ผมชอบอาจารย์ ชัชวาล บุญปัน มาก ๆ
ผมรู้จักการสังหารหมู่กวางจูในเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรก จากการฉายหนัง May 18 ของชัชวาล
ชัชวาล(เคย)เป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาฟิสิกส์ มช. เป็นคนที่สนใจความเป็นไปของสังคมรอบข้าง และพยายามจะถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ให้กับนักศึกษา ความเชื่อมโยงของเทคโนโลยีกับสังคม
ปี 2010 ผมหลุดเข้าไปนั่งอยู่ในห้องเรียนสัมมนาของชัชวาล ผ่านการแนะนำของเพื่อนใหม่ชื่อโฟน ซึ่งก็เพิ่งรู้จักกันวันที่ฉายหนัง May 18 นั่นแหละ สัมมนาพูดถึงมนุษย์กับสงคราม แง่มุมทางเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ฯลฯ … สิ่งที่ผมไม่คิดว่าจะได้ยินในตึกภาควิชาฟิสิกส์-ในประเทศไทย
ห้องเรียนสัมมนาดำเนินไปในลักษณะการสนทนากันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เอาเข้าจริงคือ ทุกคนต่างเรียนจากอีกฝ่าย ในอากาศเต็มไปด้วยคำถาม และทุกคนคิดกับมัน โฟนบอกว่า ห้องเรียนของชัชวาลก็เป็นแบบนี้ และนั่นคือสิ่งที่เขาชอบ
โฟนเป็นนักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ แต่ผมมักจะพบเขาในงานสัมมนาประเด็นทางสังคม วรรณกรรม หรือภาพยนตร์
Contact เป็นหนังไซไฟที่ผมชอบมากเรื่องหนึ่ง (มันน่าจะอยู่ในหมวดเดียวกับ Gattaca) บทหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน โดย คาร์ล เซแกน เซแกนเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่สนใจการสื่อสารประเด็นวิทยาศาสตร์กับสาธารณะ
ในทฤษฎีฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มีความขัดแย้งหนึ่งที่เรียกว่า Fermi paradox มันคือความขัดแย้งของตัวเลขประเมินจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมในแกแล็กซีทางช้างเผือก (สมการของเดรก – Drake equation) ซึ่งมีเยอะกว่าหลักฐานที่เราเคยค้นพบอยู่มาก-เพราะเรายังไม่เคยค้นพบเลย สำหรับนักฟิสิกส์ดารารศาสตร์กลุ่มหนึ่ง สิ่งนี้มีนัยยะว่า อารยธรรมนั้นเกิดขึ้นมากมายแต่มีอายุสั้นมาก นั่นคือ ที่เราหาพวกเขาไม่พบ เพราะอารยธรรมเหล่านั้นทำลายตัวเองไปหมดแล้ว
Fermi paradox ทำให้เซแกนสนใจการเมืองและเข้าร่วมขบวนการสันติภาพ ต่อต้านสงครามเวียดนามและการต่อต้านนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษ 80 — เขาเคยถูกจับขณะพยายามปีนข้ามรั้วเข้าไปในเขตทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่เนวาดาระหว่างการชุมนุมประท้วง
เซแกนสอนวิชาการคิดเชิงวิพากษ์ที่คอร์เนลจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1996
ผมไม่รู้ว่าอะไรทำให้ชัชวาลมีความสนใจในประเด็นทางสังคม รู้แต่เพียงว่า นี่คือตัวอย่างของอาจารย์ที่การศึกษาไทยจำเป็นต้องมีมากขึ้น เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า “วิทยาศาสตร์เกี่ยวอะไร?” — สมการของเดรกที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขภายหลัง มีพารามิเตอร์หนึ่งคือ “การล่าอาณานิคม(ดวงดาว)” เราต้องมีระบบการศึกษาแบบไหนที่อนุญาตให้คนคิดข้ามกรอบสาขาได้ขนาดนี้ ?
การศึกษาที่ไม่จัดคนอยู่ในกล่อง เพื่อจะให้คนในกล่องไปจัดคนลงกล่องต่อไป ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
แม้จะเกษียณไปแล้ว ทุกวันนี้ชัชวาลก็ยังสนุกกับการได้ถ่ายทอดสิ่งที่เขาเชื่อให้กับนักศึกษา ผ่านการบรรยายพิเศษตามวาระต่าง ๆ
บันทึกสืบเนื่องจากข่าวงานเสวนาเดือนตุลา : ความรุนแรง สันติวิธี และการต่อสู้ทางวัฒนธรรม โดยสำนักข่าวประชาธรรม; ปรับปรุงจากสเตตัสเฟซบุ๊ก
ภาพประกอบโดย by Luke Peterson Photography สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา