ออกแบบอำนาจ: อ่านโครงสร้างคณะกรรมการในกฎหมายไทย


ช่วงที่ผ่านมา นั่งดูร่างกฎหมายจำนวนหนึ่ง อย่างร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่างพ.ร.บ.กสทช. ก็เลยผ่านตาพวกที่มา คุณสมบัติ สัดส่วน ของคณะกรรมการนั่นนี่ตามกฎหมาย เลยขอโน๊ตที่สังเกตเห็นไว้ตรงนี้หน่อย จำนวนนึงเคยเขียนไว้บนเฟซบุ๊กแล้ว [1] [2] แต่อันนี้มาเขียนเพิ่ม และจะได้หาได้ง่ายๆ ด้วย เฟซบุ๊กมันหายาก (เขียนค้างมาจะสามเดือน เพิ่งจะเสร็จ…)

คำถามที่อยากค้นหาคือ เราจะดูตรงไหนได้บ้าง ว่าคณะกรรมการหนึ่งๆ มีที่มาและกระบวนการสรรหาที่เหมาะสม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีอิสระในการทำงาน มีอำนาจในการทำงาน และอำนาจนั้นมีกลไกตรวจสอบชัดเจน

ประเภทและที่มาของกรรมการ

กรรมการในคณะกรรมการนี่มีที่มาหลายได้แบบ เช่น

  • กรรมการที่สรรหามาเพื่อทำงานในคณะกรรมการนั้นโดยเฉพาะ — เป็นกรรมการที่ทำงานกรรมการให้กับคณะกรรมการนั้นๆ เต็มเวลา ห้ามทำงานอื่น (อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย) วิธีสรรหานั้นก็แล้วแต่กฎหมายจะกำหนด เช่น ให้สภาเลือกกรรมการสรรหามาคัดเลือกกรรมการอีกที หรือให้ตัวแทนสมาคมวิชาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้องเสนอตัวแทนเข้ามาเพื่อทำการคัดเลือกกันเอง ตัวอย่างของกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาลักษณะนี้เช่น กรรมการกสทช. และกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส
  • กรรมการโดยตำแหน่ง (ex officio) — เป็นกรรมการที่ผู้ร่างกฎหมายมองว่า โดยตำแหน่งงานประจำของเขาแล้วเกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจของคณะกรรมการ ควรจะมาช่วยคิดช่วยทำในเรื่องนี้ด้วย ก็เลยใส่เข้ามา นั่นคือกรรมการแต่ละท่านเขาก็ทำงานเต็มเวลาที่อื่นอยู่ด้วย เช่น เป็นรัฐมนตรีกระทรวง เป็นปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรม เป็นนายกสมาคมวิชาชีพ แต่ก็มาช่วยงานของคณะกรรมการด้วย กรรมการโดยตำแหน่งนี้ตามชื่อก็คือผูกอยู่กับตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวบุคคล วันหนึ่งถ้ารัฐมนตรีกระทรวงเปลี่ยนเป็นคนใหม่ กรรมการโดยตำแหน่งก็จะเปลี่ยนตามไปเป็นคนใหม่ด้วย
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ — เป็นกรรมการที่คณะกรรมการหรือรัฐมนตรีหรือผู้ที่กฎหมายให้อำนาจ แต่งตั้งเข้ามา เพราะต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ว่าไป หรืออาจจะต้องการให้มีสัดส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มันครบถ้วนขึ้น เช่นให้มีจากภาคเอกชนด้วย จากภาคประชาสังคมด้วย จากภาควิชาการด้วย กรรมการประเภทนี้อาจทำงานอยู่ที่อื่นด้วย
  • กรรมการเฉพาะกิจ — เป็นกรรมการที่ถูกเชิญมาเฉพาะการประชุมหนึ่งๆ เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะพิจารณาหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวข้อง กรรมการประเภทนี้โดยเหตุผลที่ถูกเชิญมาจะคล้ายกรรมการโดยตำแหน่ง (อำนาจเกี่ยวข้อง) หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ความรู้เกี่ยวข้อง) แต่เป็นการเชิญมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

กรรมการที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลาให้กับคณะกรรมการ

ข้อจำกัดหนึ่งของกรรมการที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา ไม่ว่าจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็คือการไม่ได้ทำงานเต็มเวลานั่นแหละ ซึ่งถ้าเป็นคณะกรรมการที่มีขอบเขตงานกว้าง มีภารกิจหลายอย่าง มีภาระงานสูง หรือต้องตัดสินใจเรื่องละเอียดที่จะส่งผลกระทบเยอะ ต้องใช้เวลา ก็อาจจะทำได้ไม่เต็มที่

