เจ้าหน้าที่รัฐกับ gated community

Old School Square, in the East End. A gated community.

เรื่องหลักๆ ที่ผมไม่ค่อยชอบไอเดียที่ทำงานหรือที่พักข้าราชการที่เป็นศูนย์ขนาดใหญ่ลักษณะ compound แยกไปต่างหากจากส่วนอื่นของเมือง (แบบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะหรือแบบบ้านพักตรงตีนดอยสุเทพ) มันเป็นเรื่องสถาปัตยกรรมการจัดแบ่งพื้นที่เลยนะ คือสุดท้าย มันเป็นไปได้ใช่ไหม ว่าชีวิตคนเหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกแวดวงทำงานน้อยลงอีกมาก

ไปทำงานในศูนย์ราชการก็เจอแต่พวกเดียวกัน (กับคนทำงานบริการที่โดยความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีฐานะต่ำกว่า) กลับบ้านก็เจอแต่พวกเดียวกัน ครอบครัวก็มีแต่เพื่อนบ้านที่มาจากแวดวงเดียวกัน แล้วจะไม่ค่อยมีคนขัดคุณเท่าไรหรอก ซึ่งอันตรายนะ อยู่แบบนี้ไปนานๆ โลกทัศน์ของคนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

เรากำลังพูดถึงคนที่โดยบทบาทหน้าที่จะต้องไปตัดสินข้อขัดแย้งและวางบรรทัดฐานบางอย่างให้กับสังคมนะครับ ภาพสังคมในจินตนาการของพวกเขา กับภาพสังคมในจินตนาการของคนที่เหลือในประเทศ มันจะออกมาเหมือนกันไหม ถ้าใช้ชีวิตกันแบบพื้นที่แทบจะไม่ทับกันเลย หรือทับกันเฉพาะในบทบาท “ผู้รับบริการ-ผู้ให้บริการ” ซึ่งมีอำนาจไม่เท่ากัน

สิ่งนี้เป็นประเด็นเดียวกันกับที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สถาบันตุลาการไทยไม่ยึดโยงกับประชาชน

คือยังไม่ต้องไปพูดถึงกระบวนการเข้าสู่อำนาจเลย (อย่างที่บางประเทศผู้พิพากษาศาลฎีกาถูกเสนอชื่อผ่านกระบวนการทางรัฐสภาหรือทางผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง-และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้อย่างเปิดเผย) เอาแค่คำถามว่า ตกลงเราใช้ชีวิตอยู่ใน “สังคม” เดียวกันจริงๆ หรือไม่ ยังเป็นสิ่งท้าทายเลย

เรื่องนี้สำคัญ เพราะ *ถ้า* ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้พิพากษาไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกับเรา ก็แปลว่าคำพิพากษาและการตีความกฎหมายใดๆ ที่จะส่งผลผูกพันกับเราทุกคน กลับไม่มีโอกาสผูกพันกับตัวผู้พิพากษาเอง พูดอีกแบบคือ มีแนวโน้มจะเป็นการตัดสินแบบไม่จำเป็นต้องมี accountability หรือความรับผิดรับชอบใดๆ

เป็นผู้พิพากษาที่ลอยมาจากสวรรค์ ตัดสินชี้ชะตามนุษย์เสร็จก็บินกลับไปนอนอยู่บนเมฆสวยๆ ไม่ต้องทุกข์ร้อนจากการกระทำของตัว

ต่อให้ไปสร้างหมู่บ้านในเมือง ไม่ยุ่งกับป่า ผมว่าถ้ายังเป็นรูปแบบนี้ก็มีปัญหาข้างต้นอยู่ดี

เราจัดพื้นที่ให้ที่ทำงานและที่พักของเจ้าหน้าที่รัฐไม่แยกขาดจากพื้นที่ชีวิตของคนทั่วไปขนาดนี้ได้ไหม เจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนทั่วไปจะได้เป็นเพื่อนบ้านกันได้ เห็นชีวิตของกันและกันมากขึ้น

ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด และไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะที่ #หมู่บ้านป่าแหว่ง ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกับข้าราชการตุลาการ แต่เป็นปัญหากับทุกหน่วยงาน

ถ้าเรามองว่า polarization การแบ่งขั้วแบ่งข้างจนไม่สนใจคนอื่น ทำให้คนมีพื้นที่ตรงกลางน้อยลงที่จะเข้าใจกัน (*ผมคิดว่าสุดท้ายเราเลือกข้างได้นะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลาง เพียงแต่ควรเข้าใจข้างอื่นๆ ด้วย) ไอ้ gated community อยู่กันเฉพาะพวกตัวเองแบบนี้ก็เป็นปัญหาแบบเดียวกัน (ผมไม่ค่อยชอบธรรมศาสตร์รังสิตในประเด็นนี้ด้วย)

ถ้าคิดว่าวาระสำคัญของชาติคือการ “ปรองดอง” ก็ควรจะออกมาดองกับคนอื่นบ้างน่ะครับ

….

ค้นคำว่า “gated community” เจอบทความนี้ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จาก มิ.ย. 2560 – “ฐานทางสังคมของเผด็จการ”

(เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 29 เม.ย. 2018)

ภาพประกอบ “Gated” โดย Gordon Joy สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.