ช่วงที่ผ่านมา นั่งดูร่างกฎหมายจำนวนหนึ่ง อย่างร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่างพ.ร.บ.กสทช. ก็เลยผ่านตาพวกที่มา คุณสมบัติ สัดส่วน ของคณะกรรมการนั่นนี่ตามกฎหมาย เลยขอโน๊ตที่สังเกตเห็นไว้ตรงนี้หน่อย จำนวนนึงเคยเขียนไว้บนเฟซบุ๊กแล้ว [1] [2] แต่อันนี้มาเขียนเพิ่ม และจะได้หาได้ง่ายๆ ด้วย เฟซบุ๊กมันหายาก (เขียนค้างมาจะสามเดือน เพิ่งจะเสร็จ…)
คำถามที่อยากค้นหาคือ เราจะดูตรงไหนได้บ้าง ว่าคณะกรรมการหนึ่งๆ มีที่มาและกระบวนการสรรหาที่เหมาะสม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีอิสระในการทำงาน มีอำนาจในการทำงาน และอำนาจนั้นมีกลไกตรวจสอบชัดเจน
ประเภทและที่มาของกรรมการ
กรรมการในคณะกรรมการนี่มีที่มาหลายได้แบบ เช่น
- กรรมการที่สรรหามาเพื่อทำงานในคณะกรรมการนั้นโดยเฉพาะ — เป็นกรรมการที่ทำงานกรรมการให้กับคณะกรรมการนั้นๆ เต็มเวลา ห้ามทำงานอื่น (อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย) วิธีสรรหานั้นก็แล้วแต่กฎหมายจะกำหนด เช่น ให้สภาเลือกกรรมการสรรหามาคัดเลือกกรรมการอีกที หรือให้ตัวแทนสมาคมวิชาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้องเสนอตัวแทนเข้ามาเพื่อทำการคัดเลือกกันเอง ตัวอย่างของกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาลักษณะนี้เช่น กรรมการกสทช. และกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส
- กรรมการโดยตำแหน่ง (ex officio) — เป็นกรรมการที่ผู้ร่างกฎหมายมองว่า โดยตำแหน่งงานประจำของเขาแล้วเกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจของคณะกรรมการ ควรจะมาช่วยคิดช่วยทำในเรื่องนี้ด้วย ก็เลยใส่เข้ามา นั่นคือกรรมการแต่ละท่านเขาก็ทำงานเต็มเวลาที่อื่นอยู่ด้วย เช่น เป็นรัฐมนตรีกระทรวง เป็นปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรม เป็นนายกสมาคมวิชาชีพ แต่ก็มาช่วยงานของคณะกรรมการด้วย กรรมการโดยตำแหน่งนี้ตามชื่อก็คือผูกอยู่กับตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวบุคคล วันหนึ่งถ้ารัฐมนตรีกระทรวงเปลี่ยนเป็นคนใหม่ กรรมการโดยตำแหน่งก็จะเปลี่ยนตามไปเป็นคนใหม่ด้วย
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ — เป็นกรรมการที่คณะกรรมการหรือรัฐมนตรีหรือผู้ที่กฎหมายให้อำนาจ แต่งตั้งเข้ามา เพราะต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ว่าไป หรืออาจจะต้องการให้มีสัดส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มันครบถ้วนขึ้น เช่นให้มีจากภาคเอกชนด้วย จากภาคประชาสังคมด้วย จากภาควิชาการด้วย กรรมการประเภทนี้อาจทำงานอยู่ที่อื่นด้วย
- กรรมการเฉพาะกิจ — เป็นกรรมการที่ถูกเชิญมาเฉพาะการประชุมหนึ่งๆ เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะพิจารณาหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวข้อง กรรมการประเภทนี้โดยเหตุผลที่ถูกเชิญมาจะคล้ายกรรมการโดยตำแหน่ง (อำนาจเกี่ยวข้อง) หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ความรู้เกี่ยวข้อง) แต่เป็นการเชิญมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น
กรรมการที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลาให้กับคณะกรรมการ