อย่างกรณีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับจากปี 2558 ที่ผ่านการตรวจจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว) ก็มีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ไม่มีกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาเลย กระทั่งคนที่มารับตำแหน่งเลขานุการกรรมการเอง ก็ยังเป็นเลขานุการให้กับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอีกด้วย (เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นเลขานุการของทั้งสองคณะกรรมการนี้โดยตำแหน่ง)

ตรงนี้ไม่ได้บอกว่ากรรมการที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลาไม่ดี แต่คงต้องพิจารณาอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1) ภาระงาน 2) ความเป็นอิสระในการทำงาน — ถ้าคณะกรรมการไหนมีภาระงานเยอะและจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระสูง กรรมการที่ทำงานได้เต็มเวลาและไม่ได้ผูกอยู่กับหน่วยงานอื่นก็น่าจะเหมาะกว่าเพราะมีเวลาทำงานได้เต็มที่มากกว่า และการตัดสินใจก็น่าจะทำได้เต็มที่มากกว่าด้วย ไม่ต้องเกรงใจใคร

เช่น ถ้ามองว่าต่อไปจะมีประเด็นละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นๆ ตามเศรษฐกิจและสังคมที่พึ่งพาข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็เข้าถึงข้อมูลของกันและกันมากขึ้น ก็คงต้องพิจารณาว่าคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนบุคคลนั้น ควรจะให้มีคณะกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาทั้งชุดและทำงานได้เป็นอิสระไหม คล้ายๆ กับงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ปัจจุบันก็มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สัดส่วนตัวแทน-การขัดกันของผลประโยชน์-การแยกบทบาทผู้กำกับกิจการ

นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เช่นจะมีการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) ไหม คือถ้าคณะกรรมการนี้ออกแบบมาเพื่อเป็น ผู้ตัดสินไกล่เกลี่ยคดี หรือเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) ก็ไม่ควรจะเอาคนที่เป็นผู้ถูกกำกับมาเป็น ไม่งั้นก็จะเหมือนเอาผู้เล่นมาเป็นกรรมการเสียเอง ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้เล่นอื่น

ต่อเรื่องที่มาของกรรมการอีกนิด ที่มาของกรรมการโดยตำแหน่งนั้น อันนึงที่พบคือ กระทรวงการคลังมักจะถูกใส่เข้ามาบ่อยๆ เห็นว่าเพื่อให้สะดวกต่อเรื่องงบประมาณ ถ้ามีข้อติดขัดอะไรก็จะได้ปรึกษาได้เลย ส่วนถ้าคณะกรรมการชุดไหนที่ออกแบบให้มี “การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน” ก็จะเป็น ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย 3 แห่งนี้ ที่มักจะได้สัดส่วนอยู่เสมอๆ (กรณีเป็นคณะกรรมการที่ดูแลภาพกว้างๆ – ส่วนถ้าเป็นกฎหมายที่เจาะจงอุตสาหกรรม ก็จะเป็นสมาคมผู้ประกอบการหรือสมาคมวิชาชีพในอุตสาหกรรมนั้นๆ)

อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุณสมบัติในแง่ที่มา-สัดส่วนตัวแทน อาจไม่จำเป็นต้องเป็น “กรรมการโดยตำแหน่ง” ก็ได้ เช่นอาจระบุกว้างๆ ให้มีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกี่คนหรืออย่างน้อยกี่คนก็ได้ เช่นในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 30 ก.ย. 2559 ที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา มาตรา 20/1 ที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ วรรคสองระบุว่า “ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคณะ โดยแต่ละคณะให้มีจำนวนห้าคน ซึ่งสองในห้าต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”

ความรู้และประสบการณ์

สำหรับการกำหนดคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ของกรรมการ กฎหมายบางฉบับอาจจะระบุลงไปเลยว่า ต้องการกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญด้านไหนๆ กี่คน (เช่น ให้มีกรรมการด้านกฎหมาย 1 คน ด้านผู้บริโภค 1 คน ด้านวิศวกรรม 1 คน) ในขณะที่กฎหมายบางฉบับอาจจะเขียนรวมๆ (เช่น ให้มีกรรมการด้านกฎหมาย ด้านผู้บริโภค ด้านวิศวกรรมรวม 3 คน แบบนี้ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะได้นักกฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมา 1 คน [กฎหมาย+ผู้บริโภค] และวิศวกรอีก 2 คน)

