นักข่าว 0.8: กรณีการจับผู้อำนวยการนสพ.ประชาไท และข่าวที่กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงาน #freejiew


[เพิ่มเติม 2010.09.27 14:21: ผมเขียนบล็อกโพสต์นี้ เพราะตระหนักว่า เนื้อหาในการฟ้องนั้นก็เรื่องหนึ่ง ส่วนภาพที่ถูกสร้างให้ปรากฏต่อสาธารณะ-ทางสื่อ-นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง การนำเสนอภาพกระบวนการการจับกุมซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมีนัยยะนี้ ส่งผลต่อภาพประทับในหัวของคน และให้โทษกับผู้ถูกกล่าวหา นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย]

[เพิ่มเติม 2010.09.27 14:54: เพื่อความสะดวกในการ(ไม่)อ่าน ขอแจ้งว่าโพสต์นี้ไม่มีข้อมูลใหม่หรือการวิเคราะห์อะไรเกี่ยวกับคดีของจีรนุชเลย. เนื้อหาแบ่งเป็น 3 ตอน: 1) วารสารศาสตร์ (อันเป็นที่มาของชื่อ นักข่าว 0.8 ที่เทียบกับ เว็บ 2.0); 2) ข้อเสนอในเรื่องความรับผิดของตัวกลางและการดำเนินคดี; 3) ข้อสังเกตต่อสมาคมวิชาชีพสื่อ]

เมื่อเย็นวันศุกร์ (24 กันยา) ผมมีเหตุให้ต้องไปขอนแก่นเป็นครั้งแรก กลับมาก็ได้อ่านข่าวเกี่ยวกะเหตุการณ์นั้นตามสื่อต่าง ๆ ก็ตรงบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ เป็นอันเข้าใจได้ เพราะจำนวนหนึ่งรายงานในระหว่างที่เรื่องยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่จบดี

แต่วันนี้ได้อ่านข่าวฉบับของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พบว่ามันคลาดเคลื่อนจนน่าตลก ขำเสียจนไม่รู้จะพอเพียงอย่างไรไหว เนื้อความหรือก็ราวกับนิยายเพื่อความปรองดอง คือไม่รู้จะพูดอย่างไรดี นอกจากนึกภาพ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกอดคอกะนักข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ แล้วร้องว่า ร่วมกัน เราทำได้! … น่าจะชวนไปส่งประกวด ไอเดียประเทศไทย คาดว่าน่าจะได้รางวัลสร้างสรรค์นวัตกรรมข่าวยอดเยี่ยม (แล้วแบ่งเงินรางวัลกันไปช็อปช่วยชาติ)

กรุงเทพธุรกิจเขาทำไปได้นะ ทั้ง ๆ ที่เขาเผยแพร่ชิ้นข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 21:00 หรือหลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดจบไปแล้วมากกว่า 18 ชั่วโมง (เพื่อการเปรียบเทียบ มติชนออนไลน์ ที่รายงานเมื่อ 24 กันยายน 2553 18:00 ยังทำได้ดีกว่ามาก)

ญาติยื่นหลักประกัน 2 แสนบาท ประกันตัวบก.ประชาไทย เปิดเว็บหมิ่นเบื้องสูง เจ้าตัวยังให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา-ขอให้การในชั้นศาล

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องชื่อ ประชาไท ที่สะกดผิด เอาแค่ข้อเท็จจริงในโปรยข่าวชิ้นนี้ ก็ผิดไปอย่างน้อยสองที่แล้ว

1) คนที่เอาเงินสดไปให้ประกันตัว คือทีมงานของหนังสือพิมพ์ประชาไท ไม่ใช่ญาติ; 2) จีรนุช เปรมชัยพร เป็นผู้อำนวยการของหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่บรรณาธิการ; 3) ตามสำนวนฟ้อง ข้อหาคือ มีความเห็นท้ายข่าวที่หมิ่นฯ ไม่ได้ระบุว่าทั้งเว็บมีจุดประสงค์เพื่อการนั้น; …

ไหนจะ connotation ของการเลือกใช้คำว่า ยัง … เอาเถอะ นั่นแค่เล็ก ๆ

พ.ต.ท.ถนอมสิทธิ์ วงษ์วิจารณ์ รอง ผกก.(ส.) สภ.เมืองขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเวลา 18.00 น.วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจชุดสืบสวนปราบปราม บก.ตม.2 ได้ทำการจับกุมตัว น.ส.จีรนุช