ข้อจำกัดหนึ่งของกรรมการที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา ไม่ว่าจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็คือการไม่ได้ทำงานเต็มเวลานั่นแหละ ซึ่งถ้าเป็นคณะกรรมการที่มีขอบเขตงานกว้าง มีภารกิจหลายอย่าง มีภาระงานสูง หรือต้องตัดสินใจเรื่องละเอียดที่จะส่งผลกระทบเยอะ ต้องใช้เวลา ก็อาจจะทำได้ไม่เต็มที่
อย่างกรณีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับจากปี 2558 ที่ผ่านการตรวจจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว) ก็มีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ไม่มีกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาเลย กระทั่งคนที่มารับตำแหน่งเลขานุการกรรมการเอง ก็ยังเป็นเลขานุการให้กับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอีกด้วย (เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นเลขานุการของทั้งสองคณะกรรมการนี้โดยตำแหน่ง)
ตรงนี้ไม่ได้บอกว่ากรรมการที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลาไม่ดี แต่คงต้องพิจารณาอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1) ภาระงาน 2) ความเป็นอิสระในการทำงาน — ถ้าคณะกรรมการไหนมีภาระงานเยอะและจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระสูง กรรมการที่ทำงานได้เต็มเวลาและไม่ได้ผูกอยู่กับหน่วยงานอื่นก็น่าจะเหมาะกว่าเพราะมีเวลาทำงานได้เต็มที่มากกว่า และการตัดสินใจก็น่าจะทำได้เต็มที่มากกว่าด้วย ไม่ต้องเกรงใจใคร
เช่น ถ้ามองว่าต่อไปจะมีประเด็นละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นๆ ตามเศรษฐกิจและสังคมที่พึ่งพาข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็เข้าถึงข้อมูลของกันและกันมากขึ้น ก็คงต้องพิจารณาว่าคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนบุคคลนั้น ควรจะให้มีคณะกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาทั้งชุดและทำงานได้เป็นอิสระไหม คล้ายๆ กับงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ปัจจุบันก็มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สัดส่วนตัวแทน-การขัดกันของผลประโยชน์-การแยกบทบาทผู้กำกับกิจการ
นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เช่นจะมีการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) ไหม คือถ้าคณะกรรมการนี้ออกแบบมาเพื่อเป็น ผู้ตัดสินไกล่เกลี่ยคดี หรือเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) ก็ไม่ควรจะเอาคนที่เป็นผู้ถูกกำกับมาเป็น ไม่งั้นก็จะเหมือนเอาผู้เล่นมาเป็นกรรมการเสียเอง ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้เล่นอื่น
ต่อเรื่องที่มาของกรรมการอีกนิด ที่มาของกรรมการโดยตำแหน่งนั้น อันนึงที่พบคือ กระทรวงการคลังมักจะถูกใส่เข้ามาบ่อยๆ เห็นว่าเพื่อให้สะดวกต่อเรื่องงบประมาณ ถ้ามีข้อติดขัดอะไรก็จะได้ปรึกษาได้เลย ส่วนถ้าคณะกรรมการชุดไหนที่ออกแบบให้มี “การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน” ก็จะเป็น ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย 3 แห่งนี้ ที่มักจะได้สัดส่วนอยู่เสมอๆ (กรณีเป็นคณะกรรมการที่ดูแลภาพกว้างๆ – ส่วนถ้าเป็นกฎหมายที่เจาะจงอุตสาหกรรม ก็จะเป็นสมาคมผู้ประกอบการหรือสมาคมวิชาชีพในอุตสาหกรรมนั้นๆ)
อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุณสมบัติในแง่ที่มา-สัดส่วนตัวแทน อาจไม่จำเป็นต้องเป็น “กรรมการโดยตำแหน่ง” ก็ได้ เช่นอาจระบุกว้างๆ ให้มีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกี่คนหรืออย่างน้อยกี่คนก็ได้ เช่นในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 30 ก.ย. 2559 ที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา มาตรา 20/1 ที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ วรรคสองระบุว่า “ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคณะ โดยแต่ละคณะให้มีจำนวนห้าคน ซึ่งสองในห้าต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”
ความรู้และประสบการณ์
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ของกรรมการ กฎหมายบางฉบับอาจจะระบุลงไปเลยว่า ต้องการกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญด้านไหนๆ กี่คน (เช่น ให้มีกรรมการด้านกฎหมาย 1 คน ด้านผู้บริโภค 1 คน ด้านวิศวกรรม 1 คน) ในขณะที่กฎหมายบางฉบับอาจจะเขียนรวมๆ (เช่น ให้มีกรรมการด้านกฎหมาย ด้านผู้บริโภค ด้านวิศวกรรมรวม 3 คน แบบนี้ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะได้นักกฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมา 1 คน [กฎหมาย+ผู้บริโภค] และวิศวกรอีก 2 คน)
ตัวอย่างเช่น ในมาตรา 6 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี พ.ศ. 2553 (ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้) จะเขียนแจกแจงเลย ว่าในคณะกรรมการกสทช. จะกรรมการด้านใดจำนวนกี่คน
ในขณะที่ในร่างมาตรา 6 ใหม่ที่กำลังแก้ไขอยู่ เขียนว่าอยากให้มีด้านใดบ้าง และเขียนให้จำนวนคณะกรรมการทั้งหมดแบบรวมๆ 7 คน
อีกตัวอย่างเช่น ในมาตรา 7 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุว่าให้มี “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านสังคมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” คือมีความเชี่ยวชาญอยู่ 6 ด้านเป็นอย่างน้อยที่เขียนไว้ แต่มีกรรมการ 5 คน ก็อาจจะตีความได้สองแบบคือ 1) ให้หากรรมการที่เชี่ยวชาญมากกว่าหนึ่งสาขา 2) อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญให้ครบ 6 ด้านนี้ในคณะกรรมการ (หรือกรรมการโดยตำแหน่งอาจจะมีใครเชี่ยวชาญเรื่องที่ขาดไปก็ได้?)
เรื่องน่าสนใจอีกอันก็คือ ในกรณีที่ต้องการนักวิชาการ บางกฎหมายจะกำหนดว่าให้คัดเลือกจากอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่นในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 17 ส.ค. 2559 (ร่างฉบับนี้เก่าแล้ว ปัจจุบันหน้าตาที่มาเปลี่ยนไปแล้ว ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น) มาตรา 20/1 ที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีตอนหนึ่งเขียนว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐหนึ่งคน” แบบนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนก็อดไป หรือแม้จะระบุแค่เพียง “อาจารย์” ก็อาจทำให้คนที่มีความรู้เรื่องนั้นแต่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษาหมดสิทธิ์เช่นกัน
กรรมการเฉพาะกิจ
สำหรับ “กรรมการเฉพาะกิจ” คณะกรรมการบางชุดอาจอนุญาตให้มีการเชิญบุคคลภายนอกที่ปกติไม่ใช่กรรมการมาเป็นกรรมการเฉพาะการประชุมหนึ่งๆ ที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ในพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ที่ในมาตรา 6 วรรค 3 พูดถึง “สมาชิกเฉพาะกิจ” ที่มีฐานะเหมือนสมาชิกปกติ “เฉพาะการประชุมที่ได้รับเชิญ”