ตัวอย่างเช่น ในมาตรา 6 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี พ.ศ. 2553 (ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้) จะเขียนแจกแจงเลย ว่าในคณะกรรมการกสทช. จะกรรมการด้านใดจำนวนกี่คน

มาตรา 6 พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553
มาตรา 6 พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553

 

ในขณะที่ในร่างมาตรา 6 ใหม่ที่กำลังแก้ไขอยู่ เขียนว่าอยากให้มีด้านใดบ้าง และเขียนให้จำนวนคณะกรรมการทั้งหมดแบบรวมๆ 7 คน

มาตรา 6 ร่างพ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว - 2558)
มาตรา 6 ร่างพ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว – 2558)

 

อีกตัวอย่างเช่น ในมาตรา 7 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุว่าให้มี “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านสังคมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” คือมีความเชี่ยวชาญอยู่ 6 ด้านเป็นอย่างน้อยที่เขียนไว้ แต่มีกรรมการ 5 คน ก็อาจจะตีความได้สองแบบคือ 1) ให้หากรรมการที่เชี่ยวชาญมากกว่าหนึ่งสาขา 2) อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญให้ครบ 6 ด้านนี้ในคณะกรรมการ (หรือกรรมการโดยตำแหน่งอาจจะมีใครเชี่ยวชาญเรื่องที่ขาดไปก็ได้?)

มาตรา 7 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับที่สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว - 2558)
มาตรา 7 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับที่สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว – 2558)

 

เรื่องน่าสนใจอีกอันก็คือ ในกรณีที่ต้องการนักวิชาการ บางกฎหมายจะกำหนดว่าให้คัดเลือกจากอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่นในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 17 ส.ค. 2559 (ร่างฉบับนี้เก่าแล้ว ปัจจุบันหน้าตาที่มาเปลี่ยนไปแล้ว ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น) มาตรา 20/1 ที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีตอนหนึ่งเขียนว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐหนึ่งคน” แบบนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนก็อดไป หรือแม้จะระบุแค่เพียง “อาจารย์” ก็อาจทำให้คนที่มีความรู้เรื่องนั้นแต่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษาหมดสิทธิ์เช่นกัน

มาตรา 20/1 ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
มาตรา 20/1 ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (30 ก.ย. 2559)

กรรมการเฉพาะกิจ

สำหรับ “กรรมการเฉพาะกิจ” คณะกรรมการบางชุดอาจอนุญาตให้มีการเชิญบุคคลภายนอกที่ปกติไม่ใช่กรรมการมาเป็นกรรมการเฉพาะการประชุมหนึ่งๆ ที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ในพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ที่ในมาตรา 6 วรรค 3 พูดถึง “สมาชิกเฉพาะกิจ” ที่มีฐานะเหมือนสมาชิกปกติ “เฉพาะการประชุมที่ได้รับเชิญ”

มาตรา 6 พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559
มาตรา 6 พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559

อายุของตัวกรรมการ

สิ่งหนึ่งที่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่ตอนนี้อยู่ในสภา เปลี่ยนแปลงไปจากพ.ร.บ.ฉบับปี 2553 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็คือ ช่วงอายุ ที่จะเป็นกรรมการกสทช.ได้ จากปัจจุบัน 35-70 ปี เปลี่ยนเป็น 45-65 ปี ซึ่งก็นึกเหตุผลไม่ออก

ลองดูเกณฑ์อายุของสมาชิกคณะกรรมการอื่นๆ ได้เป็นตารางนี้

กรรมการ / คณะกรรมการ อายุไม่ต่ำกว่า อายุไม่เกิน
กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ร่าง) 45 65
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ร่าง) 65
กรรมการ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ร่าง)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
กรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 35
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ 35
กรรมการ คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 35
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ 25
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ 35
กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (2543) 35 70
กรรมการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (2543) 35 70
กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (2553) 35 70
กรรมการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ร่างรธน.)
กรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ร่าง)

โดยรวมที่พบคือ ส่วนมากจะกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 35 ปี และไม่ได้กำหนดว่าอายุห้ามเกินเท่าไร กฎหมายที่มีกำหนดเพดานอายุจะเป็นพวกกฎหมายไอซีที

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนี่ไม่ระบุอายุเลย ส่วนคณะกรรมการดิจิทัลกำหนดเฉพาะว่าไม่เกินเท่าไหร่ ไม่กำหนดขั้นต่ำ ในขณะที่คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติกำหนดอายุขั้นต่ำต่ำกว่าใคร คือ 25 ปี