ผมอยู่ที่นั่นด้วย สุวรรณภูมิ เวลาที่เจ้าหน้าที่พบหมายจับของจีรนุชแสดงในคอมพิวเตอร์ที่ด่าน คือ 14:00-14:30 โดยประมาณ เครื่องบินเราลง 14:00 มาด้วยกัน ยื่นหนังสือเดินทางให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองพร้อม ๆ กัน โต๊ะติดกัน

ถ้าใครดูในทวิตเตอร์/FourSquare ของผม ก็จะเห็นว่า 17:14 ผมและจีรนุช ออกจากสุวรรณภูมิเพื่อไปขอนแก่น, 17:36 อยู่ถนนวงแหวนตะวันออก, 18:00 อยู่ประตูน้ำพระอินทร์ อยุธยา

ถ้าตำรวจเห็นจีรนุชที่สุวรรณภูมิตอน 18:00 ก็คงเป็นผีจีรนุชล่ะครับ – ฟังแล้วหลอน ๆ

14:30 vs 18:00

และเป็นใจให้ผู้คนสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของตนเอง โดยไม่ลบข้อความนั้นออกจากเว็บมาสเตอร์ของตนเองทั้งๆที่ทราบดีว่ามีข้อความ ดังกล่าว

ผมอ่านแล้วก็งง ๆ นึกภาพไม่ออกว่าจะลบอะไรออกจากเว็บมาสเตอร์ยังไง เข้าใจว่าคงไม่มีบ.ก.ดูแลเรื่องภาษา … แต่อันนี้ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ (เป็นเพียงอีกหนึ่งความไม่ใส่ใจ) ที่ฮาคือต่อไปนี้

และจากการจับกุมของเจ้า หน้าที่ตำรวจสืบสวนปราบปราม บก.ตม.2 เมื่อเย็นวันที่ 24 ก.ย.นั้น เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า จะมีผู้ต้องหาตามหมายจับเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้กระจายกำลังตามจุดต่างๆของสนามบินสุวรรณภูมิ จนสามารถจับกุมตัวได้ในที่สุด ขณะที่ลงจากเครื่องบินกลับจากประเทศฟินแลนด์ แล้วนำหนังสือเดินทางมาขอรับการตรวจอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ

นี่เริ่มขี้โม้ละ ผมยืนรออยู่หลังด่าน (ผมผ่านด่านมาได้เรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร) ตรงบริเวณรอรับกระเป๋าอยู่อย่างน้อย 10 นาที ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็ยังตรวจสอบหนังสือเดินทางของจีรนุชอยู่ โดยจีรนุชยืนอยู่ที่โต๊ะตรงด่าน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ค่อยให้จีรนุชไปนั่งรออีกด้านนึง ผมก็รอต่ออีก รอจนขี้เกียจยืนรอ ผมเลยขอเข้าไปด้านหน้าด่านอีกที กว่าจะตรวจสอบหมายจับอะไรได้ ผมคิดว่าอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงล่ะ … เพราะฉะนั้นที่จะมาบอกว่า เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการล่วงหน้า (ได้รับแจ้งว่า…) … โกหกทั้งนั้นอ่ะ (เตรียมมาก็ดีสิ จะได้ไม่ต้องรอ)

และก็อย่างที่ได้เล่าไป จีรนุชเป็นคนเดินไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเอง ไอ้ที่ว่า กระจายกำลังตามจุดต่างๆของสนามบิน เนี่ย ถ้าไม่เพราะตม.ขี้โม้ ก็คงเป็นนักข่าวดูหนังมากไป พี่เขายังเดินชิล duty free อยู่เลย … เขียนไปได้หนอ .. กระจายกำลัง

(btw พวกผมกลับมาจากบูดาเปสต์ แค่เปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิเท่านั้น กลับมาจากงานประชุมเสรีภาพอินเทอร์เน็ต Internet at Liberty 2010 … ตลกไหม)

จึงอนุญาตให้ประกันตัวออกไปเมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา โดยมีญาตินำหลักทรัพย์ 2 แสนยื่นขอประกันตัวออกไป

ผมนึกไม่ออกว่า ข้อเท็จจริงง่าย ๆ แค่เรื่องเวลานี่ กรุงเทพธุรกิจสามารถทำให้มันคลาดเคลื่อนกันขนาดนี้ได้ยังไง … ตำรวจให้จีรนุชประกันตัวได้ราว 01:00 และสอบสวนเสร็จราว 02:30 ของวันที่ 25 กันยายน ถ้านักข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะยอมเสียเวลาเช็คข่าวกับแหล่งอื่น ๆ บ้างทั้งทางเว็บ (อย่างน้อย โดยสามัญปัญญา ก็จากเว็บไซต์ประชาไทนั่นแหละ) หรือทางการสื่อสารอื่น ๆ ก็คงไม่ผิดพลาดเรื่องง่าย ๆ แค่นี้

