อุปลักษณ์ในอินเทอร์เน็ตศึกษา


การบ้านเมื่อปี 2552 เอาเรื่องที่เรียนในวิชาสัมมนา 1 (มานุษยวิทยาภาษา) มาใช้ในวิชาสัมมนา 2 (ชาติพันธุ์นิพนธ์ออนไลน์) @pittaya ถามถึงบทความเกี่ยวกับอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ชิ้นนี้ เลยเอามาโพสต์ในบล็อกละกัน ด้านล่างเป็นส่วนแรกของบทความซึ่งแก้ไขเล็กน้อยก่อนการเผยแพร่ในปี 2553

ส่วนบทความฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2559 และแก้ไขชื่อเป็น “อุปลักษณ์ในการศึกษาอินเทอร์เน็ต” เพื่อตีพิมพ์ใน วารสาร สื่อ ศิลปะ และการออกแบบสื่อ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 จัดพิมพ์โดยภาควิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความยาว 13 หน้า A4 — ดาวน์โหลดได้ตามลิงก์นี้ PDF | OpenDocument


อุปลักษณ์ในอินเทอร์เน็ตศึกษา:
การเลือกและการลืม วัตถุศึกษาและวิธีศึกษา ในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ข้อเสนอเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคม

รายงานชิ้นนี้1 เสนอการพิจารณาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ (conceptual metaphor) ต่าง ๆ ที่ใช้กับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เห็นว่า “อินเทอร์เน็ต” ที่อาจดูเหมือนเป็นวัตถุชิ้นเดียวชนิดเดียวนั้น สามารถเป็นวัตถุศึกษาที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม แวดวง (habitus) หรือขอบเขตความรู้ (domain) ได้อย่างไร รวมถึงอุปลักษณ์แต่ละแบบซึ่งกำหนดวัตถุศึกษานั้น ได้ซ่อนหรือปกปิดประเด็นอะไรไปบ้างเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา และทำไมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่เราจะต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของอุปลักษณ์ที่ใช้เข้าใจหรือสร้างวัตถุศึกษาหนึ่ง ๆ ขึ้นมา2 รายงานชิ้นนี้เสนอว่า เช่นเดียวกับอุปลักษณ์อื่น ๆ อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตนั้น ได้สร้างกรอบความเข้าใจต่อประเด็นอินเทอร์เน็ต และลักษณะทางการเมืองในการกำหนดความเข้าใจนี้ ได้ส่งผลต่อนโยบายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต.

พลังของอุปลักษณ์

ในบทนำของหนังสือ Remix ลอว์เรนซ์ เลซสิก นักวิชาการนิติศาสตร์ชาวสหรัฐ ได้พูดถึงข้อควรระวังของการใช้อุปลักษณ์ สงคราม กับความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม. แม้เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดจะเกี่ยวกับระบบลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา แต่ข้อสังเกตถึงการยอมรับอุปลักษณ์บางอย่าง ซึ่งนำไปสู่การวางนโยบายสาธารณะ รวมถึงคำตัดสินของศาลฎีกา ก็น่าสนใจอย่างมาก. เขาเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับทัศนคติต่อ “สงคราม” ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมอเมริกันและวัฒนธรรมเยอรมัน. ในขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงครามมีความหมายแง่ลบสำหรับคนเยอรมัน ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้จากประสบการณ์เลวร้ายของพวกเขาในประวัติศาสตร์, สงครามนั้นไม่จำเป็นต้องมีความหมายแง่ลบเสมอไปสำหรับคนอเมริกัน. เลซสิกอธิบายว่าไม่ใช่ว่าคนอเมริกันนั้นชอบสงคราม แต่เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของพวกเขา สงครามไม่ได้นำมาเฉพาะความสูญเสีย ในบางครั้งพวกเขาก็ยอมเสียสละบางอย่างไปกับสงคราม เพื่อจำกัดสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น. ด้วยประสบการณ์โรแมนติกเช่นนี้นี่เอง ที่อนุญาตให้อุปลักษณ์ สงคราม ถูกใช้ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม. อเมริกาประกาศสงครามกับยาเสพติด กับความยากจน กับการก่อการร้าย กับการเหยียดผิว กับโรคร้ายต่าง ๆ ไปจนถึงกับจดหมายขยะ (Lessig 2008: xiii-xiv).

