lines the dots


(เหตุการณ์สมมติ)

เงียบดีจริง

ห้องที่ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า เรากำลังอยู่ที่ไหน

ถ้าไม่นับสติ๊กเกอร์ประหยัดไฟเบอร์ห้าที่ตู้เย็นข้างหน้า
และรายละเอียดปลีกย่อย อย่างชนิดของเต้าเสียบปลั๊กไฟ

จากลักษณะเครื่องเรือน และกลิ่นอายบางอย่างแล้ว
เราพอจะพูดได้ว่า ห้องนี้ อยู่ที่ไหนก็ได้ในเอเชีย
โชคร้ายนิดหน่อย ถ้าจะนับไชน่าทาวน์ด้วย ห้องนี้ อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก

รอบห้องสี่เหลี่ยม มีหน้าต่างเพียงบานเดียว มองออกไปมีแต่ความมืด
เนื่องจากความมืดสนิทนั้นเป็นสากล ดังนั้นมันจึงไม่มีประโยชน์ในการบ่งชี้

ผมนั่งอยู่บนเตียง
เครื่องคอมเครื่องนี้ หอบหิ้วมาจากกรุงเทพ วางอยู่บนโต๊ะข้างเตียง

โต๊ะข้างเตียง ในความหมายว่ามันคือ โต๊ะ-ที่อยู่-ข้างเตียง
ว่ากันโดยลักษณะแล้ว มันไม่ใช่โต๊ะข้างเตียงอย่างที่คนทั่วไป (รวมทั้งตัวผมเอง) จะจินตนาการถึง
แต่โต๊ะข้างเตียง (เอ๊ะ หรือ โต๊ะหัวเตียง ?) ที่มีอยู่ในห้องนี้มันเตี้ยเกินไป วางคอมแล้วใช้ไม่ถนัด
ผมเลยลากเอา โต๊ะเครื่องแป้ง (เดาว่าอย่างนั้น มันอยู่หน้ากระจก) มาวางข้างเตียงแทน

สุดท้ายแล้ว คำเรียกขาน ไม่เคยจำกัดประโยชน์ใช้สอยของสิ่งใดได้ หากผู้ใช้ไม่ไปจำกัดมันเสียเอง

 

เป็นการคุยโทรศัพท์ต่อเนื่องครั้งมโหฬารของผม ในรอบ ไม่รู้เหมือนกัน นานทีเดียวล่ะ
ก่อนที่จะทำงานนิดหน่อย เข้าห้องน้ำ แล้วมาพิมพ์ข้อความถึงตรงนี้

ผองเพื่อนทั้งหลาย ต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า – ห้าราย ไม่รวมน้องชาย ที่ไม่รับสาย – เสียงเพลงคงดัง

มีเรื่องไม่สบายใจ ซึ่งสาเหตุมาจากตัวผมเองทั้งสิ้น เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ นั่นแหละ จะมีอะไร

สุดท้ายที่ที่เลือกจะเดินทางมา ก็คือที่นี่

สถานที่นั้น ถึงตั้งแต่เมื่อบ่ายแล้ว เร็วกว่านั่งรถกลับบ้านเสียอีก
ส่วนคนนั้น คงยังไม่ถึงแน่

ในหลายครั้ง ผมมักพูดว่า ผมเดินทางไปสู่ผู้คน ไม่ใช่สถานที่

สำหรับจุดหมายนี้ ทางน่าจะยังอีกไกล หรืออาจจะไม่มีวันถึงเลยก็ได้

 

อยู่ดี ๆ ผมก็มาเชียงใหม่
คิดได้เมื่อตอนเช้า

อยากมาจัด ๆ รอบหนึ่ง เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานี่เอง
แต่คิดอยู่หลายรอบ คงไม่เหมาะ ไม่ดีกว่า
จนกลางดึกเมื่อคืน ก็เริ่มคิดอีก
จนเมื่อเช้า ตื่นขึ้นมา เฮ้ย ไปว่ะ

ตอนบ่ายก็อยู่ที่นี่เสียแล้ว

 

ทุกการเดินทางไปหา มีการเดินทางออกจาก ครั้งนี้ก็เหมือนกัน

ในกราฟ มี จุด และ เส้น เชื่อมกัน เป็นเครือข่าย
การเดินทางในกราฟ ก็คือการเดินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ผ่านทางเส้นที่เชื่อมจุดสองจุดนั้นอยู่
ในไฟไนต์เสตทแมชชีน ลักษณะเช่นนี้ คือ ทรานสิชั่น – การเปลี่ยนผ่าน
การเปลี่ยนผ่าน ไม่เพียงจะเป็นการเดินทางไปสู่จุดหนึ่ง และออกห่างจากจุดหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกการเปลี่ยนผ่านในไฟไนต์เสตทแมชชีน ยังหมายถึงการเลือก เลือกว่าจะเดินผ่านทางเส้นไหน
เส้นที่เลือกนี้อาจจะนำไปสู่จุดคนละจุดกัน หรือนำไปสู่จุดจุดเดียวกันก็ได้