อายุของตัวกรรมการ
สิ่งหนึ่งที่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่ตอนนี้อยู่ในสภา เปลี่ยนแปลงไปจากพ.ร.บ.ฉบับปี 2553 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็คือ ช่วงอายุ ที่จะเป็นกรรมการกสทช.ได้ จากปัจจุบัน 35-70 ปี เปลี่ยนเป็น 45-65 ปี ซึ่งก็นึกเหตุผลไม่ออก
ลองดูเกณฑ์อายุของสมาชิกคณะกรรมการอื่นๆ ได้เป็นตารางนี้
กรรมการ / คณะกรรมการ | อายุไม่ต่ำกว่า | อายุไม่เกิน |
---|---|---|
กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ร่าง) | 45 | 65 |
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ร่าง) | – | 65 |
กรรมการ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ร่าง) | – | – |
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค | – | – |
กรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ | 35 | – |
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ | 35 | – |
กรรมการ คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย | 35 | – |
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ | 25 | – |
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ | 35 | – |
กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (2543) | 35 | 70 |
กรรมการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (2543) | 35 | 70 |
กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (2553) | 35 | 70 |
กรรมการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ร่างรธน.) | – | – |
กรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ร่าง) | – | – |
โดยรวมที่พบคือ ส่วนมากจะกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 35 ปี และไม่ได้กำหนดว่าอายุห้ามเกินเท่าไร กฎหมายที่มีกำหนดเพดานอายุจะเป็นพวกกฎหมายไอซีที
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนี่ไม่ระบุอายุเลย ส่วนคณะกรรมการดิจิทัลกำหนดเฉพาะว่าไม่เกินเท่าไหร่ ไม่กำหนดขั้นต่ำ ในขณะที่คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติกำหนดอายุขั้นต่ำต่ำกว่าใคร คือ 25 ปี
ที่งงๆ คือ ตัวร่างพ.ร.บ.กสทช.กับร่างพ.ร.บ.ดิจิทัลฯ ก็มาไล่ๆ กันในรัฐบาลเดียวกัน แต่ทำไมเกณฑ์เรื่องนี้ต่างกัน คืออันแรกกำหนดอายุ 45 ปี อันหลังกำหนด 35 ปี เลยจะอธิบายว่าเป็นเรื่องอาวุโส ประสบการณ์ ก็อธิบายไม่ได้เต็มที่นัก เพราะคณะกรรมการกสทช.เองก็ต้องทำตามนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลฯอีกที (ซึ่งเป็นไปได้ที่กรรมการในคณะกรรมการดิจิทัลจะอายุน้อยกว่า)
และทำไปทำมา อายุกับประสบการณ์ สัมพันธ์กันแค่ไหน ประสบการณ์ 1 ปีในช่วง 1990-2000 กับประสบการณ์ 1 ปีในช่วง 2001-2010 เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในปี 2020 เท่ากันไหม ที่สุดคือ มันโอเคแค่ไหนกับการกำหนดเกณฑ์อายุตายตัวขนาดนั้นในกฎหมาย
