สมเกียรติ ตั้งนโม กับเว็บที่มาก่อน 2.0


สมเกียรติ ตั้งนโม กับจักรวาลความรู้หลังเที่ยงคืน ที่ข้ามศาสตร์และข้ามสื่อ ที่ทุกคนอ่านและเขียนด้วยกันได้

(ปรับปรุงจากข้อเขียนเพื่องานเสวนา ความรู้และปฏิบัติการของ สมเกียรติ ตั้งนโม โดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 28 สิงหาคม 2553 ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อเขียนชิ้นดังกล่าวถูกนำเสนอโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ร่วมกับข้อเขียนของชูวัสเองและของ เคโกะ เซย์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ สมเกียรติ ตั้งนโม ผู้ก่อตั้งและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

"Knowledge and Practices of Somkiat Tangnamo"

ไฮเปอร์เท็กซ์และสหบทในจักรวาลของสมเกียรติ

ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของเวิลด์ไวด์เว็บ ก็คือไฮเปอร์ลิงก์ (hyperlink) ที่เชื่อมโยงบทความ ความรู้ รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ไปมาหากันอย่างไม่จำกัด ไม่มีจุดเริ่มแรก ไม่มีจุดปลายสุดท้าย

ในทางเทคนิค-รูปแบบ สมเกียรติใส่ลิงก์เหล่านี้อยู่ในทุกหน้าของเว็บม.เที่ยงคืน (ยกเว้นช่วงแรก ๆ)
ทั้งลิงก์ไปบทความก่อนหน้า-ถัดไป สารบัญตามลำดับเวลา สารบัญตามประเด็น ตามชื่อผู้เขียน และตามคำสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีลิงก์ไปหา บทความเกี่ยวเนื่อง
ดังที่ได้อธิบายไว้ใน สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง ว่า:

อีกประการหนึ่งซึ่งควรสังเกตไว้เพื่อประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ ในแต่ละบทความ จะมีอักษร R ปรากฏอยู่ ซึ่งหมายถึง related หรือบทความเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะโยงไปสู่ความรู้ที่สัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ ทำให้นักศึกษาได้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลดังกล่าว โดยเหตุนี้ จึงควรได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อมูลสัมพันธ์ตามลำดับ

ลิงก์ประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งปกติธรรมดาในยุค เว็บ 2.0 ที่ซอฟต์แวร์อัตโนมัติถูกนำมาใช้แนะนำเนื้อหาเกี่ยวเนื่องใกล้เคียง เพื่อให้ผู้อ่านได้มีโอกาสท่องเที่ยวไปในเนื้อหาที่ตัวเองสนใจมากขึ้น ในมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลัก

สิ่งที่น่าตกใจคือ ในขณะที่เว็บ 2.0 ทุกวันนี้ สร้างลิงก์เหล่านี้ด้วยซอฟต์แวร์อัตโนมัติ สมเกียรติทำมันด้วยมือ ทีละหน้า

พูดง่าย ๆ ก็คือ วิสัยทัศน์ ของสมเกียรตินั้นไปไกลกว่าเครื่องมือที่เขามี
เขาทำเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนภายใต้ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีของยุคสมัย รวมไปถึงข้อจำกัดการเรียนรู้เทคโนโลยีของผู้ใช้เทคโนโลยีในระดับทั่ว ๆ ไป มวลชนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ เขาผลักพรมแดนมันไปจนสุด และแสดงให้เห็นว่า ใคร ๆ ก็ทำเว็บไซต์ได้

ด้วยไฮเปอร์ลิงก์เหล่านี้ ทำให้บทความต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงให้อ่านข้ามบริบทกัน เทียบบริบทกัน กลายเป็นไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) และนั่นนำไปสู่สิ่งที่ อุทิศ อติมานะ กล่าวถึงใน สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ คือการพยายามสร้างชุมชน ที่คิดวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยง แบบบูรณาการ-สหวิทยาการ

ไม่เพียงปล่อยให้ไฮเปอร์ลิงก์ทำงาน กองบรรณาธิการม.เที่ยงคืน ยังทำหน้าที่เหมือน ภัณฑารักษ์ ที่ทดลองหยิบงานในสื่อต่าง ๆ มาวางเคียงกัน เพื่อสร้างความหมายหรือคำถามใหม่ ที่สัมพันธ์ต่อสถานการณ์ในสังคมในขณะนั้น

