ข่าวลือ


“ข่าวลือ” ในความหมายของการกระจายข่าวที่ไม่อาจยืนยันที่มาและความแม่นยำได้ ถ้ามันเป็นเป็น “ข่าวลือ” เกี่ยวกับบุคคลสาธารณะหรือสถาบันทางสังคม มันก็มีประโยชน์สาธารณะได้นะ จะไปบอกว่าข่าวลือทุกชนิดทุกชิ้นไม่มีประโยชน์กับสาธารณะก็ไม่ใช่

เนื่องจากบุคคลสาธารณะและสถาบันทางสังคมมีอำนาจมาก การกระจายข่าวเกี่ยวกับคนหรือสถาบันเหล่านั้นในลักษณะที่สืบย้อนที่มาได้อย่างเปิดเผย ก็ทำได้ลำบากกว่า เนื่องจากอาจเป็นอันตรายกับแหล่งข่าวหรือคนที่เปิดหน้าเผยแพร่

ดังนั้นลักษณะของเนื้อข่าวก็จำเป็นจะต้องทำให้ที่มาของข่าวมีลักษณะคลุมเครือหรือปกปิด และลักษณะของการเผยแพร่ ก็อาจทำไม่ได้ในทางช่องทางปกติ ก็ออกไปทางพูดปากต่อปากบ้าง คุยกันในวงเล็กหรือวงที่พอเชื่อใจกันอยู่บ้าง ไม่สามารถทำได้ในสื่อสารมวลชนที่เข้าถึงคนได้ทีละมากๆ ในเวลาสั้นๆ

หากเราเอามาตรฐานทางวารสารศาสตร์ไปพิจารณา “ข่าวลือ” เหล่านี้ ก็อาจจะพบว่าเป็นไปได้ที่จะเป็นการรายงานที่ไม่ครบถ้วน ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ หรือไม่น่าจะเป็นธรรมกับผู้อยู่ในข่าว
แต่เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่และทรัพยากรของบุคคลสาธารณะและสถาบันทางสังคมแล้ว “ข่าวลือ” เหล่านี้ ก็น่าจะถือได้ว่า โดยเปรียบเทียบ ยังเป็นธรรมอยู่กับบุคคลในข่าว

เนื่องจาก

– ในแง่ความครบถ้วน บุคคลและสถาบันเหล่านั้น มีอำนาจ(และหน้าที่)ที่จะทำได้อยู่แล้ว ที่จะทำให้ข้อมูลมันครบถ้วนขึ้น ให้สาธารณะเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ทำให้สาธารณะหายสงสัยได้

– ในแง่ความน่าเชื่อถือ ความเป็นบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ยังไงก็มีเครดิตมีความน่าเชื่อถือในการอธิบายเหนือกว่า และการที่ไม่ได้นิรนามก็อนุญาตให้สะสมความน่าเชื่อถือได้ และ

– ในแง่ทรัพยากร บุคคลและสถาบันเหล่านั้นก็มีทรัพยากรเพียงพอ (และในหลายครั้งก็เป็นทรัพยากรของสาธารณะด้วยซ้ำ) ในการจะเผยแพร่แก้ไข หรือยืนยันข้อมูลต่างๆ อยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าพิจารณาทั้งแง่อำนาจ หน้าท่ี และทรัพยากร การที่ “ข่าวลือ” จากผู้มีอำนาจน้อยต่อผู้มีอำนาจมาก จะมีมาตรฐานในทางวารสารศาสตร์หย่อนกว่าปกติ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ “แฟร์” หรือ “เป็นธรรม” อยู่ — โดยเฉพาะถ้า “ภาระในการพิสูจน์” ให้สาธาณะเห็นความโปร่งใสในการทำงาน นั้นถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วของสถาบันทางสังคมนั้นๆ

(ลองคิดถึง “การแจ้งความ” กับตำรวจดู จริงอยู่ว่า ถ้ามาตรฐานในการรับแจ้งต่ำไป ก็จะเป็นเกิด “การใส่ความ” ได้ง่ายๆ แต่ถ้าสูงมาก ต้องมีหลักฐานพยานครบถ้วน โอกาสที่คนอำนาจน้อย ทรัพยากรน้อย จะแจ้งความได้ ก็จะลดลงไปมาก โอกาสตรวจสอบอำนาจใหญ่ก็จะลดลง)

นอกจากนี้ ถ้ามันเป็นข่าวเกี่ยวกับการทำงาน มันก็สามารถใช้ปรับปรุงการปฏิบัติงานต่างๆ ให้มีเหตุมีผลรัดกุม ลดความเคลือบแคลงสงสัย เป็นมิตรเป็นธรรม พวกนี้ก็เป็นประโยชน์กับสาธารณะด้วย
“ข่าวลือ” ต่อสถาบันทางสังคมและบุคคลสาธารณะ จึงเป็นทั้งเสียงสะท้อนเพื่อปรับปรุงการทำงานและเป็นกลไกความรับผิด (accountability) หรือการที่ต้องสามารถรายงานและอธิบายการใช้อำนาจของตัวเองให้ได้

