Sulak Sivaraksa says ‘NO’ to Kukrit Pramoj


“ … วิธีการเช่นนี้ คุณชายคึกฤทธิ์ใช้มากับผมและบุคคลอื่นๆ ที่เธอรังเกียจก่อนแล้วที่สยามรัฐ ก็ถ้าสื่อมวลชนใช้อคติส่วนตัวของผู้บริหารสูงสุดเป็นตัวกำหนด ว่าควรเอ่ยชื่อใครหรือไม่ และบทความของใครควรลงพิมพ์หรือไม่ โดยที่คนๆ นั้นเป็นคนที่ผู้บริหารสูงสุดรังเกียจเสียแล้วละก็ สื่อมวลชนดังกล่าวมีความเป็นกลางละหรือ รักสัจจะหรืออาสัตย์อาธรรม์กันแน่

แม้อนันตริยกรรมข้อนี้ ประการเดียว บุคคลคนนั้น ยังควรได้รับยกย่องให้เป็นคนสำคัญของโลกอีกละหรือ โดยไม่จำต้องเอ่ยว่าสี่แผ่นดิน นั้นเป็นนวนิยายที่ใช้ล้างสมองให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของวิเศษ ชาติวุฒิสำคัญยิ่งกว่าคุณวุฒิของสามัญชนคนธรรมดา และแล้วเราก็ยังถูกสะกดให้อยู่ในอีหรอบนี้อยู่ หรือมิใช่ … ”

ส.ศิวรักษ์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงบรรณาธิการไทยโพสต์ เพื่อแสดงความเห็นต่อบทความ “คึกฤทธิ์คนสำคัญของโลก” ในคอลัมน์ บังอบายเบิกฟ้า ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2552 แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อยูเนสโกเพื่อให้รับรองเป็นบุคคลสำคัญของโลก นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลทำประชามติก่อน หากจะมีการเสนอชื่อผู้ใด ไม่ใช่ทำกันแต่เป็นการภายใน โดยไม่สนใจประชาชน (ถัดจากนี้คือเนื้อความในจดหมายดังกล่าว) :

๑๒๗ ซอยสันติภาพ ถนนนเรศ
บางรัก กรุงเทพฯ ๑๐๕๐๐

๘ มกราคม ๒๕๕๒

เรียนบรรณาธิการไทยโพสต์

ผมรู้จักคุณธรรมเกียรติ กันอริ มาตั้งแต่เขาเพิ่งแตกเนื้อหนุ่ม และนิยมชมชอบสำนวนการเขียนหนังสือของเขามาแต่สมัยนั้น หนังสือของเขาที่ดีที่สุดเมื่อเขายังอยู่ในวัยฉกรรจ์ คือเล่มที่ว่าด้วยคึกฤทธิ์ ปราโมช ลอกคราบคุณชายผู้นั้นอย่างสะใจ และใช้โวหารหลอกล้อ ดังที่คุณชายชอบใช้เล่ห์เช่นนั้นกับมหาชน ให้ใครๆ เห็นว่าคุณคึกฤทธิ์เป็นคนกะล่อน แต่เมื่อมาอ่านบทความของเขาเรื่อง “คึกฤทธิ์คนสำคัญของโลก” ในไทยโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๔ มกราคม แล้วรู้สึกอ่อนใจ แสดงว่า คุณธรรมเกียรติ ในวัยที่สังขารเริ่มร่วงโรยไปนั้น กลับเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปเสียแล้ว

