สไลด์งานพฤหัด ThursDIY เมื่อวันพฤหัส
รอบนี้หัดทำแผนที่ OpenStreetMap โดย @kenggggg โอเพ่นดรีม พี่เทพก็มาด้วย
ตามลิงก์นี้เลย http://opd.me/osmpresentation
ผมเองสำรวจแค่แถวลิโด เดินนิดเดียว เหนื่อย คนอื่น ๆ เขาไปทั่วสยามเลย ได้จุดโน่นนี่มาใส่แผนที่เต็มเลย ใช้ Walking Papers ช่วย สะดวกดี ฝรั่งในกรุ๊ป Thai OpenStreetMap แนะนำมา
—-
โน๊ตงานโรงเรียนพ(ล)บค่ำ ครั้งที่ 4 เมื่อค่ำวาน @nuling สมบัติ บุญงามอนงค์ มาบรรยายและแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “โลกคู่ขนาน Online-Offline กับอัตราเริ่งดิจิทัล พายุ Social Network”
แน่นอนว่าโน๊ตนี้มันผ่านการบันทึก/ความเข้าใจของผม ส่วนไหนที่ผมเพิ่มเติมเข้าไปชัดๆ ที่หนูหริ่งไม่ได้พูดเลย จะอยู่ใน […] แล้วก็มันไม่ได้ตามลำดับเวลานะครับ ผมนึกอะไรได้ก็ใส่ ๆ ไป บรรทัดต้น ๆ นี่โน๊ตระหว่างฟัง หลัง ๆ นี่เอาจากที่จำได้ละ เอาไว้รอดูวิดีโอเต็ม ๆ จาก YouTube ของ @ReadingRoomBKK ได้
- การปฏิวัติดิจิทัล คลื่นนี้ได้ไล่ตีไล่พังสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ
- หนูหริ่งพูดถึงการเรียงพิมพ์ ทำปรินต์คอมพิวต์สมัยก่อน โปรแกรม PageMaker (สมัยก่อนทำหนังสือให้เอ็นจีโอ)
- ไม่เคยรู้ว่ามัน copy & paste Ctrl-C Ctrl-V ได้ การก๊อปปี้เป็นพลังของดิจิทัล [/me Kopimism!!]
- เศร้าในเน็ตแบบขำๆ เรื่องโทรเลขหายไป สิ่งต่างๆ เริ่มหายไป
- แต่เราเศร้าแบบหวนรำลึก เราไม่ได้ใช้มันจริงๆ หรอก เหมือนเครื่องพิมพ์ดีดเก่าๆ มาตั้งเก๋ๆ เป็นเครื่องประดับ
- บิล เกตส์ บอกว่า อินเทอร์เน็ตวิ่งด้วยความเร็วหมา (1 ปีหมา = 7 ปีคน)
- อัตราเร่งมันทบขึ้นไปเรื่อยๆ BlackBerry สองปีหายไปแล้ว
- เครื่องบินถ้าเร่งไม่ถึงจุดหนึ่งมันบินไม่ได้ เป็นจุดเปลี่ยน
- อาหรับสปริง ข้างนอกก็พร้อมแล้ว สภาพมันแห้งมาก พอข้างในอินเทอร์เน็ตร้อนได้ที่ จุดไฟ ข้างนอกก็ติดทันที สภาวะมันพร้อม ไม่มีแกนนำ
- ประวัติศาสตร์ประชาชนไม่ถูกบันทึก (เดี๋ยวอันนี้จะโยงไปเรื่อง Wikipedia ที่คุยตอนหลัง)
- ต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้การผลิตแบบเดิมล่มสลาย
- แต่มันไม่ได้ ล้มของเก่า แล้วเอาของใหม่ขึ้น มันเหมือนต้นไทร
- มีต้นไม้เก่าอยู่ นกบินผ่าน ขี้เมล็ดไทรใส่ ต้นไทรค่อยๆ ขึ้น ค่อยๆ ครอบต้นเก่า
- โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเดิมถูกสิ่งใหม่ค่อยๆ โอบ จนกลืนของเก่าหายไป
- พูดถึงคนทำธุรกิจ web hosting สมัยก่อน คุยแล้วเขาบอกว่าไม่ได้ทำเพื่อทำกำไรวันนี้ แต่เพื่อวางที่ทางของตัวเองในอนาคตข้างหน้า
- คนที่มีวิสัยทัศน์ จะเริ่มทำสิ่งที่เขาเห็นว่าอนาคตจะเกิด จะสะสมทุนทางสังคมตั้งแต่ตอนนี้
- โกดัก เจ๊งเพราะไม่ยอมเปลี่ยน
- โกดักมีห้องวิจัยที่ทำกล้องดิจิทัลเป็นรายแรกๆ แต่ผู้บริหารตัดสินใจไม่สนับสนุน
- โกดักยึดกับโมเดลธุรกิจเดิม ยึดกับคุณค่าของฟิลม์ที่ตอนนั้นคุณภาพยังเหนือกว่ามาก ไม่เห็นว่าดิจิทัลจะมาแทนได้
- การส่งสคส.แต่ละปี บอกอะไรบางอย่างกับเรา มียุคส่งการ์ดออนไลน์ ส่ง SMS ล่าสุดส่ง Whatsapp มันบอกถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป [เหมือนเป็นหมุดหมายของแต่ละปี]
