Taisoc


ที่โอเพ่นออนไลน์มีบทความใหม่ ประเด็นร้อนตอนนี้

เดือนก่อน อ่านภาคผนวกของ 1984, เรื่อง Newspeak (นิวสปีก) เจ๋งดี (ตัวนิยายยังไม่ได้อ่านหรอกนะ ข้ามมาอ่านภาคผนวกเลย)

ผมว่ามันทำได้จริง ๆ นะ ภาษามีอิทธิพลต่อความคิดมาก (อย่างน้อยนักภาษาศาสตร์และนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งก็เชื่อเช่นนั้น) เช่นเวลาเราคิด เราคิดเป็นภาษารึเปล่า ? มันอาจจะไม่เสมอไป บางคนอาจแย้ง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ตัวผมเองคิดเป็นภาษานะ

คุณตัดจำนวนคำในภาษาออกไป คุณเปลี่ยนแปลงความหมายของคำที่เหลืออยู่ คุณยุบรวมคำหลาย ๆ คำเข้าด้วยกัน ให้มันสูญเสียความเฉพาะเจาะจงไป สุดท้ายแล้ว พอจำนวนคำมันจำกัด และแต่ละคำมันคลุมเครือ นั่นคือภาษาถูกจำกัด ความคิดของคุณก็จะถูกจำกัดไปด้วย

คือมันคงจะเป็นอาการ เริ่ม ๆ จะคิดได้ แว๊บเข้ามาในหัว แต่ไปต่อไม่ได้ ไม่สามารถ ‘ทด’ มันไว้ในหัวได้ (คำในภาษา เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกตรึง (fixed) ไว้แล้ว จึงสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการ ‘ทด’ ความคิดไม่ให้ล่องลอยได้) พอคุณทดมันไม่ได้ มันก็จะแว๊บ ๆ ๆ เข้ามาเยอะ ๆ แหละ แต่ไม่สามารถนำมันมาปะติดปะต่อกันได้ แล้วมันก็จะหลุด ๆ ๆ ไป

การวิเคราะห์ ไล่เหตุหาผล ก็จะทำได้ลำบาก และถึงแม้คุณจะเจ๋งมาก ๆ ยังสามารถคิดได้ แต่ที่สุดแล้ว คุณก็ไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่คุณคิดออกไปให้คนอื่นรับรู้ได้ด้วยภาษาที่มีอยู่

(ลองนึกสภาพเราคิดอะไรได้ นึกเป็นภาษาไทยได้ แต่พูดกับฝรั่งไม่ได้ถนัด เพราะหาคำฝรั่งที่มันตรงกับความคิดเราเป๊ะ ๆ ไม่ได้ กรณีนี่ก็คือการคิดแม้ไม่ได้ถูกจำกัด แต่การส่งความคิดออกไปนั้นถูกจำกัด – อีกกรณีคือ ถ้าคุณไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่ง ลองคิดเป็นภาษาฝรั่งดูสิ คุณจะพบว่า มันจำกัดกระบวนการคิดของคุณได้)

นั่นคือสิ่งที่ Ingsoc ใช้ Newspeak ทำ

จำกัดการแสดงออกทางความคิด ด้วยการจำกัดภาษา การสื่อสาร

(นอกเหนือจากการตัดความกำกวมทางภาษาออกไป เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความคิดของพลเมือง คือจะไม่สามารถพูดอะไรอย่างซ่อนความหมายได้)

