คุยกับเพื่อนเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์ส ก็นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ดูเหมือนเราจะใช้โอเพนซอร์สน้อยลงโดยเปรียบเทียบ คือตอนนี้ใช้สมาร์ตโฟนเยอะขึ้น แล้วมันไม่ค่อยมีโอเพนซอร์สเท่าไหร่
นึกๆ อืม มันก็คงเป็นไปแบบนี้แหละ ตอนนี้นึกไม่ออกว่าจะทำยังไง ถึงจะกลับมารู้สึกว่าเราเป็นผู้ควบคุมเครื่องและข้อมูลของเราเองได้มากขึ้นเหมือนเมื่อก่อน คือเรื่องมันเป็นงี้ ….
ในยุคคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
Hardware: เราเลือกฮาร์ดแวร์ได้ตามใจชอบ เสียก็ซ่อมหรือเปลี่ยนเป็นส่วนๆ ได้ พอจะทำได้ด้วยตัวเอง
Software: ซอฟต์แวร์ก็มีที่เป็นซอฟต์แวร์เสรี/โอเพ่นซอร์สให้เลือก จะใช้ OpenOffice, Linux อะไรก็ว่าไป
ในยุคโน๊ตบุ๊ก
Hardware: ตัวฮาร์ดแวร์นี่เริ่มยากละ เลือกเป็นชิ้นๆ ไม่ค่อยได้ มันมาเป็นเซ็ต ช่วงหลังๆ เสียก็ต้องเปลี่ยนยกบอร์ด ยังพออัปเกรดแรมและฮาร์ดดิสก์ได้ แต่ล่าสุด บางเครื่องเปิดฝาออกมาดูเองยังทำไม่ค่อยจะได้ อัปเกรดเองยาก หรือไม่รองรับการอัปเกรดเเลย กระจกจอภาพกับแผงวงจรจอติดกาวกันแน่น จะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนทั้งฝาไปเลย
Software: ซอฟต์แวร์ไม่เปลี่ยนอะไรนัก เลือกได้เหมือนๆ เดิม ไม่ต่างจากสมัยเดสก์ท็อป
ในยุคมือถือ-คลาวด์
Hardware: ฮาร์ดแวร์นี่เสียก็เปลี่ยนยกแผงหรือแทบโยนทิ้งเพราะซ่อมไม่คุ้ม
Software: ซอฟต์แวร์ทางเลือกพวกโอเพนซอร์สก็หาลำบากหน่อย ส่วนหนึ่งก็เพราะยังไม่ค่อยมี โครงการเดิมๆ ก็ต้องใช้เวลาในการย้ายแพลตฟอร์ม (จนป่านนี้ OpenOffice/LibreOffice บนมือถือยังไม่เสร็จเลย) อีกส่วนก็เพราะลักษณะการใช้งานจำนวนนึงมันไปผูกอยู่กับคลาวด์มากขึ้น (เกี่ยวกับพื้นที่จัดเก็บที่จำกัดของอุปกรณ์มือถือด้วย) ทำให้แม้จะมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สฝั่งเซิร์ฟเวอร์ออกมาให้ใช้ (อย่าง ownCloud) แต่พอต้องติดตั้งที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ด้วย ผู้ใช้ทั่วไปก็ทำเองได้ยากขึ้น
ผู้(รับ)ใช้ ไม่ใช่ เจ้า-ของ
ดูเหมือนสภาพแวดล้อมทางเทคนิคในการประมวลผลข้อมูล สำหรับคนทั่วๆ ไป มันจะกลายเป็น “ผู้ใช้อย่างเดียว” มากขึ้นเรื่อยๆ คือทำอะไรกับเครื่องของตัวเองไม่ค่อยได้มากเท่าไหร่ ไม่เหมือนเมื่อก่อน
การควบคุมเหล่านี้มีหลายระดับ/ลักษณะ
ควบคุมด้วยความรู้
ระบบคอมมันซับซ้อนขึ้น คนทั่วไปมีความรู้ไม่มากพอที่จะซ่อมมันละ (นึกถึงรถยนต์สมัยก่อน กับรถยนต์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์สมัยนี้ สมัยนี้จะซ่อมเองก็วุ่นหน่อย)
ถ้าอยากมีความรู้ในการซ่อม ก็อาจจะต้องไปเทรนกับผู้ผลิต (และด้วยวงรอบการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เร็วขึ้น ก็ต้องไปเทรนเรื่อยๆ จะเทรนครั้งเดียวแล้วไปเทรนคนอื่นๆ ต่อเองก็ไม่ค่อยได้ มันไม่ทันน่ะ)
ควบคุมทางกายภาพ/การเข้าถึง
ต่อให้มีความรู้ การจะเข้าถึงจุดซ่อม มันก็ลำบาก ต้องใช้เครื่องมืองัดแงะพิเศษ ถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็ทำไม่ได้ (การออกแบบมีแนวโน้มรวมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสนิทขึ้น แนบแน่นขึ้น)
อุปกรณ์ซ่อมพวกนี้ ผู้ผลิตก็อาจจะทำขายไง หรือขายไลเซนส์ให้คนอื่นไปทำขาย (ถ้าไม่ใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไลเซนส์ถูกต้องในการซ่อม ก็ประกันขาดนะ)
ควบคุมด้วยกฎหมาย
ต่อให้มีความรู้ มีเครื่องมือ แต่ก็อาจจะซ่อมไม่ได้ถนัดอยู่ดี เพราะการเข้าถึงหรือแก้ไขอะไรบางอย่างในระบบ อาจหมายถึง “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” ข้อหาเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีระบบป้องกันทางเทคโนโลยีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ผู้ผลิตอาจจะออกใบอนุญาตในการซ่อม เฉพาะคนที่มีใบอนุญาตถึงจะซ่อมได้ ก็จัดสอบกันไป
ชาวนาจะซ่อมรถแทรกเตอร์ของตัวเองเองก็ไม่ได้ เพราะบริษัทผู้ผลิตบอกว่ามันจะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์นะ
เราอยู่ในสภาพแวดล้อมทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องขออนุญาตกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งๆ ที่มันเป็นเครื่องเป็นของที่เราซื้อมา แต่เราไม่ได้เป็น “เจ้า” ของมันอีกต่อไปแล้ว ผู้ผลิตต่างหากที่เป็น “เจ้า” จริงๆ ที่ควบคุมของที่เราซื้อมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ระบอบเจ้าที่ดินและความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต (เรียบเรียงจาก When It Comes to Security, We’re Back to Feudalism)
- Permission culture
- Permissionless Innovation — Openness, not Anarchy
- The Fight for the “Right to Repair”
- EFF – Right to Repair
- We Can’t Let John Deere Destroy the Very Idea of Ownership
- Waste not want not: Sweden to give tax breaks for repairs
ภาพประกอบโดย Karen Blakeman