ในบางครั้ง เมื่อเจอช่วงชีวิตที่ไร้ทางเลือก นั่นก็คือเราเดินทางมาถึงจุดที่มีเส้นเชื่อมออกไปเพียงเส้นเดียว
ส่วนจุดที่ไม่เส้นเชื่อมออกไปเลยนั้น ใช่แล้ว มันคือจุดจบนั่นเอง

กราฟชีวิตของคนเรา น่าจะเป็นกราฟอวัฏจักรระบุทิศทาง เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้

หากเรามองเห็นกราฟชีวิตของตัวเองทั้งหมดล่วงหน้า
การเปลี่ยนผ่านแต่ละครั้งคงจะง่ายดาย คำนวณมัน ชั่งน้ำหนักมัน ไปตามทางที่เราเห็นว่าดีที่สุด

(จะเรียกว่าโชคชะตาก็ได้ การเลือกทางเดินนี้ ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของเราเองทั้งหมด
เช่น หญิงสาวคู่ขนานใน Sliding Doors เดินทางสองทางที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุว่ามีเด็กคนหนึ่งวิ่งมาชนเป็นจุดผลิกผัน อย่างไรก็ดี ทางทั้งสองที่แสนจะต่างกันนั้น กลับมาบรรจบที่จุดที่ใกล้เคียงกันอย่างน่าประหลาด-น่าเศร้า)

จุดที่สำคัญในกราฟชีวิตนี้ อาจจะเป็นจุดที่แบ่งแยกกราฟออกเป็นกราฟย่อย ๆ ที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด
นั่นคือ ณ จุดสำคัญนี้ เมื่อเลือกเดินไปตามเส้นใดก็ตาม จุดและเส้นหลังจากนั้น จะไม่เหมือนกับจุดและเส้นที่อยู่หลังเส้นอื่น ๆ ที่เหลืออีกเลย – ไม่มีทางที่จะไปบรรจบกันอีก ณ จุดอนาคตใด ๆ

ทุกชั่วขณะ เรามองเห็นก็แต่จุดปัจจุบันและเส้นที่เชื่อมออกไปจากจุดปัจจุบันนี้เท่านั้น
จุดและเส้นต่าง ๆ ในอดีต อาจเป็นบทเรียนให้เราได้
แต่ท้ายที่สุด ไม่มีอะไรประกันได้ว่า จุดและเส้นในอนาคต จะเป็นไปในลักษณะที่คาดหวัง มีความไม่แน่นอนเสมอ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อถึงตา ก็ต้องเดิน

ด้วยรู้จากการสังเกตว่า กราฟชีวิตของเราทุกคนนั้น ต่างทับซ้อน หรือ ใช้จุดและเส้นร่วมกัน อยู่ในบางส่วน

หวังว่าเส้นข้างหน้านี้ จะนำไปสู่จุดที่คนคนนั้นกำลังเดินทางเข้าสู่เช่นกัน

ทางใครทางมัน ไม่ต้องเดินเส้นเดียวกัน ขอเพียงได้ไปสู่จุดเดียวกัน ให้มากครั้งที่สุด นั่นก็วิเศษสุดแล้ว

technorati tags:
,
,

,

4 responses to “lines the dots”

  1. ตอนเรียนวิชา Man and Modern World ตอนป.ตรี อาจารย์ท่านพูดว่าเด็กมอชอใช้ชีวิตอยู่กับการเคลื่อนที่ระหว่างเกาะสามสี่เกาะ เช่น เกาะอมช. เกาะคณะ เกาะหน้ามอ เกาะฝายหิน แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวระหว่างการเดินทางระหว่างเกาะแต่ละเกาะเลย บางที edge ก็น่าสนใจมากกว่า vertex นะ ว่ามะ 🙂

  2. เป็น reflection ที่เต็มไปด้วยข้อสังเกต ความคิด และความรู้สึกเนียนมาก!

  3. ดูซิ จะเขียนเรื่องความรัก ยังมีทฤษฎีมาประกอบแล้วมันจะ "express your love" สำเร็จไหมล่าาาาาาา

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.