ตัวอย่างเช่น บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 497 ที่ชื่อ วิลลี บรันดท์-หมอป่วย-ตากใบและ บก.ฟ้าเดียวกัน
ซึ่งรวบรวมข้อเขียน 3 ชิ้น จากเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มารวมทดลองเสนอเป็นชิ้นเดียวกัน ภายใต้คำโปรยว่า สาระจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่าด้วยความรุนแรงหลากมิติ และหมายเหตุในวงเล็บ การทดลองนำเสนอ เพื่อเป็นการเชิญชวนนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านให้ใช้กระดานข่าว

ข้อเขียนสามชิ้นจากเว็บบอร์ด พูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่างกัน แต่มีประเด็นร่วมกันที่กองบรรณาธิการมองเห็น และได้ทำการเน้นประเด็นนั้น ไฮไลท์มันด้วยวิธีการนำข้อเขียนสามชิ้นนี้มาวางเคียงกัน คล้าย ๆ กับการเล่าเรื่องแบบศิลปะภาพตัดปะ (montage) ที่ความหมาย/คำถามใหม่เกิดขึ้นที่ช่องว่างระหว่างรูป ในพื้นที่ความคิดของผู้อ่าน

เว็บบอร์ด ศักดิ์ศรีและรูปแบบของความรู้

ไม่ว่าจะเป็นการหยิบเอาข้อเขียนจากเว็บบอร์ดมาวางเคียงกัน หรือข้อเขียนจากสิ่งพิมพ์อื่นตามท้ายด้วยความคิดเห็นข้อวิพากษ์จากเว็บบอร์ดจาก ผู้อ่าน เช่นกรณี บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 653 ที่ชื่อ องค์ภูมิพล: เอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่งความเป็นไทย เหล่านี้ ไม่เพียงแสดงถึงความพยายามในการเชื่อมโยงความรู้ความคิดเห็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของสมเกียรติต่อสื่อรูปแบบใหม่ เช่น เว็บบอร์ด

เว็บบอร์ด บล็อก และสื่อใหม่ต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า จะมีศักดิ์ศรีในทางความรู้วิชาการหรือความน่าเชื่อถือได้เพียงใด เมื่อเทียบกับสื่อเก่า หรือกระทั่งเว็บไซต์ที่มีการจัดการรัดกุมมีผู้รับผิดชอบชัดเจนกว่า

การหยิบเอาข้อเขียนต่าง ๆ จากเว็บบอร์ดมานำเสนอในอีกรูปแบบ เป็นการทดลองที่จะเสนอให้ผู้อ่านมองเห็นว่า นี่ไง เนื้อหาเดียวกัน คุณภาพแบบนี้ คุณสามารถหาได้ในเว็บบอร์ด มันไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบวารสารวิชาการ หรือจากนักเขียนชื่อดัง มันอยู่ในเว็บบอร์ดได้ มันอยู่ที่ไหนก็ได้ และใครจะเขียนมันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านบก. ดังนั้น ไปใช้เว็บบอร์ดกันเถอะ

ในยุค YouTube ที่ทุกคนพูดถึง user-generated content ผู้อ่าน ที่เป็น ผู้เขียน ด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร – สมเกียรติพยายามสนับสนุนและชี้ให้คนเห็นสิ่งเดียวกันนี้ อย่างน้อยก็เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ถ้าเราเชื่อว่า ความคิดเห็นนั้นสำคัญเท่ากับความรู้ เพราะสิ่งที่เรานับว่าเป็น ความรู้ กระแสหลัก ในทุกวันนี้ ต่างก็เคยเป็น ความคิดเห็น กระแสรอง มาแล้วทั้งสิ้น การเปิดพื้นที่เว็บบอร์ดดังที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำ ก็คือการยืนยันในความเชื่อนั้น

*ขณะนี้ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดรับบทความอีกครั้งหนึ่งแล้ว ขอเชิญผู้สนใจ ส่งบทความได้ครับ ที่อีเมล midnightuniv [døt] gmail.com

technorati tags: 


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.