คำว่า “รักชาติ” เมื่อผ่านกระบวนการโฆษณาตอกย้ำลงหัวไปสักพัก มันก็อาจจะรวมความหมาย “สมานฉันท์” “เชื่อผู้นำ” “นับถือพุทธศาสนา” “พอเพียง” “รักองคมนตรี” “เกลียดทักษิณ” “ใส่เสื้อเหลือง” “ไม่เอาแปรรูป” ฯลฯ เข้าไปอยู่ในคำ ๆ เดียวได้เหมือนกัน .. เมื่อใดที่คุณบอกว่า “รักชาติ” ความหมายในชุดทั้งหมดที่ว่ามา จะตามมาโดยอัตโนมัติ คุณไม่สามารถเลือกได้ หรือใช้คำว่า “รักชาติ” ในความหมายอื่นได้ ทุกคนจะ “รักชาติ” เหมือน ๆ กัน (หรืออย่างน้อยก็คิดว่าคนอื่น “รักชาติ” เหมือน ๆ กับที่เรารัก)

หรือคำว่า “แตกต่าง” ที่ในความรับรู้ของบางคนมันรวมความหมายของคำว่า “แตกแยก” เข้าไปด้วย

หรือคำว่า “ผู้หญิงหากิน” ที่สูญเสียความหมายที่อาจเป็นไปได้ว่า “ผู้หญิงที่ทำมาหากิน” ไปอย่างสิ้นเชิง เหลือแค่ความหมายที่เท่ากับ “ผู้หญิงขายตัว” เท่านั้น คุณไม่สามารถใช้คำว่า “ผู้หญิงหากิน” ในความหมายอื่นได้แล้ว

การเรียนรู้ภาษา เรียนรู้ความหมาย/การใช้คำใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งมาจากชีวิตประจำวัน โต้ตอบกิจธุระ อีกส่วนหนึ่งมาจากข่าวสารที่เราเสพ/บริโภค เพลง หนัง หนังสือ ป้ายโฆษณา (ลองทบทวนดู เช่น สำหรับคนที่เขียนบล็อก คุณคิดว่า สไตล์การเขียนของคุณ ได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของคนอื่นหรือเปล่า ?)

การจำกัดข่าวสารที่เราจะรับรู้ได้ นอกจากจะทำให้เราเสียโอกาสรับข้อมูลต่าง ๆ แล้ว ยังจะจำกัดการเรียนรู้สิ่งใหม่ในภาษาของเรา … ซึ่งมันจะมีผลกับความคิด/การสื่อสารความคิดของเรารึเปล่า ?

ผมก็ไม่รู้หรอกนะ

เกี่ยวข้อง: doubleplusgoodblog

technorati tags:
,


3 responses to “Taisoc”

  1. "คำ" มีพลังมากจริง ๆ นะ ยกตัวอย่างเช่น คำของฝ่ายซ้ายหลาย ๆ คำ เช่นคำว่ากดขี่ หรือแปลกแยก ทำให้เราสามารถพูดอะไรได้มากขึ้น มีหนังสือของอ.นิธิ ชื่อ "คำมีคม" เป็นการรวมบทความเรื่องพวกนี้เลยทีนี้ ผมว่า ในปัจจุบันการต่อสู้เชิงความหมายแบบนี้ เป็นสิ่งที่รัฐทำได้สำเร็จมากเลยทีเดียว (โดยใช้เวลาหลายสิบปี) แม้จะไม่ใช่ผ่านทางการ censor การใช้คำอย่างเดียว เราเองก็อาจจะพยายามต่อสู้กับกระบวนการของรัฐ ผ่านทางการให้/ชี้แจงความหมายของคำเช่นเดียวกัน (เช่น กรณี open-source)

  2. ลองนึกกรณีคำศัพท์ที่ใช้ในคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ก็เช่นเดียวกัน.ถ้าตัดคำนิยามต่างๆ ออกไปก็นะ… นั่นแหละ.

  3. อย่างสมัยจอมพลป.นี่ ก็มีการยกเลิกพยัญชนะ เปลี่ยนการสะกดคำแบบนี้พอจะใช่แบบ Newspeak มะ ?ใน Newspeak ก็มีการเปลี่ยนการสะกดคำ ลดความกำกวมแต่จุดประสงค์ของจอมพลป.อาจจะไม่ถึงขนาด Ingsoc

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.