ศุกร์ 26 ก.ค. ไปฟังเสนองานวิจัยเรื่อง “เฮตสปีช” (hate speech) หรือ “คำชัง” ของศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ จุฬา (พร้อมกินฟรีอาหารกลางวัน)
ช่วงวิทยุโทรทัศน์ มีคนมาวิจารณ์สองคน คนแรก อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คนสอง สมชัย สุวรรณบรรณ
คนแรกตอนท้ายๆ มีพูดถึงอารมณ์ขัน ถ้าพื้นที่คำชังมันกว้างขวาง มันก็จะไปกินพื้นที่ฟรีสปีชจนเหลือนิดเดียว พูดอะไรก็ไม่ได้ละ อารมณ์ขันก็จะหายไปด้วย
คนสองพูดถึงสื่อเลือกข้าง การดูถูกเหยียดหยาม ความไม่เป็นมืออาชีพของสื่อ ฯลฯ
ก็เลยนึกถึงจุดที่มันตัดกัน คือแคมเปญ Reform Section 5 ในสหราชอาณาจักร
แคมเปญ Reform Section 5 หรือ “Feel Free to Insult Me” (เชิญดูถูกฉันตามสบายเลย) นี้เริ่มเมื่อปี 2012 หรือปีที่แล้วนี่เอง
จุดประสงค์ของแคมเปญนี้ก็ตามชื่อ คือให้ปฏิรูปมาตรา 5 ใน Public Order Act (พ.ร.บ.ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1986 — ซึ่งเป็นช่วงที่ความนิยมในมากาเร็ต แธตเชอร์ และพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอกำลังพุ่งสูง
มาตรา 5 เดิม เขียนไว้ว่า
A person is guilty of an offence if he–
(a) uses threatening, abusive or insulting words or behaviour, or disorderly behaviour, or
(b) displays any writing, sign or other visible representation which is threatening, abusive or insulting,within the hearing or sight of a person likely to be caused harassment, alarm or distress thereby.
ข้อเสนอในการปฏิรูปก็คือ ให้เอาคำว่า “insulting” (ดูถูกเหยียดหยาม) ออกจากมาตรานี้ซะ เพราะถือว่านี่เป็นเสรีภาพในการแสดงออก และกฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อจับคนที่ไม่ควรจะถูกจับ เช่นเด็กนักเรียนถือป้ายบอกว่า ลัทธิซายโทโลจี้เป็นลัทธิหลอกหลวง ก็ถูกฟ้องด้วยกฎหมายนี้ ทั้งๆ นี้มันควรจะเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ในที่สาธารณะ
ในเว็บไซต์รณรงค์ยังบอกด้วยว่า “นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับขอบเขตของกฎหมายอาญาอีกด้วย เราแน่ใจจริงๆ หรือเปล่า ที่จะมอบหมายให้รัฐมาคุ้มครองให้เราพ้นจากการถูกดูถูก?” (คือมันก็มีกฎหมายแพ่งให้ไปฟ้องเอาได้ ถ้ารู้สึกทนไม่ได้จริงๆ)
ในสุนทรพจน์สนับสนุนแคมเปญดังกล่าว โรแวน แอตคินสัน นักแสดงนำละครตลก “มิสเตอร์บีน” กล่าวว่า ปัญหาของกฎหมายนี้คือ การตีความคำว่า “ดูหมิ่น” ที่กว้างเกินไป
“คำวิพากษ์วิจารณ์ การล้อเลียน และการเสียดสี ที่เป็นเพียงการพูดจากมุมมองที่แตกต่างไปจากสิ่งดั้งเดิม กลับถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่น”
“การยกเลิกมาตรานี้ จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ผมหวังว่ามันจะเป็นก้าวที่สำคัญของโครงการระยะยาวในการยุติและเพิกถอนวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์”
ในที่สุด แคมเปญนี้ก็ประสบความสำเร็จ การแก้ไขถูกรวมเข้าไปในมาตรา 57 ของ Crime and Courts Act 2013
มีความเปลี่ยนแปลงในสังคมบริเตน และมันสะท้อนลงไปยังกฎหมาย
ปรเมศวร์ มินศิริ และนักวิจัยอีกคนที่ทำเรื่องหนังสือพิมพ์ พูดบนเวทีว่า ของบางอย่างเมื่อก่อนพูดไม่ได้ เดี๋ยวนี้พูดได้แล้ว เมื่อก่อน “เจ๊ก” มีความหมายเหยียด เดี๋ยวนี้ไม่แล้วหรือเปล่า?
จากกรณี #HormonesTheSeries #กสทช. และ #มาตรา37 ผมโพสต์ไปเมื่อวันก่อนว่า
“กสทช.กำลังเอาความคิดของ 20 ปีที่แล้ว มาออกกฎที่จะใช้ไปอีก 20 ปีจากนี้ – เราจะมีกฎหมายควบคุมสื่อที่รับประกันความล้าหลังล่วงหน้า 40 ปี”
คนในวงวิชาชีพและวิชาการสื่อก็เช่นกัน ที่เคยทำงานเคยเรียนกันมาแล้วเห็นว่าดีว่าเหมาะ ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980 หรือ 1990 คำถามคือมันยังเหมาะกับวันนี้ไหม? สังคมไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยหรือ?
หรือสื่อไทยในยุค 2010 จะทำงานด้วยนโยบายจากโลกทัศน์ยุค 1980 หรือโลกทัศน์แบบสหราชอาณาจักรยุคแธตเชอร์นิยม?
แน่นอนว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยของเราอยู่ในระดับเดียวกับสหราชอาณาจักรสมัยใหม่หรือสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน แต่ด้วยโลกที่วิ่งด้วยอัตราเร่งในทุกสังคม เราอยู่ห่างกับคนอื่นถึง 30 ปีจริงๆ หรือ?
ไม่มีปัญหาอะไรถ้าเราจะเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ถ้ามาอยู่ในสาขาเหล่านี้ ช่วยเป็นอนุรักษ์นิยมของปี 2030 หน่อย อย่าเป็นอนุรักษ์นิยมของปี 1980 เลย
เพราะนโยบายเทคโนโลยีและสื่อ ต้องไม่เพียงกำกับดูแลปัญหาในวันพรุ่งนี้ ทุกกฎหมายและนโยบายนั้นออกมาเพื่อใช้ในอนาคต ดังนั้นมันต้องเปิดทางไว้เผื่อความเปลี่ยนแปลงในอีก 10-20 ปีจากนี้ด้วย (ผมไม่คิดว่าเราคาดการณ์อะไรไปไกลกว่านั้นได้)
ถ้าไม่อยากให้กระถางถูกดันแตกหรือไม่อยากเปลี่ยนกระถางบ่อยๆ ก็ต้องเผื่อขนาดไว้ให้ต้นไม้มันโตหน่อย — ถ้าคิดว่ายังจำเป็นต้องปลูกในกระถาง ไม่ปลูกลงพื้นดิน
จบเท่านี้ล่ะครับ
โพสต์ครั้งแรกที่เฟซบุ๊ก