- โลกเราตอนนี้มีคนทุกสปีด คนไม่เข้าใจเรา เพราะมองโลกด้วยสปีดที่ต่างกับเรา
- พูดถึงโฆษณาการรถไฟแห่งประเทศไทยตัวล่าสุด คนอีกสปีดหนึ่ง
- ตอนหลังมาพูดถึงเรื่องการทำงานและการไม่ปรับตัวของเอ็นจีโอไทย
- มีคนถามเรื่องเซ็นเซอร์ หนูหริ่งบอก รถก็ต้องมีเบรก เบรกเป็นไอเดียที่น่าจะขัดกับการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของรถ แต่รถก็ต้องมีเบรก การเซ็นเซอร์ก็อาจจะเป็นงั้น มันจำเป็นต้องมี ไม่ใช่เรื่องที่แยกจากกัน บางทีมันต้องไปด้วยกัน เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตอนนี้ มีเฉพาะฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้ ต้องมีทั้งสองฝั่ง มันเป็นของกันและกัน
- ผู้เข้าร่วม (หมี) บอกว่า ไม่เห็นด้วย เขาเห็นว่า เบรกนี่เราเลือกได้ว่าจะเหยียบเมื่อไหร่ แต่เซ็นเซอร์นี่มันเหมือนสิ่งกีดขวางบนถนน เราเลือกไม่ได้ มันเต็มไปหมด
- ผู้เข้าร่วม (ดิว) ถามเรื่องความเห็นออนไลน์ ที่ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้เสรี แล้วจะไม่ยุ่งเหยิงเหรอ มันต้องมีการจัดระเบียบไหม – หนูหริ่งตอบว่า เสียใจด้วยที่จะต้องบอกว่า โลกข้างหน้ามันจะต้องยุ่งเหยิงแน่ แต่คนก็จะต้องปรับตัวเข้ากับมัน
- [ถึงตรงนี้ผมจะบอกว่า สิ่งที่รัฐจำนวนหนึ่งใช้สำหรับจัดการความยุ่งเหยิงอาจจะเป็นการเซ็นเซอร์ แต่อีกสิ่งที่ใช้จัดการมันได้เหมือนกัน ก็คือ curator หรือ moderator ที่คอยคัดเลือก ตัด noise บางอย่างให้เราสะดวกขึ้น โดยที่เราเลือก curator เองได้ ตอนนี้องค์กรข่าวอย่าง New York Times หรือ The Guardian ก็มีตำแหน่ง curator คอยคัดเลือกข่าวจากความยุ่งเหยิงในโซเชียลมีเดีย – แต่สุดท้ายไม่ได้พูดนะ ประเด็นมันไหลไปเรื่องอื่นละ]
- ผู้เข้าร่วม (แอม) ถามเรื่องการแคมเปญออนไลน์ว่ามันช่วยได้จริงหรือ หรือจะเป็นเพียง clicktivism [หรือ slacktivism] ที่คนก็แค่รู้สึกว่า ฉันได้ทำบางอย่างนะ แต่จริง ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หนูหริ่งตอบว่าจากประสบการณ์ มันมีคนมาทำอะไรออฟไลน์จริง ๆ
- หนูหริ่งพูดเรื่องโครงการรับบริจาคเสื้อนักเรียนมือสอง ความร่วมมือกันทางออนไลน์ ตั้งแต่สมัยฟอร์เวิร์ดเมล โครงการบริจาคคอมพิวเตอร์ ซ่อมคอมให้ใช้ได้ ปีนึงให้โรงเรียน 3,000 เครื่อง
- โครงการบริจาคหนังสือของมูลนิธิกระจกเงา ปีนึงเกือบแสนเล่ม คัดแยกหนังสือ อันไหนใช้ไม่ได้เอาไปขายเป็นกระดาษ อันไหนใช้ได้เอาใส่เว็บ ทำเหมือน Amazon ให้โรงเรียนมาเลือกหนังสือที่อยากได้
- ตอนนี้ติดปัญหาการคีย์ข้อมูลหนังสือเข้าระบบ ผู้ร่วมงาน (จุ๋ม) เสนอให้ใช้โปรแกรมอ่านบาร์โค้ด
- ผมถามเรื่อง ทำไมหนูหริ่งสนใจเรื่อง Wikipedia ตอบว่า จะผลิตอะไรมันต้องใช้วัตถุดิบ การจะผลิตของในยุคนี้ [ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจฐานความรู้] มันต้องอาศัยข้อมูลความรู้ วิกิพีเดียก็เหมือนเป็นวัตถุดิบอย่างนึง ที่จะใช้ในการผลิตความคิด เราต้องหาทางผลักดันลงทุนกับเรื่องนี้ ต้องสร้างวัตถุดิบรอเอาไว้ จะหวังแค่การศึกษาในระบบ หรือการจัดงานสัมมนาเสวนาไม่ได้
- [หนูหริ่งเคย Voxer มาถามว่า วิกิพีเดียภาษาไทยมีคนเขียนกี่คน แอดมินกี่คน มีกี่บทความแล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน ในขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียง อย่างภาษาบาฮาซา (เกือบสองแสนบทความ) และเวียดนาม (สี่แสนเศษ) ภาษาไทยมีขนาดเล็กกว่าอย่างชัดเจน (ราวๆ 74,000 บทความ)]
- ในยุค search engine คนจะวิ่งหาที่เขาต้องการ เราแค่ทำมันรอไว้ ให้คนหาเจอ [พูดในบริบทการหาอาสาสมัครมาทำงานเพื่อสังคม แต่ผมว่าก็ใช้กับเรื่องวิกิพีเดียได้เหมือนกัน สร้างวัตถุดิบรอไว้]
- ก่อนหน้านี้พูดถึงเรื่อง คนเราทำไมถึงต้องตาย [จากปาฐกถาในโอกาสเปิดตัวหนังสือ “เหมือนอยู่คนละโลก” เมื่อเดือนก่อน] คนเราตายเพราะโลกมีทรัพยากรจำกัด เราต้องให้โอกาสในการใช้ทรัพยากรกับคนอื่นที่เกิดใหม่ ตายเพราะมันมีปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ ต้องให้โอกาสคนใหม่ ๆ เข้ามาแก้
- เอ็นจีโอไทยมีปัญหา คนแก่ไม่ยอมตาย องค์กรก็ไปต่อไม่ได้ วิธีแก้แบบเก่า ใช้กับปัญหาแบบใหม่ไม่ได้แล้ว
- หนูหริ่งบอกโชคดีที่ตอนมาเป็นเอ็นจีโอ ไม่มีสำนัก ไม่มีสาย สำนักคิดมันก็ดี ช่วยให้มีหลักในการทำงาน แต่ถึงวันนึงถ้ายังยึด มันจะตัน
- จะใช้ของเก่าหรือใหม่ก็ได้ ขอให้มันทำงานได้ ไม่ใช่ใช้ของใหม่เพราะเห่อ
- บอกว่าตอนทำงานศปพ. ตอนทำงานภัยพิบัติ เจอคนเยอะ ยังมีคนที่คิดว่าขอให้มีเทคโนโลยีดี ทุกอย่างก็จบ แก้ไขทุกอย่างได้ เวลาพรีเซนต์ก็จะโชว์เทคนิคตื่นตา คนจะตื่นเต้น
- หนูหริ่งบอก ผมเบื่อพูดเรื่องการเมือง ผมเป็นอะไรมากมาย แต่พอมีเรื่องการเมือง คนลดผมให้เหลือแค่มิติทางการเมือง ศศินก็เหมือนกัน เขาบอกว่าเขาทำงานเรื่องป่า แต่คนจำเขาแค่เรื่องน้ำ เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ตอนนั้นออกมาพูดเพราะมันรู้สึกว่าต้องพูดเป็นเรื่องบ้านของเขา แต่คนก็ลดมิติหรือติดป้ายให้ศศิน ว่าศศิน=เชี่ยวชาญน้ำท่วม
อีกส่วนหนึ่งจากโรงเรียนพบค่ำ @isAmAre ทวีตเอาไว้ที่ @thainetizen กดดูได้ตามลิงก์ครับ https://twitter.com/thainetizen
โรงเรียนพบค่ำนี่ มีทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน (เดือนหน้าก็ ศุกร์ 15 มิถุนา) เริ่มทุ่มครึ่ง จัดที่ The Reading Room เป็นห้องสมุดศิลปะ ที่ สีลม ซอย 19 (อยู่ชั้น 4 มองหาบันไดเล็ก ๆ หลังร้าน Milk Plus) จัดโดย The Reading Room ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต (มีมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สนับสนุน)
ปีนี้ธีมของโรงเรียนคือ “วัฒนธรรมเคลื่อนไหว – Moving Culture” ก็จะเกี่ยวกะเรื่อง mobile technology, mobility, mobilization, mobs, social movement ทั้งในทางเทคโนโลยี สื่อ ศิลปะ การเคลื่อนไหวทางสังคม
—-
ถ้ามีโอกาสก็อยากจะไปร่วมงานทำนองนี้ในจังหวัดต่าง ๆ นะครับ @pruet ชวนไปเวิร์กช็อป DIY ที่เชียงใหม่
ส่วนเมื่อวาน พี่บอย นักข่าวภาคใต้ ก็บอกว่า ลองไปทำที่ปัตตานีมั่งสิ ตอบตกลงไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่นะ ชวนมาก็ไปอ่ะ
—-
วันนี้ 19 พฤษภาคม 2555 ครบรอบ 2 ปีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ครับ #ที่นี่มีคนตาย