Science Culture in Thailand – Translators as Cultural Workers


นักแปล คือ ผู้ทำงานทางวัฒนธรรม (ผมยืมมาจากชื่อหนังสือ “ครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรม” – Teachers as Cultural Workers) เป็นผู้เชื่อมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเข้าหากัน
ไม่ว่าจะแปลจากภาษาฝรั่งเศสไปเป็นเยอรมัน เยอรมันไปเป็นอังกฤษ หรือภาษาเฉพาะกลุ่มไปเป็นภาษาทั่วไป (จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่“นักแปล” ทุกคนที่แปลนั่นแหละ – การแปล คือ กิจกรรมทางวัฒนธรรม จะว่าแบบนี้ก็ได้)

สำคัญนะครับ แนวคิดจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ไหลเวียนหากันนี่ มันทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ของแนวคิด และเปลี่ยนแปลงโลกในทุกยุคสมัย แนวคิดปรัชญาธรรมชาติจากยุครู้แจ้งของสกอตแลนด์ พวกฮูม ไหลเข้าสู่เยอรมนี แนวคิดสัญญวิทยาจากฝรั่งเศส ไหลไปสู่เยอรมนี (จากที่ก่อนหน้านี้งานของพวกนิทเช่หรือคานท์ ก็ไปมีอิทธิพลต่อแนวคิดของฟูโกต์) แนวคิดของมาร์กซจากเยอรมนีไหลกลับไปสู่อังกฤษ (จากที่ก่อนหน้านี้แนวคิดของ อดัม สมิธ ก็ไหลไปมีอิทธิพลต่อแนวคิดของมาร์กซ) การไหลเวียนพวกนี้มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิทยาการทั้งนั้น มันมีการนำเข้าและปรับใช้เกิดขึ้นตลอดเวลา เฟืองเล็ก ๆ ที่สำคัญในกระบวนการนี้ คือการแปลครับ

การแปลข่าววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ยิ่งได้ลองทำแล้วยิ่งได้รู้ว่ามันยาก
เอาแค่เรื่องเดียวคือเรื่องศัพท์เทคนิค ที่พอไปค้นความหมายมาแล้ว เข้าใจว่ามันคืออะไรแล้ว ก็ยังต้องค้นต่อไปว่า เขาเรียกว่าอะไรในภาษาปลายทาง เช่น carbon nanotube ภาษาไทยเรียก ท่อคาร์บอนนาโน, nanowire เรียก ลวดนาโน หรือจะใช้ตัวสะกดแบบไหน ซึ่งค้นในพจนานุกรมก็ไม่มี ต้องไปหาแหล่งอ้างอิงจากที่อื่น และลำพังแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นไทยเองก็ลำบากอยู่แล้ว ถ้าคิดจะสื่อสารกับคนทั่วไป ก็ต้องพยายามแปลไทยเป็นไทยอีกทีด้วย

มีโอกาสได้ลองในเว็บ foosci.com หลังจาก moleculark เอ่ยปากชักชวนทุก ๆ คน

ลองทำ ๆ ดูแล้ว ก็พบว่า เรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้เป็นเรื่องยากจริง ๆ (นี่แค่แปลจากแหล่งที่เขาไปหามาให้แล้วนะ ยังไม่ได้ต้องออกไปหาข่าวมาเขียนเอง) แม้จะรู้ว่าจะพูดอะไรแล้วก็เถอะ มันยังมีเรื่องว่าจะพูดยังไง แบบไหนอีก ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจ แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ยังไงก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราอยากจะสร้าง “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” แบบที่ไม่ใช่แค่ “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ไฮเทคาถาปาฏิหารย์”)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็เห็นความสำคัญตรงนี้ เลยตั้ง ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย (ThaiSMC) ขึ้นมาเป็นสะพานระหว่างนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเหตุผลไม่งมงาย โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การให้ข้อมูลและอบรมนักข่าวจากสื่อต่าง ๆ ให้เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น และพยายามผลักดันเพื่อเพิ่มพื้นที่ข่าววิทยาศาสตร์ในสื่อ (แข่งกับพื้นที่ขอหวยงูสองหัว หรือมนุษย์ต่างดาวถุงลดไข้)

ของที่ทำดี ๆ ตอนนี้ ผมเห็นมีของ ผู้จัดการออนไลน์ (วิทยาศาสตร์) ครับ อัพเดทสม่ำเสมอ มีแบ่งหมวดหมู่ มีคอลัมน์พิเศษ ของเจ้าอื่นสู้ไม่ได้เลย (เพื่อนผมบอกว่าข่าวของผู้จัดการดีทุกด้านน่าอ่าน ยกเว้นอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง) ที่เด่นอีกอันเป็นของ สำนักข่าวไทย (ข่าวเทคโนโลยี-วิทยาศาสตร์) โดยรวมสู้ของผู้จัดการไม่ได้ แต่มีวิดีโอคลิปให้ดูครับ เหมือนดูทีวีเลย เด่นกว่าตรงนี้ คือเรื่องบางอันมันยาก เห็นภาพเคลื่อนไหวแล้วเข้าใจง่ายกว่า ส่วนของ กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม: วิทยาศาสตร์) นั้นข่าวน้อยมาก นาน ๆ มาที ประชาไท นี่ยิ่งไม่มีเลย

นอกจาก ThaiSMC แล้ว งานด้านการให้ความรู้วิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไป ก็มี ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ซึ่งก็เป็นอีกหน่วยงานในสวทช. ดูแลอยู่เหมือนกัน

งานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้ ปัจจุบัน สวทช. เองก็สนับสนุนการจัดทำนิตยสารวิทยาศาสตร์อยู่หลายหัว เช่น “สนุกวิทย์” และ “Science in Action” ทำได้ดีเลยล่ะ น่าอ่าน แต่ปัญหาคือ ถ้าผมไม่ไปซื้อที่สวทช. ก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน มีปัญหาเรื่องการจัดจำหน่ายจริง ๆ ครับ มันก็เลยกระจายอยู่แค่ในวงจำกัด ไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ (ถ้าหาซื้อไม่ได้ สามารถอ่านออนไลน์ได้ทั้งคู่ครับ – แต่ก็ต้องมีอินเทอร์เน็ต)

น่าเสียดายนะครับ นิตยสารดี ๆ เหล่านี้ รวมถึงหนังสือหลาย ๆ เล่มของสวทช.ด้วย ที่พิมพ์ออกมาแล้วก็กองอยู่ในร้านหนังสือสวทช. ไม่ได้มีโอกาสไปถึงมือคนที่สนใจ ผมเพิ่งได้หนังสือ “ท่องแดนวิทยาศาสตร์” มาเมื่อสัปดาห์ก่อน คนเขียนคือ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ เขียนหนังสือดีครับ อ่านเพลินมาก ผมเพิ่งรู้ว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นลุงของอ.ยงยุทธ ก็จากเล่มนี้ … เล่มนี้ผมเคยเห็นแค่สองที่ครับ งานสัปดาห์หนังสือ (กรุงเทพ) กับที่ร้านหนังสือสวทช. (ปทุมธานี) ที่อื่นไม่เคยเห็นเลย ไม่รู้ว่าจังหวัดอื่นจะมีไหม น่าเสียดายนะครับ

เคยอ่านจากไหนซักที่ ไม่ แทนไท ก็ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นี่แหละ บอกว่าตัวเองอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เอาใจช่วยครับ ทำได้ดีแน่ เขียนหนังสือเก่ง ๆ แบบนั้น

จะส่งเสริม วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ก็ต้องหาคนมาทำงานด้านวัฒนธรรมครับ ทำเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้


ลิงก์ไม่เกี่ยวข้อง: Translate.eipcp.net Beyond Culture: The Politics of Translation โครงการวิจัยของ European Institute for Progressive Cultural Policies

technorati tags:
,
,
,


7 responses to “Science Culture in Thailand – Translators as Cultural Workers”

  1. พยายามจะแปลเป็นไทยมาที่สุดนะ แต่ปัญหาคือคำไทยที่แปลมาจะไม่รู้จักเลย บางทียิ่งอ่านแล้วงง ผมว่าดีมากเลยที่มีคนสายอื่นอย่างคุณอาทมาช่วย เพราะอย่างผมอ่านแล้วบางทีก็รู้ว่ามันคืออะไร แต่คนทั่วไปอาจไม่รู้ เลยมีคุณอาทมาช่วยแปลให้คนทั่วไปเข้าใจได้อีกทีหนึ่ง ส่วนใหญ่คำไหนที่คิดว่าแปลไทยได้ก็จะแปลเลย ส่วนที่คิดว่าแปลแล้วงงก็จะติดไว้ก่อนปล สงสัยคงได้สร้าง Grossary แน่เลย

  2. molecularck: บางทีก็ลังเลเหมือนกัน คำต่าง ๆอย่าง solid-state memory จะแปล solid-state ไงดี เห็นมีชื่อวิชา solid-state physics แปลไว้ว่า ฟิสิกส์สถานะแข็ง ก็เลยแปลเป็น หน่วยความจำสถานะแข็ง มันแปลก ๆ ไม่คุ้นเลย แต่ก็คิดว่าพยายามจะแปล ให้มันเห็นรูปคำให้มากที่สุด เพราะถ้าทับศัพท์ไปเลย มันก็จะไม่เห็นรูปคำ ซึ่งมันมีนัยความหมายอยู่(glossary จ้า)

