นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
คลิปเสียง 1, คลิปเสียง 2 จาก Thai E-News
ปรีดี : ผมก็พักผ่อนอยู่บ้านบ้าง นั่งรถไปทัศนาจรบริเวณใกล้ ๆ บ้าง เขียนหนังสือหรือบทความบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสารทั้งของไทยและของต่างประเทศ ฟังวิทยุกระจายเสียงและดูโทรทัศน์บ้าง โดยเฉพาะผม เป็นแฟนของข่าวบีบีซีมาช้านานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งตอนอยู่ในประเทศจีน และระหว่างอยู่ในฝรั่งเศสนี้ ก็ฟังวิทยุบีบีซี ทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสในตอนเช้าและภาคภาษาอังกฤษในตอนกลางคืนอีก แต่ภาคภาษาไทยฟังไม่ได้เพราะบีบีซี ส่งข้ามไปภาคตะวันออกไกลเสีย
ผู้สื่อข่าวบีบีซี : ผมอยากจะขอความกรุณาให้ท่านมองย้อนหลัง เรื่องประชาธิปไตยในเมืองไทย ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการจะได้มั้ยครับ
ปรีดี : ได้ครับ ในฐานะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ผมมองย้อนหลังดังต่อไปนี้ ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร 2 ประเภท คือความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุก ๆ ขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ
ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมืองทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้น ๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายใน ณ พรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นจึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างบนและประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่ง ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเอง ก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกัน เพื่อตนคนเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า Egocentrism
ส่วนจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกันคือ
ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง และตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวัง ต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นซากทัศนะเผด็จการทาสศักดินา ซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ Counter Revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ
ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธี ในการยึดอำนาจรัฐถะเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไร จึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง
ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหาร สามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคน แม้มีความรู้ทางทฤษฎี เกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ “ผม” เป็นต้น
ประการที่ 4 การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ในขบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475
ส่วนเหตุที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้ ผมขอตอบว่า แม้คณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทำให้ ระบบประชาธิปไตยล่าช้าไปถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นความที่ผมต้องการแก้ตัว แต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้จริง ซึ่งผมขอให้ท่านพิจารณาดังนี้คือ
ก. คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและจากภายนอกคณะมาหลายครั้งหลายหน และคณะราษฎรเองได้ปฏิบัติตามหลักทุกประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้ง 6 ประการนี้ ซึ่งได้แก่ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ การให้ความปลอดภัยในประเทศ การดำรงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ การให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักดังกล่าวข้างต้น และให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ในแง่ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่าถูกต้องสมบูรณ์ และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาล ที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง
ข. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ได้สถาปนาขึ้นโดย รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ครั้นแล้ว คณะรัฐประหาร ได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 — อันเป็นโมฆะ ทั้งรูปแบบแห่งกฎหมายและในสาระสำคัญของระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว
อาทิ กรมขุนชัยนาท พระองค์เดียว ไม่มีอำนาจลงพระนามแทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น ก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้ มิใช่เป็นรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ
ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ได้บัญญัติให้วุฒิสภา ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนดั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มดังกล่าว ได้เป็นแม่บทให้รัฐธรรมนูญอีกหลาย ๆ ฉบับต่อ ๆ มา ซึ่งวุฒิสมาชิกได้รับแต่งตั้ง และบางครั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ส่วนหนึ่ง ก็ได้รับการแต่งตั้ง หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับในปัจจุบันนี้เรียกระบบปกครองเช่นนั้นว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”
ผู้สื่อข่าวบีบีซี : ท่านก็ได้กล่าวถึงอดีตมาแล้ว ผมใคร่ขอเรียนถามถึง อนาคตเมืองไทยในระยะข้างหน้านี้ว่า ท่านเห็นว่ามีปัญหาที่สำคัญอย่างไรบ้าง
ปรีดี : ผมเห็นว่าอนาคตของประเทศไทยในระยะนี้ประสบวิกฤตการณ์หลายประการ ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการพัฒนาสาระสำคัญ 4 ประการของสังคมประกอบกัน คือ
1. พัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐานของมนุษยสังคม ให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตย เศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของมนุษยสังคมที่มิใช่เศรษฐกิจประชาธิปไตยนั้น ย่อมเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อันทำให้ประชาชนอัตคัดขัดสน ซึ่งเป็นการทำให้รากฐานของสังคมระส่ำระสาย ฉะนั้นมนุษย์ในสังคมต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยได้มาก เพียงใด เศรษฐกิจที่เป็นรากฐานก็มั่นคงสมบูรณ์มากขึ้นเพียงนั้น
2. พัฒนาการเมืองเป็นการเมืองประชาธิปไตย สมานกับรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองที่ตั้งอยู่บนความนึกคิดที่เลื่อนลอย ย่อมมีผลสะท้อนกลับไปสู่รากฐานเศรษฐกิจของสังคม ทำให้รากฐานนั้นระส่ำระสายและเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นมนุษย์ในสังคมต้องพัฒนาการเมืองให้ตั้งอยู่บนรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตยได้มากเพียงใด ก็จะเป็นการเมืองประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงนั้น และจะมีผลสะท้อนกลับไปสู่รากฐานเศรษฐกิจของสังคมให้มีความมั่นคงสมบูรณ์ มากขึ้นเพียงนั้น
3. พัฒนาคติธรรมของมนุษย์ ให้เป็นคติธรรมประชาธิปไตย บุคคลที่ไม่มีจิตใจประชาธิปไตยก็ไม่อาจปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองให้เป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตยและการเมืองประชาธิปไตยได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาคติธรรมของบุคคล ให้เป็นคติธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักนำบุคคล ให้มีจิตใจประชาธิปไตย ปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และการเมืองประชาธิปไตย มิฉะนั้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองก็จะเกิดขึ้น
4. พัฒนาวิธีประชาธิปไตยในการพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย ระบบเผด็จการฟาสซิสต์ของมุสโสลินี ระบบเผด็จการนาซีของฮิตเลอร์ ระบบเผด็จการของคณะนายพลญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นซากตกค้างมาจากระบบเผด็จการทาสศักดินา อันเป็นระบบที่นำชาติไปรุกรานชาติอื่น ผลที่ปรากฏคือ ระบบเผด็จการดังกล่าวได้นำชาติไปสู่ความหายนะ ฉะนั้นเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้มีรากฐานเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองประชาธิปไตย จิตใจ และคติธรรมประชาธิปไตยดังกล่าวแล้วนั้น ก็จำต้องพัฒนา “วิธี” ประชาธิปไตย ในการพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย มิฉะนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างวิธีพิทักษ์สังคมที่เป็นเผด็จการหรือที่ไม่เป็นประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง กับเศรษฐกิจการเมือง คติธรรม ที่เป็นประชาธิปไตยอีกฝ่ายหนึ่ง วิกฤตการณ์ในสังคมก็เกิดขึ้นทุก ๆ ด้าน และอาจทำให้ชาติเสียความเป็นเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ โดยเฉพาะยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคปรมาณูนั้น ถ้าใช้วิธีพิทักษ์ชาติซึ่งไม่ใช่วิธีประชาธิปไตยแล้ว ชาติก็อาจประสบอันตรายจากไฟบรรลัยกัลป์ แห่งศาสตราวุธนิวเคลียร์ ศาสตราวุธนิวตรอน ศาสตราวุธเคมี ศาสตราวุธชีววิทยา และศาสตราวุธนอกมาตรฐานและในมาตรฐานชนิดอื่น
ในที่สุดนี้ผมขออวยพรให้พี่น้องประชาชนชาวไทย และมวลมนุษย์ทั้งหลาย ประสบความสุขสวัสดี และปลอดภัยจากภยันตราย จากสงครามนิวเคลียร์ และศาสตราวุธร้ายแรงที่กำลังคุกคามอยู่นั้นเถิด.
source: KonThaiUK.info, InternetFreedom.US
2 responses to “ปรีดี พนมยงค์: “ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร” และ “การแก้ไขวิกฤตประเทศไทย””
4 ข้อสุดท้าย ถ้ามีพรรคไหนเอามาเป็นนโยบาย จะกาให้เต็มๆ
มีประโยชน์มากเลยค่ะ ขออนุญาตแบ่งปันนะคะ