ว่าด้วยการเยียวยา – กรณี #TCAS วารสาร และอื่นๆ ในยุค #COVID19 นี้


การทำงานทั้งที่ตั้งใจและที่ผิดพลาดของผู้มีอำนาจ อาจนำมาสู่ความเสียหายของคนที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งถ้าสังคมยังพอจะมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง ก็ควรมีการเยียวยาตามสมควรในระยะเวลาที่ไม่ช้าจนเกินไป ทั้งนี้ก็ควรคิดด้วยว่ามาตรการเยียวยานั้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มใหม่หรือไม่

เช่น จะเลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อช่วยหน่วยงานที่ยังเตรียมตัวไม่พร้อม ก็ต้องพิจารณาด้วย ว่าหน่วยงานที่พร้อมแล้วและได้ดำเนินแผนงานต่างๆ ในอนาคตตามความเข้าใจว่าจะกฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้ในวันที่กำหนด จะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ หากกฎหมายถูกเลื่อนออกไป (เช่นได้ทำสัญญาหรือทำแผนธุรกิจใดๆ ไว้ ต้องปรับแก้แผน หรือการไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลกลางนี้ จะทำให้ต้นทุนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศของเขาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องไปทำสัญญาลักษณะทวิภาคีต่างหาก ในระยะ 1 ปีตามที่จะเลื่อน จากเดิมที่เขาเคยคิดว่าไม่ต้องทำ หากกฎหมายบังคับใช้ตามกำหนด) – ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าเราลงโทษคนที่แข็งขันเตรียมความพร้อมเพื่อทำตามกฎหมาย

เรื่องประกาศ #TCAS เพื่อรับเข้าเรียนที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผิดพลาด นี่ก็มีประเด็นเยียวยาอยู่เหมือนกัน และมีแง่มุมของการเยียวยาคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งสมควรได้รับการเยียวยา) ที่อาจสร้างความเดือดร้อนใหม่ให้กับคนอีกกลุ่ม (ทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด)

ดูรายละเอียดลำดับเวลาของเรื่องนี้ที่ https://www.bbc.com/thai/thailand-52688183

1. จริงๆ แนวทางของผู้บริหารมหาวิทยาลัย (ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ) นั้นช่วยเยียวยานักศึกษากลุ่มนี้ได้ แต่ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มเติมก็จะเป็นแนวทางที่สร้างผลกระทบกับนักศึกษากลุ่มอื่นไปด้วย

2. ถ้าไม่รับนักศึกษาเข้าเรียนตามประกาศที่ผิดพลาด และ ตัวระบบ TCAS ทั้งหมดไม่ปรับให้พวกเขาได้เข้าเรียนตามลำดับการเลือกอื่นๆ นักศึกษาเหล่านี้ก็จะไม่มีที่เรียน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเขา

3. พวกเขาอาจจะคะแนนไม่เข้าเกณฑ์คณะวารสาร มธ. แต่อาจเข้าเกณฑ์คณะอื่น เขาไม่ควรเสียสิทธิ์ตรงนั้น ต้องมีใครสักคนในระบบการรับเข้านี้ที่จะรับผิดชอบหาทางเยียวยา

4. แต่การที่มหาวิทยาลัยจะ “บังคับ” ให้คณะวารสารต้องรับนักศึกษาเข้า ในจำนวนที่เกินความสามารถที่คณะจะจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ ก็เป็นเรื่องสำคัญ คณะวารสารไม่ควรต้องแบกรับ และนักศึกษาทุกคนไม่ควรจะต้องเจอ

5. ประเด็นที่อาจมองว่า “ไม่เป็นธรรม” กับนักศึกษาที่คะแนนถึงเกณฑ์ หากรับนักศึกษาที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์เข้าศึกษา นั้นไม่ควรเป็นประเด็น เพราะสุดท้ายการได้เข้าศึกษาหรือไม่ในแต่ละปีก็อยู่ที่จำนวนรับด้วย ถ้าจำนวนรับมากก็เป็นไปได้ที่คะแนนต่ำสุดที่จะเข้าเกณฑ์จะต่ำลง — และในแง่หนึ่ง การเปิดรับนักศึกษาให้มากขึ้น ก็เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาด้วย (ดูข้อ 6 ประกอบ)

