ผมเริ่มงานแรกหลังเรียนจบตรี ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (จริงๆ เริ่มก่อนจบน่าจะสามเดือนได้ ซึ่งงานนี่ก็เกือบทำให้ไม่จบ :p) งานที่ทำอยู่ในหมวด “software localization” หรือเรียกย่อๆ ว่า L10n (L ตามด้วยอักษรอีกสิบตัว ปิดท้ายด้วย n)
software localization ไม่ใช่แค่การแปลซอฟต์แวร์ให้ใช้ภาษาถิ่น แต่ต้องปรับให้เข้ากะท้องถิ่น (locale) ด้วย
เช่น มาตรฐานเข้ารหัสและจัดเก็บตัวอักษร (ยูนิโค้ด สมอ. ASCII JIS)
การจัดเรียงลำดับข้อมูล (เอาอะไรมาก่อนหลัง พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวไหนสำคัญกว่าตอนเรียง)
ระบบปฏิทิน (ศักราช การนับวันแรกของสัปดาห์ วิธีเรียกวัน การเขียนวันที่เอาวันหรือเดือนมาก่อน วันหยุดประจำปี เวลา 24 ชั่วโมงหรือ am/pm เขตเวลา ปรับเวลาออมแสงเมื่อใด)
ระบบจำนวนและระบบนับ (เลขไทย เลขอารบิค การออกเสียงจำนวน “211 -> สองร้อยสิบเอ็ด” การรันเลขรายการ “๑) ๑.๑) ๑.๑.ก)” เครื่องหมายบอกหลัก “1,000.00 vs 1.000,00”)
หน่วยชั่งตวงวัด (อิมพีเรียลหรือเมตริก ใช้กระดาษแบบ Letter หรือ A4) หน่วยเงิน (บาท-สตางค์ ดอลลาร์-เซนต์)
รูปแบบการเขียนชื่อ คำนำหน้า ที่อยู่ ไปรษณีย์ เลขหมายโทรศัพท์
เครื่องหมาย สัญลักษณ์พื้นฐาน สี (ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ O X / อัญประกาศเปิดปิด) และอีกมาก
บางเรื่องเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เลย ไม่ต้องเข้าไปแก้ไขตัวโปรแกรม แต่บางเรื่องก็จำเป็นต้องไปปรับโปรแกรมให้มันรองรับเสียก่อน
เมื่อก่อนโปรแกรมจำนวนมากถูกออกแบบมาโดยไม่คำนึงถึงการทำตลาดในวัฒนธรรมอื่นๆ ทำให้ยากที่จะปรับ บางทีก็ต้องแงะงัด เสียเวลามากและไม่ยั่งยืน เพราะพอโปรแกรมออกเวอร์ชันใหม่ ก็ต้องมาแงะงัดกันอีกรอบ
การทำให้ซอฟต์แวร์สามารถทำ localization ได้สะดวก เรียกว่าการทำ internationalization หรือ i18n เป็นการเตรียมความพร้อมให้ซอฟต์แวร์ไม่ “taken for granted” เหมารวมไปว่าสิ่งคุ้นชินทางวัฒนธรรมของโปรแกรมเมอร์นั้น คนอื่นๆ ในโลกจะใช้แบบนั้นไปด้วย
โปรแกรมรุ่นใหม่ๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ออกแบบมาโดยคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณภาษาโปรแกรม เครื่องมือพัฒนา และระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ ที่ทำให้การเขียนโปรแกรมแบบ i18n สะดวกขึ้น ซึ่งก็ทำให้ทำ L10n ได้ง่ายตามไปด้วย
ในเมืองไทย คนที่ทำเรื่องนี้มานานก็เช่น @theppitak @htk999 @untsamphan @pruet @nanusorn ทำมาตั้งแต่สมัยบุกเบิก ยังไม่มีมาตรฐานสากลเรื่องนี้มากนัก ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานขึ้นเองเลย คนเหล่านี้จำนวนมากมีความสัมพันธ์ในทางหนึ่งทางใดกับ NECTEC
อีกรุ่นถัดมาก็เป็น @markpeak @veer66 @kengggg @pittaya ฯลฯ ที่ทำบนฐานของซอฟต์แวร์ที่ออกแบบเรื่อง i18n มาไว้ค่อนข้างดีแล้ว และมาตรฐานอุตสาหกรรมหลายอย่างในเรื่องนี้ก็นิ่งแล้ว
จริงๆ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องซอฟต์แวร์อะไรให้ยุ่งยาก เฉพาะการแปลข้อความปกติ ในวิธีคิดแบบ L10n ก็ควรจะแปลแบบปรับเข้าถิ่น ให้สามารถสื่อความความหมายที่ต้องการไปสู่วัฒนธรรมนั้นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องแปลแบบตามอักษร
ภาพนี้เอามาจากเว็บไซต์ไมโครซอฟท์ ที่ชวนคนให้ไปใช้ SkyDrive อย่าใช้ Dropbox เลย
จะเห็นว่า เป็นการแปลแบบรักษาต้นฉบับไว้ดีมาก แต่มันไม่ลงตัวเท่าไหร่กับถิ่นไทย หน่วยเงินยังเป็นดอลลาร์ และพอแปลงตัวเลขมาเป็นบาทก็ร่วม 300 ซึ่งก็ไม่เมกเซนซ์กับราคาข้าวกลางวันในเมืองไทย (ที่สามร้อยบาทนี่คือค่าแรงขั้นต่ำ :p)
กะจะแค่แคปมาให้ดูเล่นๆ ดันเขียนซะยืดยาว ถือว่าแชร์กันละกัน
เรื่อง “taken for granted” เหมาว่าคนอื่นก็คงคิดเหมือนเรา ทำแบบเรานี่แหละ และเรียกร้องให้ผู้ใช้ปรับตัวให้เข้ากับ “ผลิตภัณฑ์” ที่เราออกแบบ เป็นเรื่องที่เห็นกันทั่วไป ไม่เฉพาะในวงการซอฟต์แวร์
—-
โพสต์ครั้งแรกที่เฟซบุ๊ก Art Bact’
6 responses to “มากกว่าการแปล, localization คือการปรับเข้าถิ่น”
300 บาทต่อปี
ก็ถูกกว่าข้าวกลางวันทั้งปีไงครับ
/แถซะ
เกิดไม่ทัน /หึหึ
กรรมพิมพ์ชื่อตัวเองเพี้ยนซะงั้น
[…] […]
[…] […]
[…] […]