“ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ฉันจะรักษาสิทธิ์ในการพูดของคุณด้วยชีวิต”
(I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it)
— Evelyn Beatrice Hall’s The Friends of Voltaire
เว็บไซต์ SET on the Rock ( http://www.setontherock.com/ )
ซึ่งเป็นเว็บไซต์แลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ถูกบล็อก (หรือปิด)
โดยมีรายงานว่าเข้าใช้ไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. จนถึงขณะนี้ (28 พ.ค.) ก็ยังไม่สามารถเข้าใช้ได้
โดยเว็บเบราว์เซอร์จะแจ้งว่า “Server not found” หรือ “No such domain”
สาเหตุที่ถูกบล็อกนั้น ผู้ใช้พันทิป.คอมรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า เว็บไซต์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่ที่ถูกปิดคาดว่าเนื่องจากในเว็บไซต์นั้น มีลิงก์ไปยังสถานีวิทยุออนไลน์ที่กระจายเสียงอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร (ดูข่าว: วิทยุชุมชนสามแห่งถูกปิด หลังออกอากาศสัมภาษณ์ทักษิณ)
สถานการณ์การปิดกั้นเว็บนั้นหนักหน่วง กว้างขวาง และชวนสงสัยมากขึ้น
ล่าสุด ในวันนี้ (28 พ.ค.) เว็บไซต์ DuoCore ( http://duocore.tv/ ) ก็ถูกบล็อก/ปิดเช่นกัน (เปลี่ยนทางไปยังหน้า “ดวงตา” ของกระทรวงไอซีที, ขึ้นข้อความ “ขออภัย เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม …”)
DuoCore เป็นรายการโทรทัศน์ออนไลน์ของไทย นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในโลกไอที อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใดเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากว่า
ไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บล็อกทุกอันที่ใต้โดเมน .blogspot.com ได้
โดยผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ ซีเอสล็อกซ์อินโฟ เข้าใช้งาน blogspot ไม่ได้ตั้งแต่ราววันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 23 พ.ค.
ส่วนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ ทีโอที จนถึงขณะนี้ (28 พ.ค.) ยังเข้าใช้งานเว็บดังกล่าวไม่ได้
โดเมน .blogspot.com เป็นโดเมนของผู้ให้บริการเว็บล็อก Blogger ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งของบริษัท Google
Blogger เป็นบริการเว็บล็อกอันดับต้น ๆ ของโลก และได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้คนไทยเช่นกัน
ตัวอย่างของเว็บล็อกที่ใช้บริการของ Blogger
เช่นเว็บล็อก Theppitak’s blog ( นักพัฒนาซอฟต์แวร์เสรี http://thep.blogspot.com/ ), Siam Blogspot ( แนะนำการใช้เว็บล็อกเพื่อธุรกิจ http://siamblogspot.blogspot.com/ ), ฅนวันเสาร์ ไม่เอาเผด็จการ ( กลุ่มรณรงค์ทางการเมือง http://saturdayvoice.blogspot.com/ ), หรือ Bangkok Pundit ( รายงานข่าวสารเมืองไทยเป็นภาษาอังกฤษ http://bangkokpundit.blogspot.com/ ) — รวมทั้ง bact.blogspot.com แห่งนี้
คุณสามารถแจ้งสถานะการเข้าใช้บริการเว็บต่าง ๆ ได้ที่เว็บ FACT (กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย)
และอย่าลืม ลงชื่อสนับสนุนการต่อต้านการเซ็นเซอร์
“หน้าที่ของพลเมือง คือการเปิดปากของเขาอยู่ตลอด”
(The job of a citizen is to keep his mouth open.)
— กึนเทอร์ กราส, นักเขียนรางวัลโนเบล
มีรายงานจากเพื่อนเช่นกัน
ว่าเว็บไทยจำนวนมากถูกปิดเร็ว ๆ นี้ ด้วยเหตุผลเพียงว่า
มีลิงก์ไปหาเว็บวิทยุออนไลน์อันนั้น
นี่จะไม่ใช่การบล็อกเว็บธรรมดา
แต่จะเป็นการทำให้เหมือนกับว่า ไม่มีเว็บนั้นอยู่เลย (ไม่ใช่ว่า มีอยู่ แต่เข้าไม่ได้)
(ในโลกอินเทอร์เน็ต, ไม่มีลิงก์ไปหา = ไม่มีตัวตน)
ข้ออ้างมากมายที่ว่า ทำไปเพื่อ “ศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดี” ดูจะสวนทางกับพฤติกรรมการบล็อกเว็บที่เกิดขึ้นจริง แม้กระทั่งเรื่อง “ความมั่นคง” ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็น ความมั่นคง ของ ใคร ?
สำหรับเว็บที่ถูกบล็อก แต่ยังไม่ถูกปิดทิ้ง สามารถเข้าได้โดยใช้โปรแกรม ‘มุด’ ต่างๆ เช่น UltraSurf, Tor, OperaTor (Opera + Tor), TorPark (Firefox + Tor)
ตัวที่ใช้ง่าย ๆ ในตระกูล Tor คือ OperaTor, และแนะนำว่าควรจะมี UltraSurf ติดตัวไว้ด้วย ใช้คู่กัน เผื่ออันนึงใช้ไม่ได้ อีกอันอาจจะได้
ติดตั้ง Tor ใน Windows, ติดตั้ง Tor ใน Linux (Ubuntu)
[ลิงก์ FACT]
technorati tags:
Internet censorship,
Thailand
One response to “Beauty is in the Eye of the Minister”
ทนไม่ไหว แล้ว, เราทำได้แต่แค่ ประท้วง ไปวันๆ อย่างนี้เหรอ.ทำไม จะเอา กม. มาเล่นงานพวกชอบ block พวกนี้ ไม่ได้เลยเหรอ.ทำไม คดี มันช้าหยั่งงี้วะ, เมื่อไหร่จะ เห็นผล ออกมาชัดเจนซักที.