  3. ภาษาอังกฤษผมช่างอ่อนแอจริง เรื่องคำแปลนี้ เอาเป็นว่าแปลไทย ใส่คำอังกฤษเพื่อไม่ให้งงดีไหม ไปเปิด google group foosci ไว้ปรึกษากันดีกว่า

  4. ผมพยายามจะใส่วงเล็บคำภาษาต้นทางเอาไว้เหมือนกัน เพื่อให้มันเห็นคู่กันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งคุ้นคำไทย

  5. เรื่องคำแปลให้ใช้ไปเลยครับ ยกตัวอย่างนะครับsampling rate อาจารย์ลาดกระบังใช้คำว่าอัตราการชักข้อมูล ซึ่งดีมาก ๆ นะครับ สั้นได้ใจความsliding mode อาจารย์จุฬาใช้คำว่า โหมดลื่นไถลก็ดีอีก งานวิทยาศาสตร์มันแก้ไขได้อยู่แล้ว ใช้ไปก่อนวงเล็บไว้ีที่คำแรกพอ พอเจอคำที่ดีกว่าก็มาเปลี่ยนก็ได้ เรื่องหนังสือแนววิทยาศาสตร์เนี่ย สมัยเด็ก ๆ มีของซีเอ็ดที่ค่อนข้างหนัก ตอนหลังลดระดับมาเป็น update ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า ทางคณิตศาสตร์ก็มี mymath หนังสือของ สวทช เข้าใจว่าเขาทำในรูปแบบกึ่งวารสาร คล้าย ๆ IEEE magazine มังครับ เลยไม่เป็นวงกว้างมาก แต่ตอนก่อนมาเรียนก็ซื้อหนังสือพวกนี้ได้ตามสถานีรถโดยสารนะครับ เขาคงไม่ได้พิมพ์จำนวนเยอะ พิมพ์เยอะก็ขายไม่ออก นักวิชาการบ้านเราก็รู้อยู่ว่ามีสาขาไหนบ้าง อย่าง ศ. สุทัศน์ ยกส้าน พูดเนี่ย นักข่าวที่ไหนจะสน จริง ๆ ท่านน่ายกย่องและน่าฟังเรื่องที่ท่านพูดมาก

  6. พ่อหมาอ้วน: เมื่อก่อนผมตื่นตาตื่นใจกับอัพเดทมาก ๆ ทั้งบทความแปลวิทยาการใหม่ ๆ ข่าวคราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นิยายวิทยาศาสตร์ ไปจนถึง อุปกรณ์ออกใหม่แปลก ๆ แต่เดี๋ยวนี้อ่านแล้วไม่ค่อยได้ความรู้สึกนั้นแล้ว – ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า ใครที่เปลี่ยนไป ผมอาจจะห่างอัพเดทไปนานพอสมควรด้วยก็เป็นได้ (อัพเดทเองก็หายไปเป็นช่วง ๆ บางทีก็ควบเดือน ตามสภาพเศรษฐกิจ)นิตยสารของสวทช.ที่เห็นขายตามแผง "ทั่วไป" (ก็ไม่ค่อยทั่วไปนัก แต่อย่างน้อยซีเอ็ดจะมี) จะเป็นของหน่วยงานหลักของสวทช. อย่างของเนคเทค เอ็มเทค ซึ่งอย่างที่พ่อหมาอ้วนว่า จะกึ่ง ๆ วิชาการ แต่นิตยสารส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีกลุ่มเป้าหมายอย่างเด็กมัธยมอย่าง สนุกวิทย์ กับ Science in Action ที่ยกตัวอย่าง ผมกลับไม่เจอครับ – หรือเขาอาจจะแจกไปตามห้องสมุดโรงเรียนก็เป็นไปได้ way ฉบับล่าสุด (ฉบับ 15) มีสัมภาษณ์ ดร. สุทัศน์ ยกส้าน กับ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ แบบยาว ๆ น่าอ่านมาก เป็นแบบสบาย ๆ แต่ก็มีแง่มุมวิทยาศาสตร์อยู่ (บรรณาธิการร่วมรับเชิญของฉบับนี้คือ ทินกร หุตางกูร นักเขียนผู้มีผลงานเรื่องสั้นแฝงความรู้ดี ๆ มากมาย อย่าง โลกของจอม และ ปาลีกับศิลปะ)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.