ก็การเสนอชื่อบุคคลให้ UNESCO รับรองว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้น คนๆ นั้น น่าจะมีความดีประกอบไปกับความรู้ความสามารถในทางการศึกษา (Education) วิทยาศาสตร์ (Science) และวัฒนธรรม (Culture) ตามชื่อขององค์การแห่งนั้นของสหประชาชาติ ที่ แล้วๆ มา สามัญชนคนไทยที่รัฐบาลเสนอไป ล้วนเป็นปูชนียบุคคลที่ควรแก่การกราบไหว้บูชาทุกท่าน นอกเหนือไปจากอัจริยภาพของท่านนั้นๆ ในทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระยาอนุมานราชธน นายปรีดี พนมยงค์ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือพุทธทาสภิกขุ รัฐบาลไทยไม่เคยเสนอชื่อสามัญชนที่เป็นคนกึ่งดิบกึ่งดี ที่มีความสามารถอย่างฉ้อฉลหรือบิดเบือนไปให้ยูเนสโกพิจารณามาก่อนเลย หาไม่หลวงวิจิตรวาทการ น่าจะเป็นบุคคลสำคัญของโลกไปแล้ว ในฐานะที่มอมเมาคนไทยได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคึกฤทธิ์ ปราโมช

อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ให้เรียบเรียงประวัติปัญญาชนไทย ๑๐ คน ซึ่งมีอิทธิพลกับการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยร่วมสมัย ในจำนวนดังกล่าว มีหลวงวิจิตรวาทการ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมอยู่ด้วย ผลงานของเธอ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ว่าบุคคลทั้งสองนี้ใช้เล่ห์เพทุบาย ในการมอมเมาผู้คนยิ่งกว่าให้ข้อเท็จจริงอย่างสุจริตใจ

เมื่อคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในสมัยรัฐบาล คมช. ได้เสนอให้คุณชายคึกฤทธิ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกมาทีหนึ่งแล้ว (โดยที่ภารกิจนี้เคยเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ) และผมได้เขียนคัดค้านไปลงพิมพ์ใน ช่อการเกด ของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นเหตุให้น้องชายของท่านรัฐมนตรีผู้นั้นสั่งไม่ให้ลงเรื่องที่ผมเขียนหรือ แม้แต่ชื่อของผมในหนังสือพิมพ์และนิตยสารในสังกัดของเขาเอาเลย ตราบเท่าจนบัดนี้

วิธีการเช่นนี้ คุณชายคึกฤทธิ์ใช้มากับผมและบุคคลอื่นๆ ที่เธอรังเกียจก่อนแล้วที่สยามรัฐ ก็ถ้าสื่อมวลชนใช้อคติส่วนตัวของผู้บริหารสูงสุดเป็นตัวกำหนด ว่าควรเอ่ยชื่อใครหรือไม่ และบทความของใครควรลงพิมพ์หรือไม่ โดยที่คนๆ นั้นเป็นคนที่ผู้บริหารสูงสุดรังเกียจเสียแล้วละก็ สื่อมวลชนดังกล่าวมีความเป็นกลางละหรือ รักสัจจะหรืออาสัตย์อาธรรม์กันแน่

แม้อนันตริยกรรมข้อนี้ ประการเดียว บุคคลคนนั้น ยังควรได้รับยกย่องให้เป็นคนสำคัญของโลกอีกละหรือ โดยไม่จำต้องเอ่ยว่าสี่แผ่นดิน นั้นเป็นนวนิยายที่ใช้ล้างสมองให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของวิเศษ ชาติวุฒิสำคัญยิ่งกว่าคุณวุฒิของสามัญชนคนธรรมดา และแล้วเราก็ยังถูกสะกดให้อยู่ในอีหรอบนี้อยู่ หรือมิใช่

ทั้งนี้มิใยต้องเอ่ยยถึงว่า ไผ่แดง ก็ดี กาเหว่าที่บางเพลง ก็ดี แม้จน ฮวนนั้ง และซูสีไทเฮา ก็ล้วนลอกเลียนเอามาจากฝรั่ง อย่างหน้าด้านๆ อีกด้วย ในวงวรรณกรรมสากล ถือว่านี่คือการโขมยหรือปล้นสดมภ์มาเลยทีเดียว แล้วบุคคลเช่นนี้ละหรือที่ควรเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ยังการที่เขาดูถูกสาธารณรัฐประชาชนลาว โดยกล่าวหาว่าเลวร้ายและล้าหลัง จนถึงจะข้ามไปเผาเวียงจันทน์ด้วยแล้ว นี่มิเป็นการสร้างความอหังการอย่างผิดๆ ให้นักอ่านไทย ในกระแสชาตินิยมดอกหรือ แล้วเพื่อนบ้านของเราทางฝั่งโขงข้างโน้นจะรู้สึกอย่างไร

