คุยกับเพื่อนเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์ส ก็นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ดูเหมือนเราจะใช้โอเพนซอร์สน้อยลงโดยเปรียบเทียบ คือตอนนี้ใช้สมาร์ตโฟนเยอะขึ้น แล้วมันไม่ค่อยมีโอเพนซอร์สเท่าไหร่
นึกๆ อืม มันก็คงเป็นไปแบบนี้แหละ ตอนนี้นึกไม่ออกว่าจะทำยังไง ถึงจะกลับมารู้สึกว่าเราเป็นผู้ควบคุมเครื่องและข้อมูลของเราเองได้มากขึ้นเหมือนเมื่อก่อน คือเรื่องมันเป็นงี้ ….
ในยุคคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
Hardware: เราเลือกฮาร์ดแวร์ได้ตามใจชอบ เสียก็ซ่อมหรือเปลี่ยนเป็นส่วนๆ ได้ พอจะทำได้ด้วยตัวเอง
Software: ซอฟต์แวร์ก็มีที่เป็นซอฟต์แวร์เสรี/โอเพ่นซอร์สให้เลือก จะใช้ OpenOffice, Linux อะไรก็ว่าไป
ในยุคโน๊ตบุ๊ก
Hardware: ตัวฮาร์ดแวร์นี่เริ่มยากละ เลือกเป็นชิ้นๆ ไม่ค่อยได้ มันมาเป็นเซ็ต ช่วงหลังๆ เสียก็ต้องเปลี่ยนยกบอร์ด ยังพออัปเกรดแรมและฮาร์ดดิสก์ได้ แต่ล่าสุด บางเครื่องเปิดฝาออกมาดูเองยังทำไม่ค่อยจะได้ อัปเกรดเองยาก หรือไม่รองรับการอัปเกรดเเลย กระจกจอภาพกับแผงวงจรจอติดกาวกันแน่น จะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนทั้งฝาไปเลย
Software: ซอฟต์แวร์ไม่เปลี่ยนอะไรนัก เลือกได้เหมือนๆ เดิม ไม่ต่างจากสมัยเดสก์ท็อป
ในยุคมือถือ-คลาวด์
Hardware: ฮาร์ดแวร์นี่เสียก็เปลี่ยนยกแผงหรือแทบโยนทิ้งเพราะซ่อมไม่คุ้ม
Software: ซอฟต์แวร์ทางเลือกพวกโอเพนซอร์สก็หาลำบากหน่อย ส่วนหนึ่งก็เพราะยังไม่ค่อยมี โครงการเดิมๆ ก็ต้องใช้เวลาในการย้ายแพลตฟอร์ม (จนป่านนี้ OpenOffice/LibreOffice บนมือถือยังไม่เสร็จเลย) อีกส่วนก็เพราะลักษณะการใช้งานจำนวนนึงมันไปผูกอยู่กับคลาวด์มากขึ้น (เกี่ยวกับพื้นที่จัดเก็บที่จำกัดของอุปกรณ์มือถือด้วย) ทำให้แม้จะมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สฝั่งเซิร์ฟเวอร์ออกมาให้ใช้ (อย่าง ownCloud) แต่พอต้องติดตั้งที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ด้วย ผู้ใช้ทั่วไปก็ทำเองได้ยากขึ้น
ผู้(รับ)ใช้ ไม่ใช่ เจ้า-ของ
ดูเหมือนสภาพแวดล้อมทางเทคนิคในการประมวลผลข้อมูล สำหรับคนทั่วๆ ไป มันจะกลายเป็น “ผู้ใช้อย่างเดียว” มากขึ้นเรื่อยๆ คือทำอะไรกับเครื่องของตัวเองไม่ค่อยได้มากเท่าไหร่ ไม่เหมือนเมื่อก่อน
การควบคุมเหล่านี้มีหลายระดับ/ลักษณะ
ควบคุมด้วยความรู้
ระบบคอมมันซับซ้อนขึ้น คนทั่วไปมีความรู้ไม่มากพอที่จะซ่อมมันละ (นึกถึงรถยนต์สมัยก่อน กับรถยนต์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์สมัยนี้ สมัยนี้จะซ่อมเองก็วุ่นหน่อย)
ถ้าอยากมีความรู้ในการซ่อม ก็อาจจะต้องไปเทรนกับผู้ผลิต (และด้วยวงรอบการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เร็วขึ้น ก็ต้องไปเทรนเรื่อยๆ จะเทรนครั้งเดียวแล้วไปเทรนคนอื่นๆ ต่อเองก็ไม่ค่อยได้ มันไม่ทันน่ะ)
ควบคุมทางกายภาพ/การเข้าถึง