ที่งงๆ คือ ตัวร่างพ.ร.บ.กสทช.กับร่างพ.ร.บ.ดิจิทัลฯ ก็มาไล่ๆ กันในรัฐบาลเดียวกัน แต่ทำไมเกณฑ์เรื่องนี้ต่างกัน คืออันแรกกำหนดอายุ 45 ปี อันหลังกำหนด 35 ปี เลยจะอธิบายว่าเป็นเรื่องอาวุโส ประสบการณ์ ก็อธิบายไม่ได้เต็มที่นัก เพราะคณะกรรมการกสทช.เองก็ต้องทำตามนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลฯอีกที (ซึ่งเป็นไปได้ที่กรรมการในคณะกรรมการดิจิทัลจะอายุน้อยกว่า)

และทำไปทำมา อายุกับประสบการณ์ สัมพันธ์กันแค่ไหน ประสบการณ์ 1 ปีในช่วง 1990-2000 กับประสบการณ์ 1 ปีในช่วง 2001-2010 เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในปี 2020 เท่ากันไหม ที่สุดคือ มันโอเคแค่ไหนกับการกำหนดเกณฑ์อายุตายตัวขนาดนั้นในกฎหมาย

Audrey Tang รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นานนี้ เธอพัฒนาเว็บค้นหาเนื้อเพลงจีนตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานในบริษัทซอฟต์แวร์ตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นผู้จัดการโครงการโอเพนซอร์สอย่าง Perl เขียนซอฟต์แวร์สเปรดชีตออนไลน์เจ๋งๆ อย่าง EtherCalc เปิดบริษัทของตัวเองหลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทแอปเปิล ได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักกิจกรรมสังคม แต่คุณสมบัติไม่น่าจะมาเป็นกสทช.ของไทยได้ในชุดหน้า เนื่องจากวันที่รับตำแหน่งเธออายุเพียง 35 ปี ไม่ถึงเกณฑ์ 45 ปี ของร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ … นี่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ไม่ได้เหมือนกัน ตอนนี้อายุแค่ 32 ปี

วาระดำรงตำแหน่ง

วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายด้วย เช่น ถ้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ก็มาและไปตามตำแหน่งนั้นๆ ถ้าเป็นกรรมการที่สรรหามาก็อาจกำหนดให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี 4 ปี 5 ปี แล้วแต่ นอกจากนี้ยังอาจกำหนดด้วย ว่ากรรมการจะพ้นวาระเมื่อใด เช่น เมื่อตาย ลาออก ถูกถอดถอน ละเมิดกฎ หรืออายุเกิน

การเข้าและออกสู่การเป็นกรรมการในคณะกรรมการหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องพร้อมกัน เช่นถ้ามีกรรมการคนใดคนหนึ่งพ้นตำแหน่งไป ก็สามารถเลือกหรือตั้งกรรมการคนใหม่เข้ามาแทนได้ หรือสำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการเฉพาะกิจ จะตั้งเพิ่มเติมภายหลังก็ทำได้

นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบให้การสรรหากรรมการเข้าสู่คณะกรรมการมีลักษณะเหลื่อมกันได้ด้วย ดังเช่น พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 หรือพ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ในมาตรา 23 วรรค 2 ออกแบบวาระของกรรมการนโยบายเอาไว้น่าสนใจดี

มาตรา 23 พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส พ.ศ. 2551
มาตรา 23 พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส พ.ศ. 2551

 

คือคณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสนั้น มีทั้งหมด 9 คน ประธาน 1 คน กรรมการที่เหลืออีก 8 คน กรรมการมีวาระ 4 ปี – ทีนี้หลัง 2 ปีแรกที่มีคณะกรรมการชุดแรก จะมีจับสลากเอากรรมการออกครึ่งนึง (4 คน) แล้วเลือกเข้ามาใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง – ผ่านไปอีก 2 ปี กรรมการอีกครึ่งหนึ่งที่รอดจากการจับสลากเมื่อ 2 ปีก่อน ก็จะหมดวาระลง ก็เลือกเข้ามาใหม่ และอีก 2 ปีถัดไปชุดที่เข้ามาแทนที่คนจับสลากออก ก็จะหมดวาระ ก็เลือกเข้าใหม่ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ (การจับสลากออกจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในวาระเริ่มแรกเท่านั้น)

ไม่รู้ว่าการออกแบบแบบนี้มีที่มายังไง แต่เห็นว่ามันอาจจะทำหน้าที่ได้อย่างน้อย 3 อย่าง

