[เพิ่มเติม 2010.09.27 14:21: ผมเขียนบล็อกโพสต์นี้ เพราะตระหนักว่า เนื้อหาในการฟ้องนั้นก็เรื่องหนึ่ง ส่วนภาพที่ถูกสร้างให้ปรากฏต่อสาธารณะ-ทางสื่อ-นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง การนำเสนอภาพกระบวนการการจับกุมซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมีนัยยะนี้ ส่งผลต่อภาพประทับในหัวของคน และให้โทษกับผู้ถูกกล่าวหา นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย]
[เพิ่มเติม 2010.09.27 14:54: เพื่อความสะดวกในการ(ไม่)อ่าน ขอแจ้งว่าโพสต์นี้ไม่มีข้อมูลใหม่หรือการวิเคราะห์อะไรเกี่ยวกับคดีของจีรนุชเลย. เนื้อหาแบ่งเป็น 3 ตอน: 1) วารสารศาสตร์ (อันเป็นที่มาของชื่อ นักข่าว 0.8
ที่เทียบกับ เว็บ 2.0
); 2) ข้อเสนอในเรื่องความรับผิดของตัวกลางและการดำเนินคดี; 3) ข้อสังเกตต่อสมาคมวิชาชีพสื่อ]
เมื่อเย็นวันศุกร์ (24 กันยา) ผมมีเหตุให้ต้องไปขอนแก่นเป็นครั้งแรก กลับมาก็ได้อ่านข่าวเกี่ยวกะเหตุการณ์นั้นตามสื่อต่าง ๆ ก็ตรงบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ เป็นอันเข้าใจได้ เพราะจำนวนหนึ่งรายงานในระหว่างที่เรื่องยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่จบดี
แต่วันนี้ได้อ่านข่าวฉบับของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พบว่ามันคลาดเคลื่อนจนน่าตลก ขำเสียจนไม่รู้จะพอเพียงอย่างไรไหว เนื้อความหรือก็ราวกับนิยายเพื่อความปรองดอง คือไม่รู้จะพูดอย่างไรดี นอกจากนึกภาพ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกอดคอกะนักข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ แล้วร้องว่า ร่วมกัน เราทำได้!
… น่าจะชวนไปส่งประกวด ไอเดียประเทศไทย
คาดว่าน่าจะได้รางวัลสร้างสรรค์นวัตกรรมข่าวยอดเยี่ยม (แล้วแบ่งเงินรางวัลกันไปช็อปช่วยชาติ)
กรุงเทพธุรกิจเขาทำไปได้นะ ทั้ง ๆ ที่เขาเผยแพร่ชิ้นข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 21:00 หรือหลังจากเหตุการณ์ทั้งหมดจบไปแล้วมากกว่า 18 ชั่วโมง (เพื่อการเปรียบเทียบ มติชนออนไลน์ ที่รายงานเมื่อ 24 กันยายน 2553 18:00 ยังทำได้ดีกว่ามาก)
ญาติยื่นหลักประกัน 2 แสนบาท ประกันตัวบก.ประชาไทย เปิดเว็บหมิ่นเบื้องสูง เจ้าตัวยังให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา-ขอให้การในชั้นศาล
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องชื่อ ประชาไท
ที่สะกดผิด เอาแค่ข้อเท็จจริงในโปรยข่าวชิ้นนี้ ก็ผิดไปอย่างน้อยสองที่แล้ว
1) คนที่เอาเงินสดไปให้ประกันตัว คือทีมงานของหนังสือพิมพ์ประชาไท ไม่ใช่ญาติ; 2) จีรนุช เปรมชัยพร เป็นผู้อำนวยการของหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่บรรณาธิการ; 3) ตามสำนวนฟ้อง ข้อหาคือ มีความเห็นท้ายข่าวที่หมิ่นฯ ไม่ได้ระบุว่าทั้งเว็บมีจุดประสงค์เพื่อการนั้น; …
ไหนจะ connotation ของการเลือกใช้คำว่า ยัง
… เอาเถอะ นั่นแค่เล็ก ๆ
พ.ต.ท.ถนอมสิทธิ์ วงษ์วิจารณ์ รอง ผกก.(ส.) สภ.เมืองขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเวลา 18.00 น.วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจชุดสืบสวนปราบปราม บก.ตม.2 ได้ทำการจับกุมตัว น.ส.จีรนุช
ผมอยู่ที่นั่นด้วย สุวรรณภูมิ เวลาที่เจ้าหน้าที่พบหมายจับของจีรนุชแสดงในคอมพิวเตอร์ที่ด่าน คือ 14:00-14:30 โดยประมาณ เครื่องบินเราลง 14:00 มาด้วยกัน ยื่นหนังสือเดินทางให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองพร้อม ๆ กัน โต๊ะติดกัน