จะว่าไป นักข่าวเนชั่นคงใช้ social media ได้ไม่ถึงประสิทธิภาพที่ @suthichai สุทธิชัย หยุ่น คาดหวัง เพราะถ้าตาม hashtag #freejiew เสียหน่อย อย่างน้อยก็น่าจะไม่พลาดข้อมูลพื้นฐานเรื่องเวลา (ส่วนจะไปหูเบาเชื่อตม.โม้หรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง) … ซึ่งจะปฏิเสธว่าไม่รู้เกี่ยวกะ #freejiew นี้เลยก็คงลำบาก เพราะในวันนั้น #freejiew ขึ้นเป็น trending topic ของเมืองไทย

ผมไม่ได้คาดหวังให้รายงานถูกต้อง 100% เพราะนั่นเป็นไปไม่ได้ งานข่าวมีเรื่องของเวลานำส่งมาจำกัด (นอกเหนือไปจากฟอร์แมตของสื่อ โครงสร้างองค์กรข่าว กระบวนงานข่าว ฯลฯ) ผมเชื่อว่างานข่าวดูแค่ชิ้นข่าวชิ้นเดียวไม่ได้ ข่าวเรื่องหนึ่งมันนำส่งผ่านชิ้นข่าวหลาย ๆ ชิ้น ค่อย ๆ พัฒนาเรื่อง ค่อย ๆ มีรายละเอียด ค่อย ๆ มีความแม่นยำมากขึ้น ผมพูดเช่นนี้เพราะผมเชื่อว่านักข่าว ไม่ว่าจะเป็นนักข่าววิชาชีพหรือนักข่าวพลเมือง ต่างต้องได้รับโอกาสในพัฒนาและนำเสนอประเด็นข่าว ผมเชื่อว่าในยุค Journalism 2.0 นี้ ข่าวเป็นกระบวนการ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ News is a process, not a finished product.

… แต่กรณีตัวอย่างของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชิ้นนี้ มันดูจะทุเรศทุรังเกินไปหน่อย คือผมนึกภาพไม่ออก ว่ามันจะพัฒนาไปลงเหวที่ไหน ยิ่งพิจารณากรอบเวลานำเสนอ โดยเปรียบเทียบกับฉบับอื่น ๆ (ที่เสนอได้แม่นยำกว่าภายใต้ข้อจำกัดเดียวกัน) และแหล่งข่าวที่สามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ (เช่น ทวิตเตอร์และหนังสือพิมพ์อื่น ๆ) แล้ว ผมคิดว่าเป็นการยุติธรรมแล้วที่เราจะคาดหวังกับเขาหรือเธอได้มากกว่านี้ (ยังไม่นับว่า ถ้านักข่าวกรุงเทพธุรกิจจะโทรไปสัมภาษณ์จีรนุชเอง ก็สามารถทำได้ – แต่เขาหรือเธอไม่ทำ หากพึ่งแหล่งข่าวเพียงด้านเดียว คือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ)

คลิกเพื่อดูภาพจับหน้าจอ (ณ 27 ก.ย. 2553 02:00)

ส่วนความเห็นต่อคดี การออกหมายจับ การจับกุม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาจจะเขียนต่อไปในอีกโพสต์ครับ
เบื้องต้นคือ:

