ผมสัมภาษณ์ พี่แต๊ก ไกลก้อง ไวทยการ (@klaikong) เอาไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2553 ที่ผ่านมา ระหว่างเวิร์กช็อป “Open Data Hackathon” ที่ Opendream คุยกันเรื่องความเคลื่อนไหว “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” หรือ “ข้อมูลเปิดภาคสาธารณะ” (Open Government Data หรือ Open Public Data) กับความจำเป็นของสังคมไทยที่ภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลที่รอบด้าน ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วันนี้เพิ่งถอดเทปเสร็จ
มีคุยกันเรื่องรูปแบบข้อมูล รวมถึงความเป็นไปได้ในการจะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง :
เรื่องมาตรฐานข้อมูลเนี่ย ประเทศเราทำไม่ได้จริงซะที คุยกันมานานแล้ว ว่าจะต้องมีระบบมาตรฐาน จะต้องมี standard อะไรต่าง ๆ XML ฯลฯ แต่ถึงทุกวันนี้ เท่าที่เห็น ร้อยละ 80 ข้อมูลก็ยังอยู่ในรูปแบบ PDF ซึ่งอันนี้มันสะท้อนเรื่องวิธีคิดว่า ข้อมูลนี้ก็ยังเป็นข้อมูลของหน่วยงานนั้นอยู่ ถ้าอยากได้ข้อมูลดิบ (raw data) เพื่อจะเอาไปใช้ก็ต้องขออนุญาตก่อน เพราะ PDF มันเอาไปใช้ทำอะไรต่อไม่ได้ ไฟล์ PDF มันสะท้อนความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของของข้อมูลอยู่
ถ้าเราพูดถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัว PDF ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้ … มันไปจบแค่การเปิดเอกสารเพื่อดู … ข้อมูลที่อิเล็กทรอนิกส์ที่จะแลกเปลี่ยนกันแล้วมีประโยชน์เอาไปใช้ต่อได้ มันต้อง “อ่านด้วยเครื่องได้” (machine readable)
สำหรับภาครัฐแล้ว เรามองอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ ดูได้จากการเอากฎหมายสื่อมาใช้กับอินเทอร์เน็ต พอมองเป็นสื่อนั่นแปลว่าการเปิดข้อมูลคือการเผยแพร่ แค่เผยแพร่ก็จบ … มันไม่ใช่ มันต้องไม่จบแค่ขั้นการเผยแพร่
คุยกันเรื่องมิติทางการปกครอง การพัฒนาท้องถิ่น และเศรษฐกิจ ของข้อมูลสาธารณะแบบเปิด :
ถ้าเราคิดว่า ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดนั้นมันสร้างขึ้นมาด้วยเงินภาษี ด้วยเงินของสาธารณะ ข้อมูลภาครัฐเหล่านี้ก็ควรจะเป็นข้อมูลสาธารณะ ซึ่งเมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ข้อหนึ่งก็คือ มันต้องเปิดให้สามารถเข้าถึงได้ สองคือ ต้องเปิดในลักษณะที่ทุกคนสามารถเอาข้อมูลนั้นไปใช้ต่อได้ โดยไม่มีข้อจำกัด
การรวบรวมข้อมูลยังไงมันก็เป็นแบบล่างขึ้นบน แต่ปรากฎว่าเมื่อข้อมูลมันไหลขึ้นไปสู่ข้างบนแล้ว มันไม่เคยไหลกลับมาสู่ข้างล่างเลย … เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ท้องถิ่นต้องมีชุดข้อมูลเพื่อให้ทำงานได้ ให้ตัดสินใจได้ แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่เคยมีข้อมูลเลย แล้วก็เลยไม่มีทักษะในการใช้ข้อมูลไปด้วย … ดังนั้น หนึ่งเลย ข้อมูลที่ท้องถิ่นส่งขึ้นไป ต้องถูกส่งกลับลงมาให้ท้องถิ่นใช้ด้วย
ทุกคนต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ โครงการนี้จะดีหรือไม่ดีกับบ้านฉันไหมตัวฉันไหม ก็จะทำให้ไม่ถูกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนหรือคัดค้าน ใช้การโน้มน้าวได้ ทุกคนมีข้อมูล และตัดสินใจบนข้อมูลเหล่านี้
เวลาเราบอกว่าเปิดให้ “ทุกคน” เข้าถึงได้ มันรวมถึงภาคธุรกิจด้วย ซึ่งถ้าภาคธุรกิจนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ แล้วมันสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ มันก็เหมาะสม ซึ่งตราบใดที่ข้อมูลเหล่านี้มันไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง มันก็ควรจะต้องถูกเปิด
อ่านฉบับเต็มที่บล็อกโอเพ่นดรีม – ไกลก้อง ไวทยการ: “Open Data จะทำให้ประเทศเราวิ่งได้เร็วขึ้นอีกมาก”
ปี 2554 ที่จะถึงนี้ โอเพ่นดรีม, ChangeFusion, ธนาคารโลก สำนักงานกรุงเทพ และเพื่อน ๆ รวมถึงเครือข่ายพลเมืองเน็ต จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับ Open Public Data ตลอดทั้งปี ตามความถนัดและจุดเน้นของแต่ละองค์กร ขอเชิญชวนทุกคนที่สนใจมาแจมกัน – ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ OpenData.in.th
technorati tags: open governance, open public data, open data, Apps for Development, World Bank
One response to “สัมภาษณ์ @klaikong เรื่อง “ข้อมูลเปิดภาคสาธารณะ” กับการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง #opendata #opengov”
[…] คาบเกี่ยวปีใหม่ มีโอกาสถอดเทปของที่ค้างไว้ (จากงาน Open Data – ยังมีค้างอยู่สองคน) […]