สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ
อุทิศ อติมานะ
ชีวิตนั้นไร้สาระ ว่างเปล่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านมา ที่เหลืออยู่เป็นเพียง “ความทรงจำ” เกี่ยวกับการกระทำที่ผ่านมาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ สมเกียรติ ตั้งนโม อีกชีวิตหนึ่งที่จากไป แต่ก็ยังอยู่ใน “ความทรงจำสาธารณะ” ที่สำคัญอีกบทหนึ่งของสังคมไทย เป็นความทรงจำสาธารณะถึงชีวิตหนึ่งที่มีอุดมการณ์เพื่อ “ผลประโยชน์สาธารณะ” มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท มีวินัยอย่างคงเส้นคงวาตลอดชีวิตที่ผ่านมา ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เสมอภาค ความไม่รู้ ความไม่ยุติธรรม ความไม่ชอบธรรม ฯลฯ ในสังคมไทยและโลก ดูเหมือนว่าพันธกิจนี้จะยังคงเป็น “งานที่ไม่เสร็จ”
ความเป็นสมเกียรติ ตั้งนโม เริ่มต้นจากความไม่เสมอภาค ความไม่รู้ ในวงการศิลปะ จากปัญหาดังกล่าวผลักดันเขาให้สร้างสรรค์ผลงานแปล เรียบเรียง และบทความ เกี่ยวกับความรู้ขั้นสูงร่วมสมัยในศาสตร์ศิลปะและสาขาที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างมากมาย ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า ความคิดเชิงวิจารณ์เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม ชอบธรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงปราศจากความรอบรู้ในศาสตร์ขั้นสูงสาขาต่าง ๆ ซึ่งความรู้เหล่านั้นส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ถูกฝึกฝนมาให้เป็นนักแปลมืออาชีพก็ตาม หรือแม้ว่าเขาจะไม่เคยได้รับค่าจ้างแปลใด ๆ ตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เขาสามารถผลิตผลงานแปลและเรียบเรียง หนังสือวิชาการขั้นสูงในสาขาต่าง ๆ มากมายกว่าร้อยเล่มอย่างต่อเนื่อง เขาเริ่มจากการแปลและเรียบเรียงตำราวงการศิลปะ ค่อย ๆก้าวมาสู่การเขียน การแปล และเรียบเรียงตำราในวงการมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ต่อมาเขาริเริ่มโครงการเสวนา “ศิลปะ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์” ราว 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อคนไทยมีความรอบรู้ขั้นสูงในสาขาต่าง ๆ เชิงบูรณาการที่มากพอ จะนำมาสู่การสามารถวิเคราะห์ รู้เท่าทัน ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยที่มีความซับซ้อน ซ่อนรูป สามารถเข้าใจปัญหาสังคมระดับโครงสร้างเหตุปัจจัยต่าง ๆ ระดับแนวคิดเชิงทฤษฏี โดยผ่านเวทีเสวนาที่เขาริเริ่มขึ้น เพื่อสร้างชุมชนวิชาการที่มีความเป็นสหวิทยาการ ร่วมกันผลิต “แนวคิดเชิงวิพากษ์สังคม” ผ่านมุมมองของศาสตร์และความเห็นของบุคคลที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดชุมชนนักวิชาการที่ไม่มีแรงจูงใจเพื่อรับใช้อำนาจของคนบางกลุ่ม แต่รับใช้ “ผลประโยชน์สาธารณะอย่างไม่มีเงื่อนไข” เพื่อสร้างพลังการต่อรอง ต่อต้าน ประท้วง ทั้งทางตรงทางอ้อม ฯลฯ ต่อความไม่เสมอภาค ความไม่ยุติธรรม ความไม่ชอบธรรมต่าง ๆ ในสังคมไทยและโลก
จากความเป็นนักทฤษฏี สู่ความเป็น “นักปฏิบัติการทางการเมืองภาคประชาชน” สมเกียรติเข้าร่วมกับกัลยาณมิตรที่มีอุดมการณ์ร่วมคล้ายกัน ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกเพื่อสรรค์สร้างปฏิบัติการทางการเมืองภาคประชาชน เน้นการแก้ปัญหาสังคมไทยระดับ “แนวคิดเชิงวิพากษ์” ที่ตรงไปตรงมา มีเหตุผล วิจารณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะในแต่ละจังหวะเวลา อย่างไม่มีเงื่อนไข อาทิ มีการออกแถลงการณ์ให้ข้อคิดเชิงหลักการต่อเหตุการณ์ทางการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง มีการทำสงครามเพื่อสัญลักษณ์ ฯลฯ รวมทั้งมีการต่อยอดพัฒนาชุมชนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสู่โลกอินเทอร์เน็ต มันทำให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกลายเป็นชุมชนวิชาการไทยที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และทรงอิทธิพลในสังคมไทยต่อมา ซึ่งสมเกียรติมีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะผู้รับผิดชอบเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แน่นอนที่สุด ชีวิตนั้นว่างเปล่า ไร้สาระ ชั่วคราว แต่อย่างน้อย สมเกียรติ ก็ได้ท้าทาย “กฎแห่งความไร้สาระของชีวิต” สู่การทำให้ชีวิตของเขาที่ผ่านมา “มีสาระบางประการท่ามกลางความว่างเปล่า” เป็นสาระแห่งชีวิตที่ถูกใช้อย่างทุ่มเท จริงจัง มีวินัย ฯลฯ เพื่อตอบสนองคุณค่าความจริง ความดี ความงาม อย่างปราศจากเงื่อนไข ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของอารยธรรมมนุษย์ เพื่อต่อสู้กับความไม่รู้ ความไม่เสมอภาค ไม่ยุติธรรม ไม่ชอบธรรม ความไร้ระเบียบ ฯลฯ ในสังคม “ความเป็นสมเกียรติ ตั้งนโม” น่าจะกลายเป็น “ความทรงจำสาธารณะ” อีกบทหนึ่งที่ควรค่าต่อการจดจำ และส่งต่อผ่านคนรุ่นหลัง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สืบต่อบทบาทการเมืองภาคประชาชน แนวคิดเชิงวิพากษ์ และการสร้างชุมชนวิชาการของสังคม ที่ร่วมกันผลิตสื่อทางเลือก คอยเฝ้าระวัง “มุมมืด” ที่มีในตัวเราทุกคน เพื่อร่วมตั้งคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับ “ผลประโยชน์สาธารณะ” อย่างต่อเนื่อง จริงจัง ทุ่มเท เป็นสงครามที่ยังไม่ยุติ
(คัดลอกจากหน้าแรกของเว็บไซต์ม.เที่ยงคืน – 5 ส.ค. 2553)
อ่านต่อ: “ความรู้” ในแบบสมเกียรติ ตั้งนโม แห่ง ม.เที่ยงคืน โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล 22 ก.ค. 2553
ข่าวเกี่ยวกับ “สมเกียรติ ตั้งนโม” ในนสพ.ประชาไท
technorati tags:
Somkiat Tangnamo,
Midnight University,
unfinished
One response to “สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ”
[…] […]