1) ลดโอกาสครอบงำโดยผู้สรรหากลุ่มเดียว คือในกระบวนการสรรหากรรมการ คนก็กลัวว่าจะมีอำนาจทางการเมือง ทุน หรือกระแสสังคมอะไรมาแทรกแซงกดดัน เช่น กลัวว่าสรรหาเข้ามาในสมัยรัฐบาลไหน ก็จะเป็นพวกรัฐบาลสมัยนั้น แต่พอทำให้วาระของกรรมการมันเหลื่อมกัน มันก็โอกาสที่จะลดการครอบงำแบบยกแผงได้ (เว้นว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคเดียวกันต่อเนื่อง – แต่ในแง่นั้นก็อาจจะพอพูดได้ว่า ก็ประชาชนไว้ใจ)

2) ช่วยให้คณะกรรมการ “สดใหม่” อยู่เสมอ “อัปเดต” สมาชิกของคณะกรรมการได้ถี่ขึ้น แทนที่จะต้องรอให้ครบทุก 4 ปี แล้วอัปเดตรวดเดียว ก็สามารถอัปเดตเป็นขยักได้ทุก 2 ปี ตรงนี้ก็น่าจะช่วยให้หน้าตาของกรรมการสอดคล้องกับโจทย์ของสังคม ณ เวลานั้นมากขึ้น

3) ช่วยให้การทำงานของคณะกรรมการมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนทีเดียวยกชุด แล้วมาเริ่มใหม่หมดจากศูย์กันทุกคน กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้เวลา ถ้าเปลี่ยนทีละครึ่ง ครึ่งที่อยู่มาก่อนก็ช่วยประครองครึ่งที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้

คณะกรรรมการที่เกี่ยวกับสื่อ ไอซีที และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีประเด็นทางสังคมใหม่ๆ อย่างคณะกรรมการดิจิทัลและคณะกรรมการกสทช. น่าจะลองโมเดลนี้ดู สลับปีให้มันเหลื่อมกัน

อย่างไรก็ตาม พวกคณะกรรมการที่มีแต่กรรมการโดยตำแหน่งเยอะๆ นี่ วิธีนี้อาจไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก คือส่วนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งข้าราชการการเมือง (อย่างรัฐมนตรี) มันก็เวียนตามวาระรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งข้าราชการประจำ (อย่างอธิบดี) เขาก็อาจจะอยู่กันในตำแหน่งนานๆ ก็ได้ อีกอย่าง การเข้าการออกตำแหน่งพวกนี้ในแต่ละกรมมันก็ไม่ได้พร้อมๆ กันไปทั้งหมด (คือไม่จำเป็นต้องมากำหนดการเหลื่อมกันในชั้นคณะกรรมการก็ได้)

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความหลากหลายในความคิดเห็นของกรรมการ-ลดโอกาสการครองงำโดยผู้สรรหากลุ่มเดียว ไม่ได้ทำได้ด้วยการทำให้การเข้าสู่วาระเหลื่อมกันเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีอื่นได้ด้วย เช่นการออกแบบอำนาจในการแต่งตั้ง การพ้นวาวระ และการถอดถอนกรรมการ ดังเช่นในกรณี ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States)  ที่ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน (ประธาน 1 คน ตุลาการสทบอีก 8 คน) ประธานาบดีแห่งสหรัฐอเมริกามีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกศาลสูงสุด (เสนอชื่อและให้สภารับรอง) แต่ไม่มีอำนาจถอดถอน สมาชิกศาลสูงสุดจะอยู่ในวาระไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะลาออก ซึ่งในทางปฏิบัติ เนื่องจากสมาชิกจะตายไม่พร้อมกันและตายในช่วงประธานาธิบดีที่อาจจะมาจากคนละพรรคการเมือง ส่งผลให้สมาชิกของศาลสูงสุดมีความหลากหลายในทางอุดมการณ์การเมือง

โครงสร้างอำนาจ: คณะกรรมการรายงานต่อใคร ใครสั่งคณะกรรมการได้ ใครสรรหา-แต่งตั้ง-ถอดถอนกรรมการได้

อีกสิ่งที่คนออกแบบคณะกรรมการจะคิดไว้ ก็คือ คณะกรรมการนี้จะไปทำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบไหน เช่น เป็นคณะกรรมการที่ทำงานภายใต้โครงสร้างกระทรวง เป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างหลายหน่วยงาน หรือเป็นคณะกรรมการอิสระ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อสภาผู้แทนราษฎรเลย เหล่านี้เราสามารถอ่านได้จากตัวกฎหมายนั้นๆ หรืออ่านประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการที่ประธานกรรมการเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยตำแหน่ง ก็จะทำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างของกระทรวงนั้น (แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เสมอไป คือถ้ารัฐมนตรีกระทรวงปล่อยอิสระ หรือประธานคณะกรรมการแข็งแรงพอ คณะกรรมการก็อาจจะเป็นอิสระได้ในช่วงเวลานั้นๆ)

สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อกระจายอำนาจให้ได้ดุล หรือลดการแทรกแซง กฎหมายก็อาจออกแบบให้อำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอน กระจายไปอยู่ในหน่วยงานหรือบุคคลที่แยกต่างหากออกจากกัน

ตัวอย่างเช่น กรณีผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ประธานาธิบดีมีอำนาจเสนอชื่อ (nominate) จากนั้นวุฒิสภาจะรับรอง (confirm) เพื่อแต่งตั้ง แต่เมื่อผู้พิพากษาคนนั้นรับตำแหน่งแล้ว ก็จะอยู่ในตำแหน่งไปตลอดชีวิต ไม่มีใครมีอำนาจถอดถอนได้ แม้แต่ประธานาธิบดี (เชื่อว่าเพื่อให้การทำงานไม่ถูกแทรกแซง)

หรือคณะกรรมการบางชุด ก็อาจจะมีกระบวนการสรรหาที่ละเอียดหรือ “ซับซ้อน” ขึ้น โดยอาจจะมีจุดประสงค์เพื่อให้มีการคัดกรองที่ละเอียดขึ้น ได้รับการเสนอชื่ออย่างหลากหลายมีส่วนร่วมมากขึ้น ลดอำนาจสรรหาจากหน่วนงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยตรง หรือจุดประสงค์อื่น

เช่น มาตรา 18 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ก็กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 15 คน มาจากสมาคมสื่อ สภานักวิชาการสื่อ เอ็นจีโอ สภาทนายความ สสส. และปลัดกระทรวง โดยระบุชื่อตำแหน่งและชื่อหน่วยงานลงในกฎหมายเลย — ซึ่งก็ถามได้เหมือนกัน ว่าทำไมต้องเป็นองค์กรเหล่านี้ด้วย ถ้าต่อไปมีองค์กรอื่นหรือบุคคลอื่นที่น่าจะเหมาะสมกว่า ทำไมเขาถึงมามีส่วนร่วมสรรหาด้วยไม่ได้

เพื่อ “แก้ปัญหา” ดังกล่าว พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พยายามเปิดช่องให้ตัวแทนจากกลุ่มอื่นที่ไม่ได้กำหนดชื่ออย่างเจาะจงไว้ในกฎหมายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาได้ โดยกำหนดที่มาของผู้ถูกเสนอชื่อไว้ 2 ทาง ทางหนึ่งมาคณะกรรมการสรรหาที่กฎหมายระบุชื่อไว้ อีกทางหนึ่งมาจากสมาคมหรือนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนไว้ตามมาตรา 9 จากนั้นรายชื่อจากทั้ง 2 ทางจะถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง (กระบวนการนี้กำลังจะเปลี่ยนในร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่)

เนื่องจากงานของรัฐสมัยใหม่มีความซับซ้อนข้ามประเด็นข้ามความรับผิดชอบมากขึ้น อีกทั้งรัฐยังมีแนวโน้มจะลงมือทำเองน้อยลง และผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการ (facilitator) หรือผู้กำกับกิจการ (regulator) มากขึ้น จำนวนคณะกรรมการต่างๆ จึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ การสรรหาคณะกรรมการก็มากขึ้นตาม ประเทศอย่างสหราชอาณาจักรต้องการให้กระบวนการสรรหาเหล่านี้เป็นไปด้วยมาตรฐานที่สม่ำเสมอ โปร่งใสตรวจสอบได้ และมีความรับผิดต่อสาธารณะ ก็เลยจัดการให้มีหน่วยงานที่มาทำหน้าที่กำกับการสรรหาแต่งตั้งอีกที ชื่อว่า “คณะกรรมการเพื่อการแต่งตั้งตำแหน่งสาธารณะ” (Commissioner for Public Appointments) โดยคณะกรรมการนี้จะไม่ทำการสรรหาแต่งตั้งเอง แต่จะเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองว่าเป็นไปตามกฎที่วางไว้หรือไม่