6. ประเด็นที่จะ “ไม่เป็นธรรม” กับนักศึกษาทุกคนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาใหม่ที่เข้ามาเรียนในรอบรับล่าสุดนี้ด้วยวิธีหรือเหตุผลใด และนักศึกษาที่มีอยู่เดิม ก็คือคุณภาพในการจัดการศึกษาที่จะลดลง หากต้องใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่ถูกบังคับให้เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้มีแผนรองรับไว้ก่อน ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาทุกรุ่นและทุกคณะที่ใช้ทรัพยากรและอาจารย์กลุ่มเดียวกันด้วย

7. หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องการให้คณะวารสารศาสตร์ช่วยเหลือเยียวยา ด้วยการรับนักศึกษากลุ่มนี้เข้าเรียนในปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยก็จะต้องสนับสนุนให้กับทางคณะวารสารมีทรัพยากรเพียงพอที่จะรองรับการเยียวยาดังกล่าวรวมถึงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาด้วย การสนับสนุนนี้ เช่น การเพิ่มงบประมาณ เพิ่มจำนวนรับอาจารย์ใหม่ เพิ่มจำนวนจ้างอาจารย์พิเศษภายนอก เพิ่มการสนับสนุนสาธารณูปโภคอื่นๆ ตามสัดส่วน ซึ่งการเพิ่มนี้ จะต้องเป็นการเพิ่มไปตลอดหลักสูตรการศึกษาของนักศึกษาที่จะรับเข้าปีนี้คืออย่างน้อย 4 ปี ไม่ใช่การเพิ่มเฉพาะปีการศึกษานี้เท่านั้น

8. แต่ในทางหนึ่ง การสนับสนุนให้คณะวารสารสามารถรองรับการเยียวยาได้ ก็คือการให้ทุกคณะร่วมรับผิดชอบความผิดพลาดของมหาวิทยาลัยไปกลายๆ เพราะสุดท้ายอาจมีทรัพยากรส่วนกลางจำนวนหนึ่งที่ถูกแบ่งมาเพื่อสนับสนุนการเยียวยานี้ แต่ก็น่าจะดีกว่าให้คณะวารสารแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่การให้รับเข้านั้นเป็นความประสงค์ของมหาวิทยาลัย ในระยะยาว คณะวารสารอาจเปิดวิชาเพิ่มเติมที่นักศึกษาคณะอื่นสามารถลงทะเบียนเรียนได้หรือให้อาจารย์ของคณะร่วมสอนในบางวิชาของคณะอื่นได้ เพื่อเกลี่ยการใช้ทรัพยากรที่พอจะแบ่งปันได้ออกไปให้เป็นธรรมที่สุด

9. มาตรการในการเยียวยาอีกประการก็คือ หากมีการรับเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยและคณะ จะต้องไม่แบ่งแยกนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม “รับเข้าตามปกติ” และ “รับเข้าเป็นการเยียวยา” เพื่อให้ตลอดการศึกษาจนจบการศึกษาของนักศึกษาทุกคน ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติเชิงลบ

ทั้งนี้เวลาเราคิดเรื่องการเยียวยา ต้องอย่าลืมว่า การเยียวยาไม่ใช่การทำให้ผู้กระทำพ้นความรับผิด

ผู้กระทำการหรือละทิ้งเพิกเฉยไม่กระทำการ ยังสามารถมีความผิดได้อยู่ และก็ต้องถูกพิจารณาความผิดตามปกติ และการเยียวยาจะต้องไม่สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้น ไม่ว่ากับคนกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่

(โพสต์ครั้งแรกในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์)


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.