แต่ก็เช่นเดียวกับอุปลักษณ์อื่น ๆ อุปลักษณ์ สงคราม ก็มี สิ่งทอดตาม (entailments) อันเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งทอดตามนี้ได้กรอบและผลักดันนโยบายทางสังคม. เลซสิกอ้างถึงการอภิปรายโดย George Lakoff และ Mark Johnson ถึงปาฐกถา “moral equivalent of war” ของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์:

มี “ศัตรู” ต่อ “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ทำให้มีความต้องการที่จะ “กำหนดเป้าหมาย” “จัดระเบียบลำดับความสำคัญ” “สถาปนาสายการบังคับบัญชาใหม่” “ร่างยุทธศาสตร์ใหม่” “รวบรวมข่าวกรอง” “ระดมกำลัง” “บังคับการลงโทษ” “เรียกร้องให้เสียสละ” และอีกต่าง ๆ นานา. อุปลักษณ์ สงคราม ขับเน้นความจริงบางประการ และปิดบังความจริงที่เหลือ. อุปลักษณ์ไม่เพียงเป็นวิถีในการมองความจริง มันยังได้ออกใบอนุญาตไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการดำเนินการทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ. การยอมรับอุปลักษณ์ได้มอบฐานในทางเหตุผลให้กับการแทรกแซงบางอย่าง: มันมีศัตรูที่มีเจตนาร้ายจากต่างชาติภายนอก (วาดภาพโดยนักวาดการ์ตูนเป็นชาวอาหรับโพกหัว); เรี่ยวแรงพละกำลังที่จำเป็นต้องทุ่มเทให้กับสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด; ประชาชนต้องยอมเสียสละ; ถ้าเรารับมือกับการคุกคามดังกล่าวไม่ได้ เราก็จะไม่รอดชีวิต.

เลซสิกชี้ว่าสิ่งทอดตามนั้นมาจากความหมายโดยนัยที่ชัดเจนของ “การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด”: การต่อสู้ดังกล่าวจะดำเนินอย่างไม่มีข้อจำกัด มันเป็นการขี้ขลาดที่จะถามถึงสาเหตุ, การไม่เห็นพ้องกันเป็นการช่วยเหลือศัตรู เป็นดังการกบฎหรือใกล้เคียง, ชัยชนะคือผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวที่ฝ่ายหนึ่งจะมุ่งหมายได้ อย่างน้อยก็ในที่แจ้ง, การประนีประนอมคือความพ่ายแพ้. ซึ่งโดยสรุปก็คือ เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องสู้ และจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะชนะ ไม่ว่าจะต้องสูญเสียอะไรก็ตาม. แม้สิ่งทอดตามเหล่านี้ จะเข้าใจได้ในสถานการณ์อย่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจริง ๆ แต่สิ่งที่เลซสิกพยายามจะชี้ให้เห็นก็คือ มันอันตรายเพียงใดเมื่ออุปลักษณ์ สงคราม ได้ถูกนำมาใช้ในบริบทอื่น ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วความอยู่รอดไม่ใช่เดิมพัน.

อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์และสิ่งทอดตามเหล่านี้ไม่ได้ล่องลอยมาจากอากาศ แต่มาจากประสบการณ์ทางร่างกายของเราและการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว. ในบทกล่าวตามของหนังสือ Metaphors We Live By, Lakoff และ Johnson (2003: 254-255) อธิบายว่า อุปลักษณ์เชิงซ้อน (complex metaphor) นั้นพัฒนาขึ้นมาจาก อุปลักษณ์พื้นฐาน (primary metaphor) ซึ่งมีฐานอยู่บนประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา โดยมันได้เชื่อมโยงประสบการณ์ทางความรู้สึก-การเคลื่อนไหวของเรา เข้ากับขอบเขตความรู้ในการตัดสินให้คุณค่าของเรา. Lakoff และ Johnson ยกตัวอย่างอุปลักษณ์ ความรัก คือ ความอบอุ่น (Affection Is Warmth) ว่ามาจากประสบการณ์เริ่มแรกของเรา ที่ความรักนั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ทางร่างกายที่ได้รับความอบอุ่นจากการถูกกอด, หรืออุปลักษณ์ การเห็น คือ การรู้ (Seeing Is Knowing) ซึ่งสำหรับเด็กในตอนเริ่มแรกแล้ว “เห็น” มีความหมายตามอักษร คือเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์เท่านั้น. ต่อมาจึงมีสถานการณ์ที่การเห็นกับการรู้นั้นรวมเข้าด้วยกัน เช่น ในเวลาที่เด็กพูดว่า “เห็นพ่อเข้ามา” การเห็นและการรู้นั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน. จนหลังจากนั้นมันจึงชัดเจนว่ามีการใช้ “เห็น” ในเชิงอุปลักษณ์ เช่น “เห็นที่ฉันคิดไหม” ซึ่งเป็นเรื่องการรู้ ไม่ใช่การเห็นตามอักษร.

ไม่น่าแปลกใจถ้าผู้คนในต่างวัฒนธรรมจะมีประสบการณ์ครั้งแรกกับอินเทอร์เน็ตในสถานการณ์และบริบทต่างกัน หรือแม้จะเป็นสถานการณ์และบริบทเดียวกัน แต่ด้วยประสบการณ์ในชีวิตประจำวันซึ่งได้สร้างอุปลักษณ์พื้นฐานที่แตกต่างกัน ก็ได้นำไปสู่การใช้อุปลักษณ์เชิงซ้อนสำหรับอินเทอร์เน็ตที่อาจต่างกันกันไปตามวัฒนธรรม และนั่นหมายถึงสิ่งทอดตามที่ต่างกันไปด้วย.

(จบส่วนแรก อ่านฉบับเต็ม [PDF])

—-

[1] รายงานวิชาสัมมนามานุษยวิทยา 2 (ชาติพันธุ์นิพนธ์ออนไลน์) ภาคการศึกษา 2/2552 หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อาจารย์ผู้สอน: ยุกติ มุกดาวิจิตร)

[2] อุปลักษณ์ที่ใช้เข้าใจวัตถุศึกษานี้ หากพิจารณาจากผู้ใช้ อาจพูดได้ว่ามีสองประเภท คือ 1) อุปลักษณ์ที่ใช้ทำความเข้าใจวัตถุศึกษาจากในวัฒนธรรม เป็นอุปลักษณ์ที่ผู้คนในวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ใช้ทำความเข้าใจประสบการณ์รอบตัว ซึ่งรวมถึงวัตถุศึกษาด้วย (แม้ตัวเขาจะไม่ได้ถือว่ามันเป็นวัตถุศึกษา หรือแม้ตัวเขาจะไม่ได้ตระหนักถึงการใช้อุปลักษณ์ก็ตาม); และ 2) อุปลักษณ์ที่สร้างวัตถุศึกษาขึ้นโดยผู้สังเกตการณ์จากนอกวัฒนธรรม ในที่นี้คือนักวิชาการที่พยายามอธิบายวัตถุศึกษาด้วยอุปลักษณ์บางตัว ซึ่งอาจเป็นอุปลักษณ์คนละตัวกับที่ผู้คนในวัฒนธรรมนั้นใช้ ที่สุดอุปลักษณ์ดังกล่าวได้ขับเน้นประเด็นบางอย่างของสิ่งที่เขาตั้งใจจะศึกษาขึ้นมาและขณะเดียวกันก็ได้ซ่อนประเด็นบางอย่างให้หายไป พูดอีกอย่างคือ เขาได้สร้างวัตถุศึกษาใหม่ขึ้นมา โดยถอดเอาบางแง่มุมของวัตถุที่ตั้งใจจะศึกษาออกมา (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม). อย่างไรก็ตาม อุปลักษณ์ทั้งสองประเภทนี้โดยทฤษฎีอุปลักษณ์แล้วไม่ต่างกัน เพราะต่างก็พยายามจะเข้าใจขอบเขตความรู้ใหม่ด้วยการใช้มโนทัศน์จากขอบเขตความรู้ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีว่าด้วยอุปลักษณ์.


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.