Commissioner for Public Appointments

การรายงานต่อใคร ใครจะมาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หรือใครจะเป็นคนมีอำนาจเอากรรมการเข้าออก พวกนี้สามารถใช้ดูได้ ว่าคณะกรรมการใดเป็นอิสระจากใคร แค่ไหน ว่าง่ายๆ คือ จากมุมมองของคณะกรรมการ พอมองขึ้นไปข้างบน ก็จะเห็นว่าใครอยู่เหนือหัวบ้าง

แต่ไม่ใช่แค่คนที่อยู่บนหัวเท่านั้น แต่คนที่อยู่รอบๆ ที่จะทำงานด้วยกัน ช่วยเหลืองานกัน ก็มีส่วนเช่นกัน (และใครสั่งคนๆ นั้นได้? คนๆ นั้นต้องรายงานต่อใคร?) ว่าการทำงานจะมีอิสระและมีประสิทธิภาพได้แค่ไหน

โครงสร้างการทำงาน: คณะกรรมการมีใครช่วยงาน สั่งการใครได้

โดยมากแล้ว คณะกรรมการมักทำงานกำหนดนโยบาย กำหนดแผนงาน วินิจฉัยคำร้อง ออกคำสั่ง หรือกำหนดระเบียบ แต่ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติการบังคับใช้คำสั่งหรือระเบียบเหล่านั้นด้วยตัวเอง อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้นำนโยบายและแผนงานไปปฏิบัติ ก็จะมีหน่วยงานอื่นมารับไปทำอีกที

นอกจากนี้หากงานของคณะกรรมการมีมาก ก็จะมี “สำนักงานเลขานุการ” มาทำหน้าที่เรื่องประสานงาน ธุรการ เลขานุการอื่นๆ เป็นการเฉพาะด้วย เช่น คณะรัฐมนตรี มีสำนักงานคณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการกฤษฎีกา มีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการกสทช. มีสำนักงานกสทช., คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ก็ไม่จำเป็นว่าหน่วยงานหนึ่งๆ จะรับเป็นสำนักงานเลขานุการให้กับคณะกรรมการเพียงคณะเดียว บางหน่วยงานอาจจะรับมากกว่าหนึ่งก็ได้ แล้วแต่จะออกแบบ

ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ฉบับเสนอครม. ม.ค. 2558) นอกจากให้มีคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) แล้ว ในมาตรา 14 ยังตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” ขึ้นมาเป็นสำนักงานเลขานุการช่วยงานกปช.ด้วย โดยมาตรา 17 ให้สำนักงานมีหน้าที่ 13 ข้อ ซึ่งรวมถึงการประสานความร่วมมือทางปฏิบัติในการดำเนินงาน ประสานงานเพื่อรวบรวมข้อมูล บริหารแผนงานตามคำสั่งคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม และงานเลขานุการของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย และในมาตรา 21 กำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงาน ดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นต่อต่อประธานกรรมการกปช. และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

ในขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเมื่อ ก.ย. 2558) ในมาตรา 7 (ประกอบนิยามในมาตรา 5) กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นเลขานุการและกรรมการโดยตำแหน่งของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (และให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมาช่วยงานได้อีก 2 ตำแหน่ง) และในมาตรา 16 ให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติทำงานวิชาการและธุรการให้กับคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

โครงสร้างความสัมพันธ์ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ - คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ร่าง ก.ย. 2558)
โครงสร้างความสัมพันธ์ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ – คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ร่าง ก.ย. 2558)

ซึ่งตรงนี้ก็ตั้งคำถามต่อได้อีก ว่าแม้ในบางกรณีหน้าที่ของงาน 2 ส่วนนี้ (มั่นคงไซเบอร์ และ คุ้มครองข้อมูล) จะส่งเสริมกัน แต่ก็มีบางกรณีที่หน้าที่อาจจะขัดกัน (เช่น คณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์จะใช้อำนาจตามมาตรา 34 ของพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ สั่งเอกชนขอข้อมูลส่วนบุคคล แต่ทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลอาจจะไม่เห็นด้วย) แบบนี้จะทำอย่างไร

การทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลจะเป็นอิสระคานอำนาจได้จริงไหม เพราะตัวเลขานุการก็เป็นเลขาธิการสำนักมั่นคงไซเบอร์ ที่ถูกแต่งตั้งและถอดถอนได้โดยคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ หรือถ้าไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร คนในสำนักงานก็ใส่เกียร์ว่างละกัน แบบนี้งานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็อาจจะดำเนินไปได้ยากในทางปฏิบัติหรือไม่

