- กราฟิกคั่นรายการของไทยพีบีเอส บอกว่าที่หยุดวันแรงงาน เพราะหยุดให้พักผ่อน หลังจากตรากตรำมาทั้งปี
- เท่าที่ดูข่าวสามสี่ช่องและออนไลน์ ไม่มีใครพูดถึงการเฉลิมฉลอง “การทำงานวันละไม่เกินแปดชั่วโมง”
- การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากข้อเรียกร้องของคนทำงานในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงานทั่วโลก) ที่ต้องการให้ลดชั่วโมงการทำงานเหลือไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- ในสมัยนั้นชั่วโมงการทำงานอยู่ในช่วง 10-16 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์
“By extending the working day, therefore, capitalist production…not only produces a deterioration of human labour power by robbing it of its normal moral and physical conditions of development and activity, but also produces the premature exhaustion and death of this labour power itself.”
— Karl Marx
- สหพันธ์สหภาพแรงงาน กำหนดเป้าหมายว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 1886 จะเป็นวันเริ่มต้น ของการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
- ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1886 สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานทั่วสหรัฐ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว
- การนัดหยุดงานที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในชิคาโก มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30,000 ถึง 40,000 คน
- การนัดหยุดงานในชิคาโกยืดเยื้อ ในวันที่ 3 พฤษภาคม คนงานสองคนถูกตำรวจยิงเสียชีวิต จากเหตุความรุนแรงดังกล่าวคนงานนัดชุมนุมในวันรุ่งขึ้นที่จตุรัสเฮย์มาร์เก็ต
- 4 พฤษภาคม 1886 การชุมนุมเริ่มขึ้นในตอนเย็น ประมาณการจำนวนผู้ชุมนุมระหว่าง 600 ถึง 3,000 คน มีการปราศรัยต่างๆ
- เวลาประมาณสี่ทุ่มครึ่ง การปราศรัยเพิ่งจบลง ตำรวจกลุ่มหนึ่งเดินหน้าเข้าไปหากลุ่มผู้ปราศรัย ระหว่างนั้นมีระเบิด (ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนขว้าง) ถูกโยนเข้ามาระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตหนึ่งนาย และหลังจากนั้นก็เกิดความอลหม่าน มีการยิงใส่กัน รวมมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บมากกว่า 60 ด้านผู้ชุมนุมเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บมากกว่า 70 และถูกจับกุมมากกว่า 100 คน
- เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การกวาดล้างจับกุมสหภาพแรงงานต่างๆ ประชาชนและบริษัทห้างร้านจำนวนมากให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการบริจาคค่ารักษาพยาบาลให้กับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ ส่วนกลุ่มคนงานและผู้อพยพถูกจับตาสงสัย โดยเฉพาะผู้อพยพชาวเยอรมันและโบฮีเมียน การจับกุม การดำเนินคดี การพิพากษาและการตัดสินประหารชีวิตแกนนำการชุมนุม ยังคงเป็นประเด็นที่มีข้อสงสัยให้วิพากษ์วิจารณ์จนถึงทุกวันนี้
- ปี 1889 “สากลที่สอง” หรือ องค์กรสากลที่รวมพรรคสังคมนิยมและพรรคแรงงานจากทั่วโลก เสนอให้ทั่วโลกร่วมเดินขบวนในเดือนพฤษภาคมปี 1890 เพื่อรำลึกถึงการครบรอบเหตุการณ์เฮย์มาร์เก็ต
- ปี 1904 สากลที่สองประกาศเชิญชวนให้พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและสหภาพแรงงานทุกแห่งทุกประเทศร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องการรับรองตามกฎหมายของการทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน ความต้องการของชนชั้นแรงงาน และสันติภาพทั่วโลก โดยให้หยุดงานวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อร่วมขบวน เป็นจุดเริ่มต้นของ “วันแรงงานสากล” (International Workers’ Day)
- พนักงานกินเงินเดือนทุกคนนี่ก็คือชนชั้นแรงงานทั้งนั้นนะครับ นั่งทำงานในออฟฟิศนี่ก็ใช่ — ถ้าคุณไม่มีปัจจัยการผลิตอื่น แต่เอาแรง(ใจ/กาย/สมอง)ไปทำให้เกิดงาน เพื่อแลกค่าจ้าง ก็เป็นคนทำงานแลกค่าจ้าง (wage-earner) อยู่ในชนชั้นแรงงานเหมือนกันหมด
- และที่ทุกวันนี้เรามีระบบทำงานวันละแปดชั่วโมง (รวมไปถึงวันหยุด วันลาคลอด) ก็เพราะขบวนการแรงงานสากล
- 1 พฤษภาคม จึงไม่ได้เป็นวันหยุดพักผ่อนเฉยๆ แต่เป็นวันระลึกถึงสิ่งที่ต้องต่อสู้จึงจะได้มา (ไม่ต้องไปสู้กับอริราชศัตรูที่ไหน สู้กับพวกขูดรีดแรงงานนี่แหละ)
- ส่วนวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันรำลึกว่า สิทธิที่เรามีอยู่ ใช้อยู่ ทุกวันนี้ มีคนในอดีต (ที่อาจจะไม่ใช่บรรพบุรุษโดยตรงของเรา) สูญเสียอะไรบางอย่างเพื่อแลกมันมา
- ขอพลังจงอยู่กับท่าน
(เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 4 พ.ค. 2018)