“ ปัญหาของการเมือง มันไม่ใช่ปัญหาของการมีผู้นำที่ดีหรือผู้มีคุณธรรม หรือการที่มีใครบางคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองขณะนี้ บอกว่านายกฯ คนนี้เป็นคนดี และทุกคนเชื่อว่าเป็นคนดี… นี่ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย นี่ไม่ใช่โลกการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
การที่คุณบอกว่าคนๆ หนึ่งเป็นคนดีแล้วจบ คือเป็นคนดีแล้วคุณต้องดีตาม… มันไม่ใช่สาระของกิจกรรมการเมือง มันไม่ใช่เรื่องเอาคนดีมาปกครองประเทศ แต่คือการตรวจสอบดุลอำนาจ การ Check and Balance [ตรวจสอบและถ่วงดุล] อำนาจทางการเมืองต่างหาก และนั่นคือเงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้ ”
“ ทำไมประเด็นคุณธรรมความดี จึงไปกันได้กับสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประธานองคมนตรีออกมารับรองว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นคนดี แล้วทุกอย่างจบ ”
ข้างบนนั่น คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการด้านปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุยกับนักปรัชญา: เมื่อ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง
มีหลายข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ ถ้ามีเวลาก็อยากให้ลองอ่านกัน (มันค่อนข้างยาว)
ผมชอบตอนหนึ่งมาก เพราะคิดว่ามันอธิบายได้ดี ว่าทำไมจึงเกิดกรณีขายหุ้นชินคอร์ปแบบไม่เสียภาษีได้ (รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่เราเห็นก็เห็นอยู่ว่ามันไม่ควร แต่ก็ยังมีคนทำกันได้ ..เพราะมันไม่ผิดกฎหมายไง ไม่ใช่แค่ทักษิณคนเดียวที่ทำลักษณะนี้ มันยังมีอีกเยอะ เพียงแค่มันไม่ใหญ่เท่าไม่ดังเท่า)
[คำถาม] การมองการเมืองแบบขาวดำ หรือโลกทัศน์ดีเลว ไม่สะท้อนว่าสังคมไทยมีระดับศีลธรรมสูงหรอกหรือ
ไม่ได้สะท้อนอะไรเลย ผมคิดว่าปัญหาศีลธรรมในสังคมไทยคือ การมีข้อบังคับมากกว่าหลักปฏิบัติ มีข้อบังคับห้ามโน่นห้ามนี่ตลอดเวลาสิ่งที่น่าสนใจคือ เวลาที่คนไทยสอนศีลธรรมหรือสอนเนื้อหาทางศาสนา คุณเน้นศีล [ข้อห้าม] มากกว่าธรรม เวลาที่คุณห้าม นั่นหมายความว่า อะไรที่ไม่ถูกห้าม คุณก็ทำไป คุณทำได้ ในขณะที่ธรรม ในความหมายของแนวทางปฏิบัติ กลับไม่ได้ถูกสอน ไม่ได้บ่มเพาะให้กับสังคม
ปัญหาของสังคมไทยอย่างหนึ่ง ที่ผมกระอักกระอ่วนมากที่สุด ก็คือว่าเมื่อคุณพบปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็ออกกฎข้อบังคับ สิ่งที่ตามมาคือ คนก็หาช่องว่างจากกฎข้อบังคับ
ผมเชื่อว่าสังคมที่ดี หรือสังคมประชาธิปไตยนั้น Rule of Law หรือ หลักนิติรัฐ มีความสำคัญ แต่ Rule of law มันสร้างแนวทางในการปฏิบัติหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตในสังคม ให้มีความสงบสุขอย่างไรต่างหาก
เมื่อสังคมไทย Abuse rule of law มอง Law ในแง่ของการบังคับใช้ ข้อห้าม ตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างหนึ่งก็คือ กรณีการแต่งกายชุดนักศึกษา ถ้าว่านักศึกษาแต่งชุดผิดระเบียบไหม เขาก็ไม่ผิด แต่ในการแต่งกายชุดนักศึกษา เขาอาจจะมีช่องว่างที่เขาจะแต่งกายในอีกลักษณะหนึ่งที่คุณไม่ต้องการ แต่คุณทำอะไรได้
ปัญหาคือคุณทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าเขาถูกกฎทุกอยาง แต่ช่องว่างนั้นน่ะ เพราะคุณให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ มากกว่าการสร้างแนวทางปฏิบัติ
Rule of law จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อหลักนิติรัฐได้สร้างแนวทางในการปฏิบัติร่วม กัน มากกว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ ผมคิดว่านี่คือปัญหาอีกส่วนหนึ่งทีเกิดขึ้นในครรลองประชาธิปไตย
ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐาน กลับไม่มีความสำคัญ ถูกฉีกได้ตลอดเวลา กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณมีอะไรที่คุณเขียนไว้ใน แง่บทบัญญัติเท่านั้น แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ ครรลอง หรือ กติการ่วมกัน ซึ่งเป็นกติกาที่ทุกคนในสังคมยอมรับเป็นหลัก
เท่าที่ผมเข้าใจ ประเทศจำนวนมากมีรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติน้อยกว่าสังคมไทยและมีอายุการ ใช้งานที่ยืนนานมากกว่าสังคมไทย สิ่งเหล่านั้นที่เขาทำได้ ไม่ใช่ว่ากฎหมายเขาดีกว่าเรา แต่กฎหมายได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของคนในสังคม ผมอยากเห็นสังคมไทยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือเรียนรู้รัฐธรรมนูญในฐานะแนวทางปฏิบัติร่วมกัน มากกว่าที่คุณเอามาตรวจสอบว่า คนนี้ทำผิดหรือเปล่า มันกลายเป็นข้อบังคับ และในท้ายที่สุดแล้วมันเหมือนกับเสือกระดาษ เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว และท้ายที่สุดแล้วก็ถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา
มีคำพูดเก่าแก่ ประมาณว่า “เพื่อนบ้านที่ดี ดีกว่า รั้ว” ผมคิดว่ามันคล้าย ๆ กัน