ถ้าใครดูในทวิตเตอร์/FourSquare ของผม ก็จะเห็นว่า 17:14 ผมและจีรนุช ออกจากสุวรรณภูมิเพื่อไปขอนแก่น, 17:36 อยู่ถนนวงแหวนตะวันออก, 18:00 อยู่ประตูน้ำพระอินทร์ อยุธยา
ถ้าตำรวจเห็นจีรนุชที่สุวรรณภูมิตอน 18:00 ก็คงเป็นผีจีรนุชล่ะครับ – ฟังแล้วหลอน ๆ
14:30 vs 18:00
และเป็นใจให้ผู้คนสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของตนเอง โดยไม่ลบข้อความนั้นออกจากเว็บมาสเตอร์ของตนเองทั้งๆที่ทราบดีว่ามีข้อความ ดังกล่าว
ผมอ่านแล้วก็งง ๆ นึกภาพไม่ออกว่าจะลบอะไรออกจากเว็บมาสเตอร์ยังไง เข้าใจว่าคงไม่มีบ.ก.ดูแลเรื่องภาษา … แต่อันนี้ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ (เป็นเพียงอีกหนึ่งความไม่ใส่ใจ) ที่ฮาคือต่อไปนี้
และจากการจับกุมของเจ้า หน้าที่ตำรวจสืบสวนปราบปราม บก.ตม.2 เมื่อเย็นวันที่ 24 ก.ย.นั้น เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า จะมีผู้ต้องหาตามหมายจับเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้กระจายกำลังตามจุดต่างๆของสนามบินสุวรรณภูมิ จนสามารถจับกุมตัวได้ในที่สุด ขณะที่ลงจากเครื่องบินกลับจากประเทศฟินแลนด์ แล้วนำหนังสือเดินทางมาขอรับการตรวจอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ
นี่เริ่มขี้โม้ละ ผมยืนรออยู่หลังด่าน (ผมผ่านด่านมาได้เรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร) ตรงบริเวณรอรับกระเป๋าอยู่อย่างน้อย 10 นาที ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็ยังตรวจสอบหนังสือเดินทางของจีรนุชอยู่ โดยจีรนุชยืนอยู่ที่โต๊ะตรงด่าน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ค่อยให้จีรนุชไปนั่งรออีกด้านนึง ผมก็รอต่ออีก รอจนขี้เกียจยืนรอ ผมเลยขอเข้าไปด้านหน้าด่านอีกที กว่าจะตรวจสอบหมายจับอะไรได้ ผมคิดว่าอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงล่ะ … เพราะฉะนั้นที่จะมาบอกว่า เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการล่วงหน้า (ได้รับแจ้งว่า…
) … โกหกทั้งนั้นอ่ะ (เตรียมมาก็ดีสิ จะได้ไม่ต้องรอ)
และก็อย่างที่ได้เล่าไป จีรนุชเป็นคนเดินไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเอง ไอ้ที่ว่า กระจายกำลังตามจุดต่างๆของสนามบิน
เนี่ย ถ้าไม่เพราะตม.ขี้โม้ ก็คงเป็นนักข่าวดูหนังมากไป พี่เขายังเดินชิล duty free อยู่เลย … เขียนไปได้หนอ .. กระจายกำลัง
(btw พวกผมกลับมาจากบูดาเปสต์ แค่เปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิเท่านั้น กลับมาจากงานประชุมเสรีภาพอินเทอร์เน็ต Internet at Liberty 2010 … ตลกไหม)
จึงอนุญาตให้ประกันตัวออกไปเมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา โดยมีญาตินำหลักทรัพย์ 2 แสนยื่นขอประกันตัวออกไป
ผมนึกไม่ออกว่า ข้อเท็จจริงง่าย ๆ แค่เรื่องเวลานี่ กรุงเทพธุรกิจสามารถทำให้มันคลาดเคลื่อนกันขนาดนี้ได้ยังไง … ตำรวจให้จีรนุชประกันตัวได้ราว 01:00 และสอบสวนเสร็จราว 02:30 ของวันที่ 25 กันยายน ถ้านักข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะยอมเสียเวลาเช็คข่าวกับแหล่งอื่น ๆ บ้างทั้งทางเว็บ (อย่างน้อย โดยสามัญปัญญา ก็จากเว็บไซต์ประชาไทนั่นแหละ) หรือทางการสื่อสารอื่น ๆ ก็คงไม่ผิดพลาดเรื่องง่าย ๆ แค่นี้
จะว่าไป นักข่าวเนชั่นคงใช้ social media ได้ไม่ถึงประสิทธิภาพที่ @suthichai สุทธิชัย หยุ่น คาดหวัง เพราะถ้าตาม hashtag #freejiew เสียหน่อย อย่างน้อยก็น่าจะไม่พลาดข้อมูลพื้นฐานเรื่องเวลา (ส่วนจะไปหูเบาเชื่อตม.โม้หรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง) … ซึ่งจะปฏิเสธว่าไม่รู้เกี่ยวกะ #freejiew นี้เลยก็คงลำบาก เพราะในวันนั้น #freejiew ขึ้นเป็น trending topic ของเมืองไทย