แน่นอนว่ามันมีการกุข่าวเพื่อใช้โจมตีกัน ซึ่งคนที่อยู่ในอำนาจมากก็ใช้วิธีนี้มาทำลายคนอำนาจน้อยด้วย เช่น การดิสเครดิตอย่างเป็นระบบ (ภาษาปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอทหารคือ “ด้อยค่า” lol) หรือเล่าเรื่องในรูปแบบหรือลำดับที่ชวนให้สาธารณะเข้าใจผิดเกี่ยวกับนักกิจกรรม (เคยเห็นกับตัวจากสไลด์นักวิชาการสถิติประยุกต์ท่านหนึ่งที่ไปบรรยายที่สถาบันพระปกเกล้า) ดังนั้นมันก็จำเป็นต้องมีการจัดการกับข่าวลือ ไม่ใช่ปล่อยไปหมด เพราะในสถานการณ์ที่ไม่มีการจัดการอะไรเลย คนที่มีอำนาจน้อย มีทรัพยากรน้อย จะตกที่นั่งลำบากกว่า

เพราะมีแนวโน้มอย่างมากว่า “ข่าวลือ” ไม่ว่าจะแง่ดีหรือแง่บวก ที่สนับสนุนอำนาจนำ ทำลายผู้ท้าทายอำนาจ จะแพร่กระจายได้สะดวกกว่า (แต่ไม่รับประกันว่าจะไกลกว่าและนานกว่านะ เพียงแต่ตอนเริ่มแรกนั้นทำได้สะดวกกว่า) เพราะมีปัจจัยหลายอย่างส่งเสริม เช่น

– คนพูดสามารถเปิดหน้าปล่อยข่าวได้ ใช้พื้นที่สื่อกระแสหลักหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ก็ได้ เนื่องจากอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าในทางอำนาจ มีความเสี่ยงต่ำกว่าที่จะถูกดำเนินคดี

– กลไกปิดกั้นหรือ “ตรวจสอบ” ข่าวสารของรัฐ (อย่างศูนย์ข่าวปลอมกระทรวงดิจิทัล) ก็อาจจะเลือกไม่ทำงานกับข่าวลือที่เป็นประโยชน์กับรัฐ

– ผู้เผยแพร่ ซึ่งอยู่ฝั่งอำนาจนำ มีแนวโน้มที่จะมีทรัพยากรจำนวนมาก (ทั้งในมิติทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคม) ในการเผยแพร่เนื้อหา ทั้งการเผยแพร่ทางคลื่นความถี่สาธารณะ (ที่เป็นสมบัติของประชาชน) การขอทุนจากกองทุนที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจนำ (ทั้งของรัฐและเอกชน) มาทำเนื้อหา ทำหนัง ทำเวิร์กช็อป ผลิตซ้ำข่าวลือ

ข่าวลือจึงสามารถเป็นกลไกที่ผู้มีอำนาจน้อยใช้ส่งเสียงและตรวจสอบเพื่อให้อำนาจใหญ่เปลี่ยนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ผู้อยู่ในอำนาจนำ มีอำนาจมาก ใช้ได้อย่างสะดวกมือ(กว่า) เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง

การพิจารณา “ข่าวลือ” และการรับมือกับข่าวลือ จึงไม่ควรละเลยมิติของอำนาจ

เมื่อคืนดู Spotlight อีกรอบ สนุกดี ทีมข่าวพยายามจะขุดกรณีล่วงละเมิดทางเพศของเด็กโดยพระคาทอลิก แต่ไปทางไหนก็เจอตอ เพราะสถาบันทางสังคมต่างๆ ในเมืองมี “ความสัมพันธ์อันดี” ต่อกัน การไปท้าทายโบสถ์ ก็เหมือนท้าทายความเป็นอยู่ของสถาบันอื่นๆ ไปด้วย การพยายามจะใช้กลไกคานอำนาจอื่นๆ ของสังคมมาช่วย จึงทำได้ยากมาก ตำรวจเองก็ไม่อยากยุ่ง บก.ใหญ่สุดบอกว่า ถ้าไปเจาะรายงานเป็นกรณีๆ ตัวระบบของโบสถ์ก็จะทำให้เรื่องเงียบไปเองได้เหมือนที่ผ่านๆ มา ต้องทำข่าวที่ตีไปที่ตัวระบบให้ได้ ให้เห็นว่าโบสถ์รู้เห็นเรื่องนี้และได้มีการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อปกป้องพระที่ทำผิด ประเด็นที่สถาบันทางสังคม “มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน” ก็ดีมาก มีบทสนทนานึงในหนังที่บอกว่า สื่อต้องเป็นอิสระจากสถาบันเหล่านี้ จึงจะทำงานได้ หนัง 2 ชั่วโมง สร้างจากเรื่องจริง — ใน Netflix มี

(เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 25 ก.ค. 2563)


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.