Audrey Tang รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นานนี้ เธอพัฒนาเว็บค้นหาเนื้อเพลงจีนตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานในบริษัทซอฟต์แวร์ตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นผู้จัดการโครงการโอเพนซอร์สอย่าง Perl เขียนซอฟต์แวร์สเปรดชีตออนไลน์เจ๋งๆ อย่าง EtherCalc เปิดบริษัทของตัวเองหลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทแอปเปิล ได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักกิจกรรมสังคม แต่คุณสมบัติไม่น่าจะมาเป็นกสทช.ของไทยได้ในชุดหน้า เนื่องจากวันที่รับตำแหน่งเธออายุเพียง 35 ปี ไม่ถึงเกณฑ์ 45 ปี ของร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ … นี่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ไม่ได้เหมือนกัน ตอนนี้อายุแค่ 32 ปี
วาระดำรงตำแหน่ง
วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายด้วย เช่น ถ้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ก็มาและไปตามตำแหน่งนั้นๆ ถ้าเป็นกรรมการที่สรรหามาก็อาจกำหนดให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี 4 ปี 5 ปี แล้วแต่ นอกจากนี้ยังอาจกำหนดด้วย ว่ากรรมการจะพ้นวาระเมื่อใด เช่น เมื่อตาย ลาออก ถูกถอดถอน ละเมิดกฎ หรืออายุเกิน
การเข้าและออกสู่การเป็นกรรมการในคณะกรรมการหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องพร้อมกัน เช่นถ้ามีกรรมการคนใดคนหนึ่งพ้นตำแหน่งไป ก็สามารถเลือกหรือตั้งกรรมการคนใหม่เข้ามาแทนได้ หรือสำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการเฉพาะกิจ จะตั้งเพิ่มเติมภายหลังก็ทำได้
นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบให้การสรรหากรรมการเข้าสู่คณะกรรมการมีลักษณะเหลื่อมกันได้ด้วย ดังเช่น พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 หรือพ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ในมาตรา 23 วรรค 2 ออกแบบวาระของกรรมการนโยบายเอาไว้น่าสนใจดี
คือคณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสนั้น มีทั้งหมด 9 คน ประธาน 1 คน กรรมการที่เหลืออีก 8 คน กรรมการมีวาระ 4 ปี – ทีนี้หลัง 2 ปีแรกที่มีคณะกรรมการชุดแรก จะมีจับสลากเอากรรมการออกครึ่งนึง (4 คน) แล้วเลือกเข้ามาใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง – ผ่านไปอีก 2 ปี กรรมการอีกครึ่งหนึ่งที่รอดจากการจับสลากเมื่อ 2 ปีก่อน ก็จะหมดวาระลง ก็เลือกเข้ามาใหม่ และอีก 2 ปีถัดไปชุดที่เข้ามาแทนที่คนจับสลากออก ก็จะหมดวาระ ก็เลือกเข้าใหม่ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ (การจับสลากออกจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในวาระเริ่มแรกเท่านั้น)
ไม่รู้ว่าการออกแบบแบบนี้มีที่มายังไง แต่เห็นว่ามันอาจจะทำหน้าที่ได้อย่างน้อย 3 อย่าง
1) ลดโอกาสครอบงำโดยผู้สรรหากลุ่มเดียว คือในกระบวนการสรรหากรรมการ คนก็กลัวว่าจะมีอำนาจทางการเมือง ทุน หรือกระแสสังคมอะไรมาแทรกแซงกดดัน เช่น กลัวว่าสรรหาเข้ามาในสมัยรัฐบาลไหน ก็จะเป็นพวกรัฐบาลสมัยนั้น แต่พอทำให้วาระของกรรมการมันเหลื่อมกัน มันก็โอกาสที่จะลดการครอบงำแบบยกแผงได้ (เว้นว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคเดียวกันต่อเนื่อง – แต่ในแง่นั้นก็อาจจะพอพูดได้ว่า ก็ประชาชนไว้ใจ)
2) ช่วยให้คณะกรรมการ “สดใหม่” อยู่เสมอ “อัปเดต” สมาชิกของคณะกรรมการได้ถี่ขึ้น แทนที่จะต้องรอให้ครบทุก 4 ปี แล้วอัปเดตรวดเดียว ก็สามารถอัปเดตเป็นขยักได้ทุก 2 ปี ตรงนี้ก็น่าจะช่วยให้หน้าตาของกรรมการสอดคล้องกับโจทย์ของสังคม ณ เวลานั้นมากขึ้น