ถ้าลองดูที่แผนผังความสัมพันธ์ที่มาและที่ไปของอำนาจ ก็จะเห็นได้ว่า มันเอนไปทางฝั่งมั่นคงไซเบอร์มากกว่าด้านคุ้มครองข้อมูล ตรงนี้บอกอะไรกับเราไหม

** อัปเดต 28 พ.ย. 2559 — กมธ.สื่อสารมวลชน ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เสนอปรับเปลี่ยนสัดส่วนของคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ ให้เพิ่มกรรมการจากฝ่ายความมั่นคง(ทางการทหาร)เข้าไปอีก พร้อมให้พิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ส่วนอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคงและเหล่าทัพ แปลว่าอำนาจก็ยิ่งเอนไปทางฝ่ายความมั่นคงทางการทหารมากขึ้นไหม? อำนาจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงโครงสร้างคณะกรรมการก็อาจจะอ่อนลงโดยเปรียบเทียบหรือเปล่า? ถ้าวาดแผนผังใหม่ ก็จะได้แบบนี้ สังเกตตรงประธานคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ จะเปลี่ยนจากรัฐมนตรีดิจิทัลเป็นนายกรัฐมนตรี และมีเพิ่มตำแหน่งรองประธาน 2 ตำแหน่ง หนึ่งในนั้นเพิ่มรัฐมนตรีกลาโหมเข้ามา

โครงสร้างความสัมพันธ์ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ - คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสนอ พ.ย. 2559)
โครงสร้างความสัมพันธ์ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ – คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสนอ พ.ย. 2559)

[นอกเรื่องนิด: พอดูจากข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนฯ ดูเหมือนนิยามคำว่า “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ที่หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะความมั่นคงทางทหารของไทยเข้าใจ จะรวมเรื่อง “เนื้อหาที่มนุษย์สื่อสารกัน” เข้าไปด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงปลอดภัยของตัวระบบสารสนเทศ — ซึ่งพอมองแบบนี้ก็ทำให้เข้าใจได้ ว่าทำไมกมธ.สื่อสารมวลชนถึงเข้ามาเกี่ยว]

ใครสนใจการทำงานของอำนาจรัฐ สนใจว่ากลไกพวกนี้สุดท้ายจะคุ้มครองเราได้แค่ไหนอย่างไร ใครเป็นผู้เล่นสำคัญ คณะกรรมการที่ควรจะมีอิสระในการทำงานนั้นอิสระจริงไหม ลองทำแผนที่ของอำนาจแบบนี้กันดูเล่นก็ได้ครับ สนุกดี ตอนผมวาดตอนแรกนี่เส้นพันกันยุ่งมาก ลองขยับอยู่สองสามรอบ

ถ้ากฎหมายต่างๆ อยู่ในรูปแบบที่เครื่องอ่านได้ (machine readable) และทำลิงก์เชื่อมโยงระหว่างอำนาจของกฎหมายต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ก็น่าจะสะดวกในการทำความเข้าใจกฎหมายและความสัมพันธ์ของอำนาจดีนะ

อ้างอิง

  1. การเข้าสู่ตำแหน่งที่เหลื่อมกันของคณะกรรมการไทยพีบีเอส (Facebook)
  2. ช่วงอายุของกรรมการ ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุด (ก.ย. 2559) (Facebook)
  3. มาตรา 7 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….
  4. มาตรา 7 ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
  5. มาตรา 8 ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
  6. มาตรา 11 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
  7. มาตรา 6 พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542
  8. มาตรา 8 พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549
  9. มาตรา 19 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551
  10. มาตรา 8 พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551
  11. มาตรา 11 พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559
  12. มาตรา 8 และมาตรา 14 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543
  13. มาตรา 8 มาตรา 14 และมาตรา 50 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543
  14. มาตรา 7 และมาตรา 20 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
  15. มาตรา 222 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. 2559)
  16. มาตรา 232 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. 2559)
  17. มาตรา 6 พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559
  18. รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
  19. มองกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านฐานคิดของฝ่ายความมั่นคง
  20. “ความมั่นคงไซเบอร์” แบบไทยๆ (Facebook)

4 responses to “ออกแบบอำนาจ: อ่านโครงสร้างคณะกรรมการในกฎหมายไทย”

  1. […] (พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 กำหนดไว้ที่ 35 ปี ต่อมาเมื่อปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร ได้แก้ไขกฎหมายในสาระสำคัญหลายส่วน รวมถึงวิธีการสรรหาและคุณสมบัติกรรมการ และขยับอายุขั้นต่ำจาก 35 ไปเป็น 40 ปี — เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ เทียบกรรมการห…) […]

Leave a Reply to หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ: บทCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.