  1. จำเป็นต้องมีการแก้ไขคำจำกัดความและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับ ท้องที่เกิดเหตุ ในกฎหมายอินเทอร์เน็ตและสื่อทั้งหมด การระบุว่าพบเห็นข้อความในเว็บไซต์ที่จังหวัดขอนแก่น ดังนั้นท้องที่เกิดเหตุคือจังหวัดขอนแก่น จึงจำเป็นต้องนำตัวไปสอบสวนที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเรื่องขัดสามัญสำนึกอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาลักษณะของสื่อ ถ้าไม่มีการแก้ไขเรื่องท้องที่เกิดเหตุนี้ ก็จะเป็นช่องให้กลั่นแกล้งได้ต่อไป (เจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนนั้นบอกกับเรา ถ้าเขาฟ้อง 75 จังหวัด คุณก็ต้องไป 75 จังหวัด)
  2. กรณีนี้ เจ้าหน้าที่มีสิทธิออกหมายจับจริง แต่หากพิจารณาบริบทแวดล้อม ย่อมเห็นได้ว่าไม่จำเป็น ทำเป็นเพียงหมายเรียกไปถึงผู้ถูกกล่าวหาก็พอแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถไปมอบตัวกับสถานีตำรวจที่สะดวกด้วยตนเองได้ ไม่ต้องเดินทางไกล – เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้คือจีรนุช ไม่ได้แสดงเจตนาหลบหนี เพราะก็มีอีกคดีหนึ่งในลักษณะเดียวกันที่กำลังต่อสู้ในชั้นศาลอยู่ อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศอยู่หลายครั้ง และก็กลับมาทุกครั้ง (หากจะอ้างว่า เป็นคดีร้ายแรง ให้ดูกรณี สนธิ ลิ้มทองกุล) – และหากเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ทราบดีถึงข้อนี้ ว่าไม่จำเป็นต้องออกหมายจับ แต่ก็ยังเลือกออกหมายจับ ด้วยเจตนาจะก่อให้เกิดความไม่สะดวก ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน ใช้อำนาจหน้าที่ให้โทษแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาที่มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเช่นผู้บริสุทธิ์
  3. เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้ให้บริการตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีฐานะเป็นตัวกลาง (intermediary) ต้องรับภาระในสิ่งที่ไม่ได้ทำ หรือต้องรับภาระในสิ่งที่เกินวิสัยจะทำได้ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคดีจะตัดสินว่าผิดหรือถูก แต่ภาระและความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับผู้ให้บริการ
  4. จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต สื่อ และโทรคมนาคม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวกลาง/เนื้อหา/การคุ้มครอง/การเยียวยา เพื่อให้:
    • ก) ตัวกลางที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานไม่ต้องรับภาระในการรับผิด;
    • ข) ตัวกลางที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับเนื้อหา ให้ใช้หลัก notice & take down คือให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการเพื่อนำเนื้อหาที่พิจารณาได้ง่ายและชัดเจนว่าผิดกฎหมายออกจากระบบ หากผู้ให้บริการนำออกภายในระยะเวลาที่สมเหตุผล ผู้ให้บริการย่อมไม่ต้องรับผิด;
    • ค) เนื้อหาที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนในทันที จำเป็นต้องรอคำสั่งศาลเพื่อสั่งให้นำออก และผู้ให้บริการย่อมไม่ต้องรับผิดในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งศาล;
    • ง) หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าระหว่างที่รอคำสั่งศาลเพื่อสั่งให้นำเนื้อหาออก เนื้อหาดังกล่าวจะสร้างความเสียหายแก่สาธารณะ สามารถขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นเนื้อหานั้นได้ชั่วคราว ในระยะเวลาจำกัด และต่ออายุได้ไม่เกิน x ครั้ง ซึ่งการปิดกั้นดังกล่าว จะไม่มีผลต่อความรับผิดของผู้ให้บริการ;
    • จ) ผู้เสียหายสามารถอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งปิดกั้นชั่วคราวดังกล่าวได้;
    • ฉ) กรณีเมื่อถึงที่สุด ศาลตัดสินว่า เนื้อหาที่ถูกปิดกั้นชั่วคราวไปแล้ว ไม่มีความผิด รัฐจำเป็นต้องต้องชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการปิดกั้นชั่วคราวนั้น ให้แก่ผู้เสียหาย

จนถึงตอนนี้ ยังไม่เห็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อันมี ท่านประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เป็นนายกสมาคม หรือ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (จีรนุชถูกจับตามพ.ร.บ.คอม ในฐานะผู้ดูแลเว็บ) อันมี พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดี DSI เป็นนายกสมาคม ออกมาให้ความเห็นอะไรกับกรณีนี้ (คิดในแง่ดีที่สุด พ.ต.อ.ญาณพล คงกำลังงงว่า จะสวมหมวกใบไหนดี ตำรวจหรือผู้ดูแลเว็บ)

ส่วน ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (เพื่อการปกป้องลิขสิทธิ์) อันมี ท่านชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เป็นประธาน ก็ได้แต่เพียงตอบสั้น ๆ เมื่อมีนักศึกษาถามถึง #freejiew ในทวิตเตอร์ ว่า เขากำลังรณรงค์ให้ปล่อยตัว ผอ.เว็บประชาไท ที่ถูกจับในคดีหมิ่นฯ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ … ซึ่งก็ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า @chavarong ใช้คำว่า เขา ซึ่งความหมายโดยนัย (ว่าตาม The Language of News Media. [Allan Bell, 1991]) ก็คือ นั่นน่ะ พวกมัน ไม่ใช่ พวกกู เป็นภาษาของการไม่นับรวม

@chavarong คุยกับ @payoonnoi

เอาล่ะ ติดตามข่าวของ จีรนุช เปรมชัยพร ได้ที่ http://freejiew.blogspot.com

สวัสดี

technorati tags: , ,


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.