3) ช่วยให้การทำงานของคณะกรรมการมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนทีเดียวยกชุด แล้วมาเริ่มใหม่หมดจากศูย์กันทุกคน กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้เวลา ถ้าเปลี่ยนทีละครึ่ง ครึ่งที่อยู่มาก่อนก็ช่วยประครองครึ่งที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้
คณะกรรรมการที่เกี่ยวกับสื่อ ไอซีที และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีประเด็นทางสังคมใหม่ๆ อย่างคณะกรรมการดิจิทัลและคณะกรรมการกสทช. น่าจะลองโมเดลนี้ดู สลับปีให้มันเหลื่อมกัน
อย่างไรก็ตาม พวกคณะกรรมการที่มีแต่กรรมการโดยตำแหน่งเยอะๆ นี่ วิธีนี้อาจไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก คือส่วนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งข้าราชการการเมือง (อย่างรัฐมนตรี) มันก็เวียนตามวาระรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งข้าราชการประจำ (อย่างอธิบดี) เขาก็อาจจะอยู่กันในตำแหน่งนานๆ ก็ได้ อีกอย่าง การเข้าการออกตำแหน่งพวกนี้ในแต่ละกรมมันก็ไม่ได้พร้อมๆ กันไปทั้งหมด (คือไม่จำเป็นต้องมากำหนดการเหลื่อมกันในชั้นคณะกรรมการก็ได้)
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความหลากหลายในความคิดเห็นของกรรมการ-ลดโอกาสการครองงำโดยผู้สรรหากลุ่มเดียว ไม่ได้ทำได้ด้วยการทำให้การเข้าสู่วาระเหลื่อมกันเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีอื่นได้ด้วย เช่นการออกแบบอำนาจในการแต่งตั้ง การพ้นวาวระ และการถอดถอนกรรมการ ดังเช่นในกรณี ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน (ประธาน 1 คน ตุลาการสทบอีก 8 คน) ประธานาบดีแห่งสหรัฐอเมริกามีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกศาลสูงสุด (เสนอชื่อและให้สภารับรอง) แต่ไม่มีอำนาจถอดถอน สมาชิกศาลสูงสุดจะอยู่ในวาระไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะลาออก ซึ่งในทางปฏิบัติ เนื่องจากสมาชิกจะตายไม่พร้อมกันและตายในช่วงประธานาธิบดีที่อาจจะมาจากคนละพรรคการเมือง ส่งผลให้สมาชิกของศาลสูงสุดมีความหลากหลายในทางอุดมการณ์การเมือง
โครงสร้างอำนาจ: คณะกรรมการรายงานต่อใคร ใครสั่งคณะกรรมการได้ ใครสรรหา-แต่งตั้ง-ถอดถอนกรรมการได้
อีกสิ่งที่คนออกแบบคณะกรรมการจะคิดไว้ ก็คือ คณะกรรมการนี้จะไปทำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบไหน เช่น เป็นคณะกรรมการที่ทำงานภายใต้โครงสร้างกระทรวง เป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างหลายหน่วยงาน หรือเป็นคณะกรรมการอิสระ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อสภาผู้แทนราษฎรเลย เหล่านี้เราสามารถอ่านได้จากตัวกฎหมายนั้นๆ หรืออ่านประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการที่ประธานกรรมการเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยตำแหน่ง ก็จะทำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างของกระทรวงนั้น (แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เสมอไป คือถ้ารัฐมนตรีกระทรวงปล่อยอิสระ หรือประธานคณะกรรมการแข็งแรงพอ คณะกรรมการก็อาจจะเป็นอิสระได้ในช่วงเวลานั้นๆ)
สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อกระจายอำนาจให้ได้ดุล หรือลดการแทรกแซง กฎหมายก็อาจออกแบบให้อำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอน กระจายไปอยู่ในหน่วยงานหรือบุคคลที่แยกต่างหากออกจากกัน
