู้เท่าทันสื่อ ไม่ถูกสื่อ(และนักการเมืองที่ครอบงำสื่อ)หลอกเอา นักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ใช้คำว่า “รู้ทัน” จนเป็นเครื่องหมายการค้า ก็คือ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กับชุดหนังสือและรายการ “รู้ทันทักษิณ”

ผมแสดงความหงุดหงิดกับการแปล “media literacy” เป็น “รู้เท่าทันสื่อ” ในหลายโอกาส ถ้าจำไม่ผิดในช่วงแรกก็น่าจะเป็นตอนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอบรมนักข่าวพลเมือง ซึ่งโดยตัวมันเองก็ชัดเจนว่า นี่เราจะเป็นพลเมืองที่สื่อสารข่าวเองแล้วนะ ไม่ใช่แค่พลเมืองที่รู้ทันเท่านั้น กระแสพวกนี้อยู่ร่วมสมัยกับเว็บล็อกและยูทูบ กับสิ่งที่เรียกว่า user-generated content และต่อมาก็โซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้มันเข้าใจให้รอบไม่ได้ในกรอบ “รู้เท่าทันสื่อ” แบบเดิม ที่เน้นการรับสาร (อย่างเท่าทัน)

คำแปล “literate” ในภาษาไทย มีใช้กันอยู่ว่า “อ่านออกเขียนได้” เทียบได้อย่างตรงไปตรงมากับภาษาอังกฤษที่นิยามว่า “literacy” คือ “ability to read and write”

คำว่า “รู้เท่าทัน” มันตก “การเขียน” ไป

แม้เราจะพอขยายความหมายของ “รู้เท่าทัน” ให้รวมไปถึงการเขียนอย่างเท่าทันได้บ้าง แต่มันก็ไม่ชัดเจนเท่า “อ่านออกเขียนได้”

ผมเลยพยายามจะแปล media literacy ว่า “การอ่านสื่อออกเขียนสื่อได้” หรือถ้าเอายาวๆ ก็อาจจะเป็น “ความสามารถในการอ่านสื่อออกเขียนสื่อได้” … ซึ่งก็ยาวเกิน ยังนึกคำที่กระชับและครบไม่ออก ยิ่งพอมีคำว่า information พ่วงมาด้วย ยิ่งยาก

(ผมคิดว่าการแฮ็กนี่แหละ คือการรวบยอด literacy ทั้งหมดของยุคหน้า)

การอ่านสารเทศออกเขียนสารเทศได้ของพลเมืองทั่วไป เมื่อประกอบกับการมีอยู่และเข้าถึง open data/big data และเอกสารแบบ open access ที่มากขึ้น กฎระเบียบที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก open access movement และ free culture movement (รวมไปถึงกฎหมาย freedom of information และการสนับสนุนการหลุดรั่วโดยบุคคลและสถาบันอย่างหนังสือพิมพ์และ WikiLeaks) จะทำให้ความเป็น “เจ้า-หน้าที่” (authority) ที่เกิดและดำรงอยู่เพราะความจำกัดของแวดวงวิชาชีพ ถูกท้าทายมากขึ้น

สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วกับวงการข่าว และกำลังเกิดขึ้นกับวงการวิทยาศาสตร์

เมื่อประมาณสิบปีก่อน สิ่งที่เรียกว่า grassroot/citizen journalism ได้เกิดขึ้น และได้พิสูจน์แล้วว่ามันทำให้วงการสื่อต้องปรับและปฏิวัติตัวเองอย่างไร

วันนี้ แนวคิดคล้ายๆ กันกำลังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า citizen science หรือ “วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง”

พลเมืองที่เดิมทำได้แค่เพียงตรวจสอบผลวิจัยที่ดูจะมีปัญหา ตอนนี้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำวิจัยได้

ในขั้นแรกอาจจะเป็นเพียงการให้ข้อมูล เก็บข้อมูล หรือร่วมประมวลผล บนกรอบวิธีวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด แต่มันมีแนวโน้มจะค่อยๆ ขยับ พลเมืองทั่วไปจะเข้าไปร่วมสังเกตการวิจัยและกำหนดวาระวิจัยได้มากขึ้น

ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลดี เพราะวาระการวิจัยเองก็กำหนดว่า อะไรที่จะถูกมองเห็น และในหลายครั้ง สิ่งที่จะถูกมองเห็นและวิเคราะห์สรุปออกมาเป็นผลวิจัยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อพลเมืองทั่วไป ผ่านการถูกนำไปใช้เป็นฐานในการออกแบบและสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบาย หรือใช้ในการรณรงค์สนับสนุนนโยบาย

ถ้าอำนาจในสังคมปัจจุบัน มาจาก ข้อมูล และ วิธีการให้เหตุผล

พลเมืองเจ้าของอำนาจ ก็ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ในการสร้างข้อมูลและวิธีการให้เหตุผลพวกนั้น

 