ผมไม่ได้คาดหวังให้รายงานถูกต้อง 100% เพราะนั่นเป็นไปไม่ได้ งานข่าวมีเรื่องของเวลานำส่งมาจำกัด (นอกเหนือไปจากฟอร์แมตของสื่อ โครงสร้างองค์กรข่าว กระบวนงานข่าว ฯลฯ) ผมเชื่อว่างานข่าวดูแค่ชิ้นข่าวชิ้นเดียวไม่ได้ ข่าวเรื่องหนึ่งมันนำส่งผ่านชิ้นข่าวหลาย ๆ ชิ้น ค่อย ๆ พัฒนาเรื่อง ค่อย ๆ มีรายละเอียด ค่อย ๆ มีความแม่นยำมากขึ้น ผมพูดเช่นนี้เพราะผมเชื่อว่านักข่าว ไม่ว่าจะเป็นนักข่าววิชาชีพหรือนักข่าวพลเมือง ต่างต้องได้รับโอกาสในพัฒนาและนำเสนอประเด็นข่าว ผมเชื่อว่าในยุค Journalism 2.0 นี้ ข่าวเป็นกระบวนการ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ News is a process, not a finished product.
… แต่กรณีตัวอย่างของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชิ้นนี้ มันดูจะทุเรศทุรังเกินไปหน่อย คือผมนึกภาพไม่ออก ว่ามันจะพัฒนาไปลงเหวที่ไหน ยิ่งพิจารณากรอบเวลานำเสนอ โดยเปรียบเทียบกับฉบับอื่น ๆ (ที่เสนอได้แม่นยำกว่าภายใต้ข้อจำกัดเดียวกัน) และแหล่งข่าวที่สามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ (เช่น ทวิตเตอร์และหนังสือพิมพ์อื่น ๆ) แล้ว ผมคิดว่าเป็นการยุติธรรมแล้วที่เราจะคาดหวังกับเขาหรือเธอได้มากกว่านี้ (ยังไม่นับว่า ถ้านักข่าวกรุงเทพธุรกิจจะโทรไปสัมภาษณ์จีรนุชเอง ก็สามารถทำได้ – แต่เขาหรือเธอไม่ทำ หากพึ่งแหล่งข่าวเพียงด้านเดียว คือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ)
คลิกเพื่อดูภาพจับหน้าจอ (ณ 27 ก.ย. 2553 02:00)
ส่วนความเห็นต่อคดี การออกหมายจับ การจับกุม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาจจะเขียนต่อไปในอีกโพสต์ครับ
เบื้องต้นคือ:
- จำเป็นต้องมีการแก้ไขคำจำกัดความและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับ
ท้องที่เกิดเหตุ
ในกฎหมายอินเทอร์เน็ตและสื่อทั้งหมด การระบุว่าพบเห็นข้อความในเว็บไซต์ที่จังหวัดขอนแก่น ดังนั้นท้องที่เกิดเหตุคือจังหวัดขอนแก่น จึงจำเป็นต้องนำตัวไปสอบสวนที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเรื่องขัดสามัญสำนึกอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาลักษณะของสื่อ ถ้าไม่มีการแก้ไขเรื่องท้องที่เกิดเหตุนี้ ก็จะเป็นช่องให้กลั่นแกล้งได้ต่อไป (เจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนนั้นบอกกับเราถ้าเขาฟ้อง 75 จังหวัด คุณก็ต้องไป 75 จังหวัด
) - กรณีนี้ เจ้าหน้าที่มีสิทธิออกหมายจับจริง แต่หากพิจารณาบริบทแวดล้อม ย่อมเห็นได้ว่าไม่จำเป็น ทำเป็นเพียงหมายเรียกไปถึงผู้ถูกกล่าวหาก็พอแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถไปมอบตัวกับสถานีตำรวจที่สะดวกด้วยตนเองได้ ไม่ต้องเดินทางไกล – เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้คือจีรนุช ไม่ได้แสดงเจตนาหลบหนี เพราะก็มีอีกคดีหนึ่งในลักษณะเดียวกันที่กำลังต่อสู้ในชั้นศาลอยู่ อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศอยู่หลายครั้ง และก็กลับมาทุกครั้ง (หากจะอ้างว่า เป็นคดีร้ายแรง ให้ดูกรณี สนธิ ลิ้มทองกุล) – และหากเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ทราบดีถึงข้อนี้ ว่าไม่จำเป็นต้องออกหมายจับ แต่ก็ยังเลือกออกหมายจับ ด้วยเจตนาจะก่อให้เกิดความไม่สะดวก ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน ใช้อำนาจหน้าที่ให้โทษแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาที่มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเช่นผู้บริสุทธิ์
- เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้ให้บริการตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีฐานะเป็นตัวกลาง (intermediary) ต้องรับภาระในสิ่งที่ไม่ได้ทำ หรือต้องรับภาระในสิ่งที่เกินวิสัยจะทำได้ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคดีจะตัดสินว่าผิดหรือถูก แต่ภาระและความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับผู้ให้บริการ
- จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต สื่อ และโทรคมนาคม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวกลาง/เนื้อหา/การคุ้มครอง/การเยียวยา เพื่อให้:
- ก) ตัวกลางที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานไม่ต้องรับภาระในการรับผิด;
- ข) ตัวกลางที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับเนื้อหา ให้ใช้หลัก notice & take down คือให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการเพื่อนำเนื้อหาที่พิจารณาได้ง่ายและชัดเจนว่าผิดกฎหมายออกจากระบบ หากผู้ให้บริการนำออกภายในระยะเวลาที่สมเหตุผล ผู้ให้บริการย่อมไม่ต้องรับผิด;
- ค) เนื้อหาที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนในทันที จำเป็นต้องรอคำสั่งศาลเพื่อสั่งให้นำออก และผู้ให้บริการย่อมไม่ต้องรับผิดในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งศาล;
- ง) หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าระหว่างที่รอคำสั่งศาลเพื่อสั่งให้นำเนื้อหาออก เนื้อหาดังกล่าวจะสร้างความเสียหายแก่สาธารณะ สามารถขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นเนื้อหานั้นได้ชั่วคราว ในระยะเวลาจำกัด และต่ออายุได้ไม่เกิน x ครั้ง ซึ่งการปิดกั้นดังกล่าว จะไม่มีผลต่อความรับผิดของผู้ให้บริการ;
- จ) ผู้เสียหายสามารถอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งปิดกั้นชั่วคราวดังกล่าวได้;
- ฉ) กรณีเมื่อถึงที่สุด ศาลตัดสินว่า เนื้อหาที่ถูกปิดกั้นชั่วคราวไปแล้ว ไม่มีความผิด รัฐจำเป็นต้องต้องชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการปิดกั้นชั่วคราวนั้น ให้แก่ผู้เสียหาย
…
จนถึงตอนนี้ ยังไม่เห็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อันมี ท่านประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เป็นนายกสมาคม หรือ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (จีรนุชถูกจับตามพ.ร.บ.คอม ในฐานะผู้ดูแลเว็บ) อันมี พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดี DSI เป็นนายกสมาคม ออกมาให้ความเห็นอะไรกับกรณีนี้ (คิดในแง่ดีที่สุด พ.ต.อ.ญาณพล คงกำลังงงว่า จะสวมหมวกใบไหนดี ตำรวจหรือผู้ดูแลเว็บ)
ส่วน ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (เพื่อการปกป้องลิขสิทธิ์) อันมี ท่านชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เป็นประธาน ก็ได้แต่เพียงตอบสั้น ๆ เมื่อมีนักศึกษาถามถึง #freejiew ในทวิตเตอร์ ว่า เขากำลังรณรงค์ให้ปล่อยตัว ผอ.เว็บประชาไท ที่ถูกจับในคดีหมิ่นฯ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้
… ซึ่งก็ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า @chavarong ใช้คำว่า เขา
ซึ่งความหมายโดยนัย (ว่าตาม The Language of News Media. [Allan Bell, 1991]) ก็คือ นั่นน่ะ พวกมัน
ไม่ใช่ พวกกู
เป็นภาษาของการไม่นับรวม
เอาล่ะ ติดตามข่าวของ จีรนุช เปรมชัยพร ได้ที่ http://freejiew.blogspot.com
สวัสดี
technorati tags: freejiew, bangkokbiznews, news