ก็บัดนี้ เรามีรัฐบาลที่มีทีท่าว่าจะเป็นประชาธิปไตยยิ่งๆ ขึ้น ในทางเนื้อหา ถ้ารัฐบาลจะเสนอบุคคลใดให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก น่าจะแสวงหาประชามติสนับสนุน ไม่ใช่งุบงิบกันกระทำเป็นการภายใน โดยมองไม่เห็นหัวราษฎรทั้งหลายเอาเลย

รัฐบาลและสื่อมวลชนกระแสหลัก จักรับฟังข้อเสนอของผมดังกล่าวนี้ได้ จำต้องกล้าเผชิญกับสัจจะ และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยถอนตัวออกมาจากความมอมเมาต่างๆ ที่รับกันเรื่อยๆ มา จาก ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช เป็นต้นมา

ขอแสดงความนับถือ

(นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์)

… ผมขอเสนอบ้าง จิตร ภูมิศักดิ์

technorati tags: , ,


3 responses to “Sulak Sivaraksa says ‘NO’ to Kukrit Pramoj”

  1. พึงรู้นะเนี่ยว่าแก่ไม่ถูกกัน

  2. สุลักษณ์เป็นปัญญาชนคนหนึ่งก็จริง แต่แกเป็นคนเดินดิน ไม่ใช่ someone เลยขึ้อิจฉา, แอนตี้Royalisจนแก่ก็ยังเดินเดินเหมือนเดิมในขณะที่คุณชายคึกฤทธิ์ สร้างคุณูปการ ทั้งด้านการเมืองที่มีประสิทธิภาพ, ทั้งศิลปะ, วรรณกรรม ไหนจะเรื่องเมตตา การทำบุญสุนทาน ความจงรักภักดีต่อในหลวงทั้ง ร.๘ และ ร.๙คุณสุลักษณ์ทำอะไรได้บ้างครับ? ถามหน่อย..นอกจากอวดเก่งไปวันๆ จนหัวหงอกการกระทำของแกแสดงถึงอาการป่วยทางจิตและมีปัญหาเรื่องอคติรุณแรง ไม่แพ้ที่คุณกล่าวหาคุณชายคึกฤทธิ์ หรอก ไม่งั้นคงไม่มานั่งจองเวร คอยคัดค้านเขาเรื่อยไป ปัญหามันคือเรื่องส่วนตัวที่ไม่ลงรอยกันตั้งสี่สิบห้าสิบปีที่แล้วมากกว่าถามหน่อยว่าสุภาพบุรุษควรแสดงความเกลียดชังผู้วายชนม์ ด้วยอคติ เพียงนี้เทียวหรือ?ผมยืนยันว่า คึกฤทธิ์ เหมาะสมมากกว่าปรีดี ที่คุณเสนอหลายร้อยเท่านัก ดูแต่ตรรกเหตุผลในการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมของคุณสุลักษณ์ ก็ดูมีปัญหาแล้ว—จากคนกรุงเทพรุ่นหลานกำลังอยากถอนหงอกมึง

  3. ถ้าจะพูดถึงการยอมรับในเวทีนานาชาติ(ที่ไม่ใช่ใน "ประเทศขี้อิจฉา")สุลักษณ์ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ที่เขาเรียกกันว่าเป็น "Alternative Nobel Prize" ซึ่งมอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การพัฒนาอย่างยั่งยืน สุขภาพ การศึกษา และสันติภาพสุลักษณ์ได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 1995 และจนถึงปัจจุบัน (2009) ก็ยังเป็นคงเป็นคนไทยเพียงคนเดียว ที่ได้รับรางวัลนี้ส่วนเรื่องใครจะเห็นว่าใครเหมาะสม ก็แล้วแต่จะมองครับซึ่งก็ควรจะเปิดรับต่อการวิพากษ์ด้วยไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.