มิตรสหายสายวารสารศาสตร์และกฎหมายสื่อหลายคนเหนื่อยกับคำว่า “ข่าวปลอม” หรือ fake news มาหลายปี เพราะพอใช้กันอย่างลำลองไม่เคร่งครัด ไอ้นั่นก็เฟค ไอ้นี่ก็เฟค อะไรๆ ที่ “ไม่เป็นความจริง” ไม่ว่าจะ “ไม่จริง” เพราะ:
- เข้าใจผิด
- พูดผิด พิมพ์ผิด สะกดผิด
- ตั้งใจทำปลอม กุขึ้น
- ไม่ตรงกับที่เคยรับรู้
- ยังหาข้อสรุปไม่ได้ หรือไม่สามารถหาข้อสรุปได้
- มันพูดละเอียดขนาดนั้นหรือเหมารวมขนาดนั้นไม่ได้
- เคยจริงแต่ไม่จริงอีกต่อไปแล้ว
- จริงเกือบหมดแต่มีอยู่บางจุดที่ไม่จริง
- ทศนิยมตำแหน่งที่ห้าคลาดเคลื่อนไป
- จะจริงหรือไม่ขึ้นกับเงื่อนไขแวดล้อม
- มันเป็นเรื่องที่ไม่จริงโดยตัวมันเองและก็ได้แสดงโดยรูปแบบว่านี่คือเรื่องไม่จริง (เช่น นิทาน รูปล้อเลียน)
- ฯลฯ
ก็ราวกับว่าจะเป็น “ข่าวปลอม” ไปเสียหมด
และเนื่องจากคำว่า “ปลอม” นี้ มีความหมายโดยนัยถึงความทุจริตด้วย มันก็อันตรายอยู่ ในแง่สร้างความชอบธรรมให้ผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการ “เพื่อรักษาความจริง”
ซึ่งพอเป็นแบบนี้มันเลยซีเรียส เพราะการใช้คำว่า “ข่าวปลอม” แบบไม่ระวังนี่ มันเป็นการแปะป้ายความ “ทุจริต” ให้กับกิจกรรมจำนวนมากที่ไม่ได้ทุจริต และทำให้กิจกรรมเหล่านั้นตกอยู่ในอันตรายโดยไม่จำเป็นและโดยไม่เป็นธรรมน่ะ
(กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยังถูกนำมาใช้จัดการควบคุมเรื่องทำนองนี้ โดยอาศัยการตีความคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” อย่างในมาตรา 14)
—
วงวิชาการและวิชาชีพวารสารศาสตร์ ก็เลยพยายามจะใช้คำที่ชัดเจนขึ้น เช่น ถ้าเป็นประเด็นเจตนาที่จะทำให้เข้าใจผิด (deceiving) ก็จะมีคำเพื่อแยกระหว่าง
1) ข้อมูลที่ไม่จริงหรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยผู้เผยแพร่อาจมีหรือไม่มีเจตนาทำให้เข้าใจผิดก็ได้ (และผู้เผยแพร่อาจเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ามันจริงก็ได้) หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “misinformation” กับ
2) ข้อมูลที่ไม่จริง และผู้เผยแพร่ก็รู้ว่ามันไม่จริง แต่ตั้งใจเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจผิดหรือมุ่งจะให้เกิดความเสียหาย – “disinformation”
3) ข้อมูลที่*ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง* แต่ถูกใช้ในลักษณะที่ตั้งใจจะทำให้เกิดความเสียหายหรือความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล – “mal-information” (เช่นการบอกว่าคนนี้เป็นเกย์ คนนี้นับถือศาสนานี้ หรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อเท็จจริงแต่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยเจตนาร้ายหรือเจตนาเบี่ยงเบนประเด็นสนทนา)
จะเห็นว่าสิ่งที่ disinformation และ mal-information นั้นมีร่วมกัน คือเจตนาร้าย-เจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ในขณะที่ misinformation นั้นไม่คำนึงถึงเจตนา
misinformation สะกดขึ้นต้นด้วย mis- เหมือนกับคำว่า mistake (ความผิดพลาด) และ misspelling (การสะกดผิด)
—
ส่วน ปลอม (fake) นี่คือการทำปลอม (fabricated) หมายความว่ามันไม่เคยจริงเลย *และ* มีความพยายามจะทำให้เข้าใจว่าจริง
นึกถึงธนบัตรปลอม มันไม่เคยเป็นธนบัตรจริงเลย *และ* โดยหน้าตาและวิธีการใช้งานมันพยายามจะทำให้คนเข้าใจว่ามันเป็นธนบัตรจริง
ส่วนแบงก์ในเกมเศรษฐีนี่ แม้มันจะไม่เคยเป็นธนบัตรจริงเลย แต่เราก็ไม่เรียกมันว่าธนบัตรปลอม เพราะโดยรูปร่างหน้าตาเราก็เห็นอยู่แล้วว่ามันไม่ได้พยายามจะทำให้เราเข้าใจว่ามันเป็นธนบัตรจริง
—
ส่วนคำว่า ข้อเท็จจริง (fact) นอกจากผูกกับเวลาแล้ว ยังผูกอยู่กับความสามารถในการรับรู้หรือความสามารถในการวัดของเราด้วย (ซึ่งหมายความว่าเทคโนโลยีในการวัด สามารถ “เปลี่ยน” fact ได้)
นึกถึงการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ ที่มีการรายงานตัวเลขใหม่เข้ามาเป็นระยะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น (ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปตามเวลา) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพิ่งจะพบศพเพิ่มเติม (ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปตามความสามารถในการรับรู้หรือการวัด)
ถามว่าที่เคยรายงานไปก่อนหน้านี้มัน fake ไหม ก็ไม่ เพราะไม่ได้เป็นการทำปลอม (และโดยลักษณะการรายงานที่ปรับปรุงตัวเลขเป็นระยะ ผู้ชมที่ติดตามก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นตัวเลข “เท่าที่ทราบ”) มันเป็น fact ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น
เนื่องจาก fake นั้นต้องไม่เคยจริงเลย ข้อเท็จจริงที่ล้าสมัยแล้ว (outdated fact) จึงไม่ใช่ fake เช่น “ภูมิพลเป็นกษัตริย์ของไทย” “ประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน” นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ล้าสมัยแล้ว แต่ไม่ใช่ข้อมูลปลอม
—
พอข้อเท็จจริงมันผูกกับเวลาและวิธีการวัด การรายงานก็ควรจะระบุด้วย ว่าข้อเท็จจริงนี้ ได้รับรู้ ได้วัด ได้สอบถาม มาเมื่อใด คนอ่านก็จะได้ประเมินต่อเองได้ ว่าควรจะเชื่อถือข้อเท็จจริงนี้ในระดับใด
(แต่หลายอย่างก็ละไว้ได้ เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกเป็นบริวารของดวงอาทิตย์ แม้จะมีขอบเขตเวลาอยู่ วันหนึ่งโลกอาจจะหลุดออกจากระบบสุริยะ หรือวันหนึ่งดวงอาทิตย์อาจจะดับแล้วทิ้งโลกหนาวๆ เอาไว้ แต่กรอบมันอาจจะล้านปี สมมติ ซึ่งพอเทียบกับอายุขัยมนุษย์หรืออายุของอารยธรรมมนุษย์ ก็ไม่จำเป็นต้องระบุหรอก สมมติว่าจริงแบบไม่มีกำหนดไปละกัน กระชับดี)
—
นิยามเหล่านี้เป็นเรื่องซีเรียส (สำหรับผมอย่างน้อยคนหนึ่ง) เพราะกฎหมายที่กำหนดว่าเราจะพูดอะไรได้หรือไม่ได้ พูดอะไรแล้วจะมีความผิด (เช่น ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ก็ตั้งอยู่บนนิยามเรื่อง เจตนา, ข้อเท็จจริง, การทำให้เข้าใจผิด, หลอกลวง, ทำปลอม, ทุจริต เหล่านี้
ก่อนจะเรียกอะไรว่า “ข่าวปลอม” ให้หยุดคิดสักนิดหนึ่ง ว่าเรากำลังคิดถึงอะไร กำลังจะสื่อสารอะไร ที่เราว่า “ปลอม” มันปลอมอย่างไร มีคำอธิบายอื่นที่จะเรียกสิ่งที่เราคิดว่าไม่จริงได้ชัดเจนกว่าคำว่า “ปลอม” ไหม
ไม่เช่นนั้นตัวเราเองนี่แหละที่กำลังทำให้ปัญหา “ข่าวปลอม” มันแย่ลง เพราะการใช้คำนี้อย่างลำลองไปทั่ว จนอะไรๆ ก็ถูกเรียกว่าข่าวปลอมไปหมด ทำให้เราระบุสิ่งที่เป็นข่าวปลอมจริงๆ ได้ลำบากขึ้น พอระบุสิ่งที่เป็นข่าวปลอมจริงๆ ได้ลำบาก การแก้ปัญหาก็ทำได้ไม่ค่อยตรงจุด เสียทั้งเวลาทั้งทรัพยากรโดยไม่จำเป็น
—
ทำอย่างไรต่อ
เพิ่มเติม: มีคนถามมาว่า แล้วจะจัดการยังไง คิดตอนนี้ได้ดังนี้
ทั้ง mis-, dis-, และ mal-information เป็นส่วนหนึ่งของ information disorder หรือความโกลาหลปั่นป่วนของข่าวสาร มาตรการลด information disorder ควรคิดถึงธรรมชาติของข่าวสารแต่ละแบบ
สิ่งที่มีร่วมกันของ dis- และ mal-information คือ เจตนาสร้างความเสียหาย (กรณี information operation หรือปฏิบัติการข่าวสารควรอยู่ในหมวดนี้ เพราะมีเป้าหมายและเจตนาชัดเจน)
ขณะที่ misinformation เป็นความพลาด-ไม่รอบคอบ คนทั่วไปก็อาจเคยเผลอ
เราควรสู้ mis- และ dis-information ด้วยการเปิดเผยข้อมูลจริงให้มากที่สุด อนุญาตให้มีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลให้มากที่สุด ปกป้องคนที่ทำงานเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มากที่สุด ไม่ว่าจะคนทำสื่อเป็นอาชีพหรือไม่
หนึ่งในวิธีที่ใช้กันเยอะ คือการมีหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact checking) อย่างในไทยก็มีทั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัล และ cofact ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมและภาควิชาการร่วมมือกัน
ข้อสังเกตคือ กรณีคนเผยแพร่ disinformation คือรัฐ ศูนย์ต้านข่าวปลอมของรัฐก็อาจจะทำงานไม่ค่อยได้เต็มที่นักจากมุมมองของประชาชนทั่วไป เพราะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง
หน่วยงานบริการสาธารณะที่กระเถิบออกมาจากรัฐอยู่หนึ่งระยะ มีโครงสร้างกำกับมาตรฐานจริยธรรม และมีทรัพยากรในการดำเนินงานที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากแหล่งทุน อย่างองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) น่าจะเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีศักยภาพในการเป็นคนกลางที่จะช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับสังคม
สำหรับ dis- และ mal-information ด้วยการสกัดผู้เผยแพร่ข้อมูลที่มีเจตนาร้าย ทำให้ผู้ปฏิบัติการดังกล่าวทำงานได้ลำบาก และต้องเกรงกลัวกับผลกระทบทางกฎหมาย ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ
การต่อสู้ด้วยวิธีทางกระบวนการยุติธรรม (ด้วยความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมยังพึ่งพาได้) อย่างที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์, น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล, และนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ยื่นฟ้องกองทัพบกต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งกองทัพบกยุติปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน ก็เป็นวิธีหนึ่ง
ผู้เผยแพร่ dis- และ mal-information ที่มีเจตนาสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายชัดเจน ควรจะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย กระบวนการยุติธรรมต้องทำงานและสามารถลงโทษหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ และถ้าเรารู้ว่าบริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไปร่วมปฏิบัติการมีบริษัทอะไรบ้าง ประชาชนก็ควรช่วยกันประณาม ไม่คบค้าสมาคมด้วย อีกทั้งสมาคมวิชาชีพโฆษณาก็ควรมีบทบาทตักเตือนและกำหนดมาตรฐานวิชาชีพในเรื่องหลักการไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นโดยเจตนา
อย่างก็ตาม ในแง่การเอาผิดทางกฎหมายก็ควรมีความระมัดระวัง สำหรับกรณี misinformation ซึ่งเป็นความผิดพลาด-ไม่รอบคอบ และขาดเจตนาสร้างความเสียหาย ซึ่งไม่ควรมีความผิดทางอาญา และควรใช้มาตรการอื่นร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาดลักษณะเดียวกันในอนาคต (เช่นมาตรฐานวิชาชีพ หรือกลไกทางเทคนิคและกราฟิกในการช่วยลดความเข้าใจผิด)
อีกทางหนึ่งในการสกัดผู้ปฏิบัติการ dis- และ mal-information ก็คือการระงับหรือปิดกั้นบัญชีของผู้เผยแพร่ เช่นกรณีที่ทวิตเตอร์ระงับบัญชีที่เชื่อมโยงกับกองทัพบกและพุ่งเป้าโจมตีพรรคฝ่ายค้าน และเฟซบุ๊กระงับบัญชีที่เชื่อมโยงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรซึ่งมีพฤติกรรมกระจายเนื้อหาที่ผิดธรรมชาติและแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ควรมีกฎหมายหรือเกณฑ์ที่ชัดเจนอธิบายได้รองรับ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นช่องทางในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกไปได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
- Information disorder: Toward an interdisciplinary framework for research and policy making รายงานศึกษาโดยสภายุโรป (2017)
- ภาพประกอบวงกลม mis-, dis-, mal-information มาจาก Information Disorder: Useful Graphics โดย First Draft ซึ่งในเว็บไซต์ดังกล่าวยังมีบทความและรายงานเรื่อง “ข่าวปลอม” อีกมาก
- คู่มือไขข้อสงสัยเรื่อง ‘ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง’ โดย Article 19 (2015) – ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หรือ “ประทุษวาจา” (hate speech) ก็เป็นเนื้อหาอีกประเภทหนึ่งภายใน mal-information ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคีก็มีนิยามและข้อแนะนำในเรื่องดังกล่าวอยู่ — เคยยืม “พีระมิดของประทุษวาจา” จากคู่มือนี้มาลองอธิบายเรื่อง hate speech