ต่อให้มีความรู้ การจะเข้าถึงจุดซ่อม มันก็ลำบาก ต้องใช้เครื่องมืองัดแงะพิเศษ ถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็ทำไม่ได้ (การออกแบบมีแนวโน้มรวมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสนิทขึ้น แนบแน่นขึ้น)
อุปกรณ์ซ่อมพวกนี้ ผู้ผลิตก็อาจจะทำขายไง หรือขายไลเซนส์ให้คนอื่นไปทำขาย (ถ้าไม่ใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไลเซนส์ถูกต้องในการซ่อม ก็ประกันขาดนะ)
ควบคุมด้วยกฎหมาย
ต่อให้มีความรู้ มีเครื่องมือ แต่ก็อาจจะซ่อมไม่ได้ถนัดอยู่ดี เพราะการเข้าถึงหรือแก้ไขอะไรบางอย่างในระบบ อาจหมายถึง “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” ข้อหาเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีระบบป้องกันทางเทคโนโลยีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ผู้ผลิตอาจจะออกใบอนุญาตในการซ่อม เฉพาะคนที่มีใบอนุญาตถึงจะซ่อมได้ ก็จัดสอบกันไป
ชาวนาจะซ่อมรถแทรกเตอร์ของตัวเองเองก็ไม่ได้ เพราะบริษัทผู้ผลิตบอกว่ามันจะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์นะ
เราอยู่ในสภาพแวดล้อมทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องขออนุญาตกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งๆ ที่มันเป็นเครื่องเป็นของที่เราซื้อมา แต่เราไม่ได้เป็น “เจ้า” ของมันอีกต่อไปแล้ว ผู้ผลิตต่างหากที่เป็น “เจ้า” จริงๆ ที่ควบคุมของที่เราซื้อมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ระบอบเจ้าที่ดินและความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต (เรียบเรียงจาก When It Comes to Security, We’re Back to Feudalism)
- Permission culture
- Permissionless Innovation — Openness, not Anarchy
- The Fight for the “Right to Repair”
- EFF – Right to Repair
- We Can’t Let John Deere Destroy the Very Idea of Ownership
- Waste not want not: Sweden to give tax breaks for repairs
ภาพประกอบโดย Karen Blakeman
One response to “เราเป็น เจ้า-ของ อะไรบ้างในยุคดิจิทัล?”
อะไรคือการอัพเกรดซอร์ฟแวร์ แล้วทำให้ฮาร์ทแวร์ทำงานช้าลง
นึกถึง iOS และ iPhone/iPod ที่ยิ่งอัพ OS สูงเท่าไร ประสิทธิภาพก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น ถึงแม้เจ้าของ OS จะอ้างว่าอัพแล้วมีฟีเจอใหม่ๆอย่างนั้นอย่างนี้เพียบ มีการปรับปรุง security บลาๆ แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นผลทางจิตวิทยา (บีบคั้นให้ซื้อเครื่องใหม่) ทำให้ผู้ใช้งานมือถือ ต้อง switch ไปใช้รุ่นที่สูงกว่า แพงกว่า ใหม่กว่า เพื่อที่จะได้ใช้ OS ได้เต็มศักยภาพ หรือ ไม่ก็ต้องยอมใช้แบบอืดๆ ช้าๆ หลังจากเผลออัพเกรด OS ไป
นั่นคงเป็นหน้าที่เดียวที่ Software ทำได้ดี ในขณะที่ปัจจุบัน OS ทั้งโลก กำลังปล่อยให้ใช้ฟรี และ คนก็ไม่ยินยอมจะซื้อซอร์ฟแวร์เสียเงินมากเท่าที่ควรจะเป็น