ความผิดตามกฎหมายนั้น มีทั้งที่เป็น ความผิดอาญา (crime) และความผิดที่ไม่ใช่อาญา
หากจะพิจารณาว่า อะไรควรจะนับเป็น อาชญากรรมคอมพิวเตอร์
(computer crime) และอะไรที่จะนับเป็นเพียง ความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
เราจำเป็นจะต้องพิจารณาว่า อะไรคือ ความผิดอาญา และอะไรที่ไม่ใช่
บางส่วนจากบทความ การกำหนดความผิดอาญา ตามกฎหมายเยอรมัน – สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ที่ BioLawCom.de เพื่อการศึกษาแนวคิดในการกำหนดความผิดอาญา ในประเทศอื่น
ในการถกเถียงเกี่ยวกับข้อปรับปรุงกฎหมายอาญาเมื่อสิบปีก่อนนั้น ประเด็นที่ว่า กฎหมายอาญาควรที่จะมีไว้เพื่อคุ้มครองนิติสมบัติเท่านั้น เป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญมาก กล่าวคือ กฎหมายอาญาควรที่จะมีไว้เพื่อคุ้มครองเฉพาะ “สมบัติ” (บางประการที่กำหนดไว้เท่านั้น อย่างเช่น ชีวิต (มาตรา 211 เป็นต้นไป), ความปลอดภัยของร่างกาย (มาตรา 223 เป็นต้นไป), ชื่อเสียง (มาตรา 185 เป็นต้นไป)
การที่กฎหมายอาญามีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองนิติสมบัติ หรือสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองนั้น ทำให้ความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นจริงขึ้นมาได้ จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายอาญาเป็นระเบียบแห่งการคุ้มครองและระเบียบสันติภาพ ที่มีรากฐานมาจากระเบียบแห่งคุณค่าในทางจริยศาสตร์สังคมของรัฐธรรมนูญ
จากรากฐานความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้กฎหมายอาญามีภารกิจในการที่จะให้ความคุ้มครองแก่คุณค่าพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม, การคงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม และ ในกรณีที่มีการละเมิดต่อบทบัญญัติในกฎหมายอาญา ก็จะมีมาตรการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย
จากหลักการดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการดังนี้ กล่าวคือ
1. การกระทำที่เป็นแต่เพียงการขัดต่อศีลธรรมอันดี ไม่เป็นความผิดอาญา
ในกรณีนี้จะเกี่ยวข้องกับความผิดอาญาที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ กล่าวคือ ก่อนปี ค.ศ. 1969 ความผิดเกี่ยวกับรักร่วมเพศของผู้ใหญ่, ความผิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์, ความผิดเกี่ยวกับการเป็นคนกลางให้บุคคลที่ไม่ได้แต่งงานกันมีเพศสัมพันธ์ต่อกัน, การเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร เป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญา แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 เป็นต้นมา การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอาญาอีกต่อไป เหตุผลก็เพราะว่า การกระทำดังกล่าวที่แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม แต่หากได้กระทำโดยบุคคลที่บรรลุนิติภาวะและโดยความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่ายแล้ว อีกทั้งไม่เป็นการรบกวนบุคคลอื่นๆ ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแต่เพียงการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการกระทำที่เป็นการทำให้เสียหายแก่สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง
ประเด็นปัญหาว่า การกระทำที่เป็นแต่เพียงการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำให้เสียหายแก่สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง ควรจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลายาวนาน ตามร่างของประมวลกฎหมายอาญาในปี ค.ศ. 1962 ยังถือว่าการรักร่วมเพศเป็นความผิดอาญา ในทางตรงกันข้าม ในมาตรา 2 ของร่างประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นทางเลือกในปี ค.ศ. 1966 ที่ร่างโดยศาสตราจารย์ทางกฎหมายอาญา จำนวน 14 ท่าน บัญญัติไว้ชัดเจนว่า โทษทางอาญาและวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อที่จะคุ้มครองนิติสมบัติ และเป็นการวางรากฐานแนวความคิดทางเสรีนิยม โดยก่อให้เกิดผลที่ทำให้ การกระทำที่เป็นแต่เพียงขัดต่อศีลธรรม แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของบุคคลอื่นแล้ว ไม่เป็นการกระทำที่จะเป็นความผิดอาญาอีกต่อไป
ซึ่งในการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาในครั้งต่อ ๆ มา ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นในปี ค.ศ. 1969 (25.6.1969) และ ปี ค.ศ. 1973 (27.11.1973) ได้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาโดยวางอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดที่ว่า กฎหมายอาญามีไว้เพื่อที่จะคุ้มครองนิติสมบัติ
2. การกระทำที่เป็นแต่การละเมิดต่อระเบียบ ไม่เป็นความผิดอาญา
ในกรณีนี้มีเหตุผลมาจากแนวคิดที่ว่า กฎหมายอาญามีไว้เพื่อที่จะคุ้มครองนิติสมบัติที่มีอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ เป็นการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนที่มีอยู่ก่อนที่จะมีรัฐ ส่วนการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของรัฐที่ไม่ได้มีไว้เพื่อที่จะคุ้มครองนิติสมบัติ หากแต่เป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อให้ภารกิจที่เกี่ยวกับระเบียบสาธารณะ และภารกิจในการที่จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเป็นไปได้โดยเรียบร้อยนั้น การละเมิดต่อกฎเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นแต่เพียงการละเมิดต่อระเบียบที่ไม่ควรที่จะนำมาตรการการลงโทษทางอาญามาใช้บังคับ
จากแนวความคิดดังกล่าว จึงทำให้การกระทำบางอย่าง เช่น การทำร้ายร่างกายเป็นความผิดอาญา ส่วนการกระทำบางอย่าง เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด การไม่แจ้งย้ายเมื่อมีการย้ายที่อยู่ เป็นต้น ไม่เป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญา เพราะเนื้อหาของข้อห้ามไม่ให้กระทำ หรือ ข้อบัญญัติให้กระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรัฐ กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมก่อนที่จะมีรัฐ และด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่นิติสมบัติ
technorati tags: crime, computer crime, German