OTT (Over the Top) คืออะไร?

Over the Top (1987)

“Over the Top” หรือ OTT เป็นศัพท์ในวงการโทรคมนาคมและกระจายภาพและเสียง มีความหมายโดยทั่วไปถึงเนื้อหาหรือบริการที่ถูกส่งผ่านโครงข่ายที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำสิ่งดังกล่าวตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้ OTT จึงถูกเรียกในภาษาทั่วไปว่า “value added” ซึ่งหมายถึงเนื้อหาหรือบริการที่สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” จากเนื้อหรือบริการพื้นฐานที่โครงข่ายถูกออกแบบมาแต่แรก

เรื่อง OTT จะเห็นบ่อยขึ้นช่วงนี้ตามสื่อ เนื่องจากกสทช.มีแนวคิดจะเข้ามากำกับบริการมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ โดยยกประเด็น เช่น การจัดเก็บภาษี การกำกับเนื้อหา และการแข่งขัน “ที่เป็นธรรม” (ระหว่างผู้ประกอบกิจการที่ต้องมีใบอนุญาตและไม่ต้องมีใบอนุญาต)

ตัวอย่างของ OTT

ตัวอย่างหนึ่งของ OTT คือ “เนื้อหา OTT” (Over-the-top content) ซึ่งในบริบทของกิจการกระจายภาพและเสียง หมายถึงภาพ เสียง หรือสื่ออื่นใด ที่ส่งผ่านโครงข่ายอื่นใดที่มิใช่โครงข่ายกระจายภาพและเสียง เช่น บริการภาพยนตร์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “Telco-OTT” ซึ่งหมายถึงการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการรายหนึ่งผ่านโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นหรือชนิดอื่น เช่น การให้บริการโทรศัพท์ด้วยเสียงผ่านโครงข่ายไวไฟอินเทอร์เน็ตสาธารณะ

นอกจากนี้การให้บริการอย่างการจ่ายเงินชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ซื้อสินค้าบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ถูกนับเป็น OTT เช่นกัน

วิธีแบ่งประเภทมีหลายแบบ

เนื่องจาก OTT เป็นการผสานเนื้อหา บริการ และโครงข่ายหลายชนิดเข้าด้วยกัน การแบ่งประเภทของ OTT จึงสามารถแบ่งได้หลายวิธีเพื่อความสะดวกในการพิจารณาประเด็นหนึ่งๆ เช่น

  • แบ่งตามชนิดบริการ — รายการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เผยแพร่เวลาตรงกับที่กำลังเผยแพร่ในโครงข่ายกระจายภาพและเสียง รายการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เคยหรือจะเผยแพร่ในโครงข่ายกระจายภาพและเสียงและผู้ชมเลือกเวลาดูได้เอง เนื้อหาแบบรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผลิตเพื่อเผยแพร่ในโครงข่ายกระจายภาพและเสียง ภาพยนตร์ ฯลฯ
  • แบ่งตามความสัมพันธ์ของผู้ผลิตเนื้อหา — ผลิตเอง v จ้างผลิต v ผู้ใช้เป็นผู้ผลิต
  • แบ่งตามความสัมพันธ์ของผู้ให้บริการ — ผู้ให้บริการเนื้อหาเป็นรายเดียวกับผู้ให้บริการโครงข่าย vs เป็นคนละราย
  • แบ่งตามการบอกรับสมาชิก — เสียค่าบอกรับหรือไม่, subscription-based v advertising-based
  • แบ่งตามชนิดใบอนุญาต — โทรคมนาคม v กระจายภาพและเสียง v ไม่ต้องมีใบอนุญาต
  • แบ่งตามประเด็นในการกำกับกิจการ
  • แบ่งตามมิติอื่นๆ

การแบ่ง OTT ตามประเด็นในการกำกับกิจการนั้น เช่นที่ Body of European Regulators for Electronic Communications (BEREC) ซึ่งเป็นองค์การกลางของหน่วยงานกำกับกิจการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป แบ่งบริการ OTT เป็น 3 ประเภทคือ

  1. บริการ OTT ที่ถือเป็น “บริการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์” (electronic communications service – ECS)
  2. บริการ OTT ที่ไม่ถือเป็น ECS แต่มีศักยภาพจะแข่งขันกับ ECS และ
  3. บริการ OTT อื่นๆ

สาเหตุที่ BEREC แบ่งประเภทเช่นนี้ เพราะคำว่า OTT นั้นไม่มีสถานะทางกฎหมายในระดับสหภาพยุโรป และกิจการที่ BEREC กำกับได้ตามกฎหมายนั้นมีเพียงบริการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ (ECS) เท่านั้น การแบ่งตามสถานะทางกฎหมายที่ BEREC อาจเข้าไปกำกับได้ จึงเป็นการแบ่งขั้นต้นที่สะดวกสำหรับการทำงาน

ดูเพิ่ม

เอกสารเกี่ยวกับ OTT นั้นมีอยู่เยอะและอัปเดตค่อนข้างเร็ว เพราะเป็นประเด็นค่อนข้างใหม่ (OTT นั้นมีมานานแล้ว แต่ประเด็นการกำกับดูแลมีการพูดถึงมากขึ้นในบริบทอินเทอร์เน็ต) หลายประเทศก็มีความสนใจจะกำกับกิจการส่วนนี้ให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น จึงมีเอกสารการศึกษาและข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายหลายมุมมองเผยแพร่ ตัวอย่างใกล้บ้านเราที่สนใจจะกำกับกิจการ OTT เช่น อินโดนีเซีย ที่เริ่มพูดคุยเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2016) ยังไงลองค้นๆ ในเน็ตดูครับ

Over the Top (1987)

 


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.