ปรับปรุงจากโพสต์ในเฟซบุ๊ก (4 ก.ย. 2556)


3 responses to “media and information literacy & citizen science: พลเมืองที่อ่านเขียนสารสนเทศเป็นกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่าน “วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง””

  1. ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์นะครับ ต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ที่ผมเขียนเนี่ยผมก็มั่วแบบคนไม่รู้นะครับ เพราะผมก็ไม่ใช่นักภาษาแล้วก็ไม่มี background สายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เลย

    ในสายบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ใช้ การรู้สารสนเทศ แทน information literacy ครับ บางที่ก็ว่า การรู้เท่าทันสารสนเทศ (เข้าใจว่าไปลอกมาจาก media literacy มาอีกที) ผมเองก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับทุกแบบ ตัวเองก็เลยแปลว่าเป็น การเรียนรู้สารสนเทศ แต่ทำไปทำมา อาจารย์หลายท่านที่เขียนตำราก็ใช้ การรู้สารสนเทศไปหมด หรือในแบบที่คุณ bact เขียนมา แม้ การอ่านสารสนเทศเขียนสารสนเทศ จะแปลได้ตรงตัวเป๊ะ แต่ผมว่าจะทำให้เปลี่ยนนัยในเชิงเป้าประสงค์ไปเสียนะครับ

    เพราะ literacy เดี่ยว ๆ มันไปตกอยูในบริบทของการศึกษาพื้นฐาน ดังนั้น ไอ้อ่านออกเขียนได้ ผมว่ามันก็เข้าใจได้อยู่ว่า ถ้าอ่านได้ เขียนได้ก็ถือว่า “เอาตัวรอด” ได้ ในความรู้สึกของผม นัยที่แท้จริงของ literacy มันไม่ได้ใช่การอ่านออกเขียนได้ แต่น่าจะเป็นการเอาตัวรอดเสียมากกว่าด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากการอ่านออกและเขียนได้เป็น manifestation ที่ชัดที่สุด มันก็เลยใช้คำนี้มาแต่ไหนแต่ไร จริง ๆ ถ้าจะเอาให้ชัด literacy ในที่นี้ ควรจะกำกับไปด้วยซ้ำว่าเป็น learning literacy เอาให้ชัดไปเลย

    ดังนั้นถ้าจะเอาตัวรอดในบริบทของสื่อและสารสนเทศ การอ่านและการเขียน ไม่น่าจะใช่ manifestation ของตัวอ้างพวกนี้อีกต่อไป ในความรู้สึกของผม กรอบที่ใช้มันกว้างกว่า literacy ทั่วไปด้วยซ้ำ ความกว้างขึ้นของความหมายมี 2 มิติสำคัญ คือ 1) จากการอ่านและการเขียนไปสู่ การใช้และการผลิต ซึ่งผมเห็นว่าการอ่านเป็น subset ของการใช้ และการเขียนก็เป็น subset ของการผลิตและ 2) เวลาพูดถึง literacy เฉย ๆ มันจะมีภาพความเป็นคนเก่งติดมาด้วย คือ ถ้าอ่านออกเขียนได้ แล้วคุณก็จะเก่ง แต่เมื่อมาใส่ในบริบทของสื่อและสารสนเทศ ผู้คิดว่ามันไม่ใช่แค่เก่งนะครับ มันยังต้องเป็นคนดีซะด้วย เช่น ต้องเป็นคนที่มี skill ในเรื่อง plagiarism เรื่อง privacy มีประเด็นจริยธรรมที่ต้องรู้มากกว่าแค่รู้ว่าจะใช้หรือผลิตยังไง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการตีความที่กว้างกว่าบริบทต้นแบบไกลมาก

    เพราะฉะนั้น แค่อ่านสารสนเทศได้เขียนสารสนเทศได้ ก็ไม่พอเอาตัวรอดครับ แต่จะ “รู้เท่าทัน” เฉย ๆ ก็ดูเป็นคนดีที่อาจจะไม่เก่ง ส่วนจะ “รู้” เฉย ๆ ผมก็ว่ามันกว้างซะจนได้ปลามาทั้งมหาสมุทร ส่วนจะให้ใช้อะไรแน่นั้น ผมก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน

  2. ขอบคุณที่ช่วยเคลียร์เรื่อง learning literacy ครับ

    อืมมม “แตกฉานสารสนเทศ” ดีไหมครับ

  3. แตกฉาน ถ้าจะเอาให้ตรงตัว มันน่าจะ proficient หรือไม่ก็ fluent หรือเปล่าครับ คือแบบเชี่ยวเลย ประมาณ “เมื่อนาย x มีความรู้แตกฉานจากสำนัก X จึงได้ย้ายไปเรียนทีสำนักอื่น” ดูน่าจะเป็นขั้นกว่าของ literacy?

    แต่ผมคิดว่าพอมาใส่ในเป็น แตกฉานสารสนเทศ ก็ไม่เลวเหมือนกันแฮะ

Leave a Reply to bactCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.