เอดูเขต


มิตรสหายหลายคนมีปัญหากับสิ่งที่พวกเขาเรียกร่วมกันว่า “woke” (ส่วนจะมีความหมายร่วมกันแค่ไหน ผมเองก็ไม่ทราบ) บางคนก็ไม่ได้ถึงขนาดรังเกียจ แต่ถ้าไม่มีธุระด้วย เลี่ยงได้ก็เลี่ยง เพื่อความสงบสบายของชีวิต

นึกไปก็ทำให้รู้สึกว่า สักสิบปีนิดๆ ที่แล้ว สมัยเพิ่งเริ่มเรียนโทที่ไทย ข้าพเจ้าก็น่าจะนับเป็นอะไรที่เรียกว่า “woke” ได้ (ซึ่งไม่รู้ว่าความหมายเดียวกับมิตรสหายแค่ไหน) หรือตอนนี้อาจจะยังเป็นอยู่ด้วยซ้ำ

มิตรสหายร่วมรุ่นทั้งที่เรียนในชั้นเรียนเดียวกันและมิตรสหายโดยทั่วไปจากคณะอื่นหรือที่พอจะเห็นงานกันในพื้นที่ออนไลน์ มีลักษณะร่วมกันในตอนนั้นคือ ความตื่นเต้นกับสำนักคิด ทฤษฎี วิธีวิทยา ข้อค้นพบ เรื่องเล่าจากสังคมที่อยู่ไกลออกไป ฯลฯ ที่ได้เริ่มรู้จักกันในช่วงนั้น

“ความตื่น” นี้ นำไปสู่ความพยายามลองใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการคิดกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยรอบตัว การแลกเปลี่ยนบนเว็บบอร์ดและการผลิตงานเขียนบนบล็อกส่วนตัว บล็อกกลุ่ม และสื่อออนไลน์อย่างประชาไท มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นไปอย่างคึกคัก ยังไม่นับงานเสวนาต่างๆ ทั้งวงปิด วงเปิด ทั้งบนโต๊ะอาหารและบนเวที

การใช้คำใหญ่ๆ การอ้างถึงมโนทัศน์หรืออะไรที่ค่อนไปทางนามธรรมเพื่อจัดกลุ่มสิ่งของหรือปรากฏการณ์ การพิมพ์/พูดไทยคำนึง วงเล็บภาษาต่างประเทศอีกคำนึง (ถ้าจะให้ดีควรเป็นคำฝรั่งเศส [français] หรือเยอรมัน [Deutsch] เก๋ไปอีกขั้นคือรัสเซีย [русский язык]) การอ้างถึงสำนักคิดของนักปรัชญาคนนั้นคนนี้เพื่อจัดประเภทสายธารความคิดหรือแนวของข้อถกเถียง

ซึ่งหลายครั้งก็มั่วซั่วไม่น้อย กลับไปอ่านที่ตัวเองเขียนส่งเป็นการบ้านก็จะแบบ กูเขียนอะไรไปวะ

แต่ “คนรุ่นผม” ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนอายุไล่ๆ กัน หากหมายถึงคนที่มีโอกาสก่อรูปความคิดขึ้นมาในช่วงใกล้ๆ กัน มีความโชคดีอยู่หลายอย่างในช่วงเวลานั้นคือ:

หนึ่ง ชีวิตมันช้ากว่าตอนนี้ หมายถึงจังหวะการโต้ตอบที่ช้ากว่าเรียลไทม์อยู่มาก

สอง แพลตฟอร์มที่เราใช้มันเอื้อให้เราสื่อสารกันด้วยข้อเขียนขนาดค่อนข้างยาว คำอธิบายและการยกตัวอย่างสามารถถูกมัดรวมอยู่ในหีบห่อเดียวกับข้อเสนอได้เลย

สาม เราอยู่ในแวดวงไม่ได้ไกลจากกันมาก มีทุนทางวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกัน ซึ่งช่วยลดความเข้าใจผิดในการสื่อสารลงไปได้บ้าง

และ สี่ คือการที่การโยนไอเดียต่างๆ นั้นอยู่ในบริบทของการศึกษา (ทั้งในระบบและนอกระบบ) ซึ่งการถามเพื่อทบทวนคุณค่า หรือการลองเสนออะไรประหลาดๆ หรือดูโง่ๆ มันเป็นเรื่องที่ถูกอนุญาตให้ทำได้ หรือเป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องทำด้วยซ้ำ

ลองตัดประโยคนึงมาจากข้อเขียนของใครสักคนในรุ่นนั้น มาอ่านในตอนนี้ มันต้องมีขำกันบ้างล่ะ

แต่มันสนุก มันคือการมีโอกาสได้ลอง

ความโชคดีอีกอย่างคือ ครูที่เราได้เจอในตอนนั้นก็ช่วยขีดเส้นใต้ ขีดฆ่า วงปากกาแดง เขียนเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ กระทั่งแก้ภาษาให้เป็นย่อหน้าๆ แดงเถือกไปทั้งหน้ากระดาษ

หรือบางทีก็พูดหน้าเรียบๆ กับเราว่า “เขียนแบบนี้ไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้”

(แล้วพวกเราก็ไปนั่งปรับทุกข์กันที่ร้านข้าวต้ม)

มันเป็นการทดลองที่มีคนช่วยแนะ แล้วเราก็ไปได้เร็วขึ้นจากคำแนะนำหรือข้อวิจารณ์เหล่านั้น ไม่ต้องงมเอง ไม่ต้องเสียเวลาหลงทางนานๆ เราเรียนรู้ระหว่างลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติแบบงงๆ นี่แหละ และอีกวิธีที่ครูของเราช่วยให้เราเรียนได้เร็วขึ้น ก็คือการที่เขาทำให้เห็นว่าครูก็ยังเป็นนักเรียนได้ เพื่อให้เราลองเป็นครู

แต่นั่นอาจจะเป็นความหรูหราหรืออภิสิทธิ์สำหรับคนรุ่นเราเท่านั้น?

เพราะถ้าย้อนกลับไปพิจารณา “ความโชคดี” หรือลักษณะ 4 ประการของบริบทที่กล่าวมาข้างต้น ที่คนรุ่นผมผ่านกันมาในช่วงที่พวกเราก่อรูปความคิด มันตรงข้ามกับทวิตเตอร์ (ที่ถูกมองว่าเป็นฐานที่มั่นของชาว woke) หมดเลย

ทวิตเตอร์ และวิธีที่เราใช้และอยู่กับพื้นที่สื่อสารตอนนี้โดยทั่วไป มันเรียลไทม์ มันสั้น มีคนหลากหลายปนเป และไม่ได้ผลัดกันสวมบทนักเรียนและครู (อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ไม่ดีด้วยตัวเองมันเอง มันก็มีข้อดีของมัน)

สภาพแวดล้อมมันไม่ค่อยสนับสนุนให้ช่วยกันก่อรูปความคิดได้ และเราก็ไม่มีแรงด้วยแหละ (คือมันต้องมีวิธีแน่นอน แต่เราไม่มีแรงหรือไม่มีใจไปทำความเข้าใจและทดลองหาวิธีกับมันแล้วไง)

ถ้าไม่มีคนจ้างหรือไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นพันธกิจของชีวิต จะมีใครสักกี่คนในพวกเราที่จะอยากรับ “ภาร(ะ)กิจ” ในการร่วม “เอดูเขต” ชาว woke (สมมติว่าเราคิดว่ายังเอดูเขตกันไปกันมาไหว) รถคันไหนบนทางด่วนทำอะไรงกเงิ่นก็ด่าก่อนเลยละกัน ลืมว่าคนสมัยนี้อาจไม่เหลือถนนในหมู่บ้านหรือเว็บบอร์ดให้ไปหัดขับแบบสมัยเราแล้ว ทุกคนต้องมาหัดขับบนถนนสาธารณะกันหมด (สาธารณะมากสาธารณะน้อย ก็แล้วแต่จำนวนรีทวีตหรือมิตรรักนักแคป)

แต่นั่นก็อาจจะอธิบายสภาพโดยทั่วไปของคนรุ่นผมก็ได้มั้ง ว่า โอเค กูพอแล้วกับโลก ไม่หวังอะไรมากไปกว่านี้ ไม่มีแรงไปวงปากกาแดงหรือเขียนคอมเมนต์อะไรให้ใครแล้ว นับจากนี้ขอใช้ชีวิตอย่างสงบ ซึ่งก็สมควรได้รับสิทธิ์นั้น พวกมึงก็เหนื่อยกันมาเยอะแล้ว

ส่วนมิตรสหายท่านใดที่อยากจะส่งต่อโอกาสที่เคยได้รับมา ก็ขอให้มีแรง กินน้ำ กินขนม ทำใจร่มๆ


โพสต์ครั้งแรกบนเฟซบุ๊ก

, ,

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.