ตัวอย่างเช่น กรณีผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ประธานาธิบดีมีอำนาจเสนอชื่อ (nominate) จากนั้นวุฒิสภาจะรับรอง (confirm) เพื่อแต่งตั้ง แต่เมื่อผู้พิพากษาคนนั้นรับตำแหน่งแล้ว ก็จะอยู่ในตำแหน่งไปตลอดชีวิต ไม่มีใครมีอำนาจถอดถอนได้ แม้แต่ประธานาธิบดี (เชื่อว่าเพื่อให้การทำงานไม่ถูกแทรกแซง)
หรือคณะกรรมการบางชุด ก็อาจจะมีกระบวนการสรรหาที่ละเอียดหรือ “ซับซ้อน” ขึ้น โดยอาจจะมีจุดประสงค์เพื่อให้มีการคัดกรองที่ละเอียดขึ้น ได้รับการเสนอชื่ออย่างหลากหลายมีส่วนร่วมมากขึ้น ลดอำนาจสรรหาจากหน่วนงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยตรง หรือจุดประสงค์อื่น
เช่น มาตรา 18 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ก็กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 15 คน มาจากสมาคมสื่อ สภานักวิชาการสื่อ เอ็นจีโอ สภาทนายความ สสส. และปลัดกระทรวง โดยระบุชื่อตำแหน่งและชื่อหน่วยงานลงในกฎหมายเลย — ซึ่งก็ถามได้เหมือนกัน ว่าทำไมต้องเป็นองค์กรเหล่านี้ด้วย ถ้าต่อไปมีองค์กรอื่นหรือบุคคลอื่นที่น่าจะเหมาะสมกว่า ทำไมเขาถึงมามีส่วนร่วมสรรหาด้วยไม่ได้
เพื่อ “แก้ปัญหา” ดังกล่าว พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พยายามเปิดช่องให้ตัวแทนจากกลุ่มอื่นที่ไม่ได้กำหนดชื่ออย่างเจาะจงไว้ในกฎหมายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาได้ โดยกำหนดที่มาของผู้ถูกเสนอชื่อไว้ 2 ทาง ทางหนึ่งมาคณะกรรมการสรรหาที่กฎหมายระบุชื่อไว้ อีกทางหนึ่งมาจากสมาคมหรือนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนไว้ตามมาตรา 9 จากนั้นรายชื่อจากทั้ง 2 ทางจะถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง (กระบวนการนี้กำลังจะเปลี่ยนในร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่)
เนื่องจากงานของรัฐสมัยใหม่มีความซับซ้อนข้ามประเด็นข้ามความรับผิดชอบมากขึ้น อีกทั้งรัฐยังมีแนวโน้มจะลงมือทำเองน้อยลง และผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการ (facilitator) หรือผู้กำกับกิจการ (regulator) มากขึ้น จำนวนคณะกรรมการต่างๆ จึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ การสรรหาคณะกรรมการก็มากขึ้นตาม ประเทศอย่างสหราชอาณาจักรต้องการให้กระบวนการสรรหาเหล่านี้เป็นไปด้วยมาตรฐานที่สม่ำเสมอ โปร่งใสตรวจสอบได้ และมีความรับผิดต่อสาธารณะ ก็เลยจัดการให้มีหน่วยงานที่มาทำหน้าที่กำกับการสรรหาแต่งตั้งอีกที ชื่อว่า “คณะกรรมการเพื่อการแต่งตั้งตำแหน่งสาธารณะ” (Commissioner for Public Appointments) โดยคณะกรรมการนี้จะไม่ทำการสรรหาแต่งตั้งเอง แต่จะเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองว่าเป็นไปตามกฎที่วางไว้หรือไม่
การรายงานต่อใคร ใครจะมาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หรือใครจะเป็นคนมีอำนาจเอากรรมการเข้าออก พวกนี้สามารถใช้ดูได้ ว่าคณะกรรมการใดเป็นอิสระจากใคร แค่ไหน ว่าง่ายๆ คือ จากมุมมองของคณะกรรมการ พอมองขึ้นไปข้างบน ก็จะเห็นว่าใครอยู่เหนือหัวบ้าง
แต่ไม่ใช่แค่คนที่อยู่บนหัวเท่านั้น แต่คนที่อยู่รอบๆ ที่จะทำงานด้วยกัน ช่วยเหลืองานกัน ก็มีส่วนเช่นกัน (และใครสั่งคนๆ นั้นได้? คนๆ นั้นต้องรายงานต่อใคร?) ว่าการทำงานจะมีอิสระและมีประสิทธิภาพได้แค่ไหน
โครงสร้างการทำงาน: คณะกรรมการมีใครช่วยงาน สั่งการใครได้
โดยมากแล้ว คณะกรรมการมักทำงานกำหนดนโยบาย กำหนดแผนงาน วินิจฉัยคำร้อง ออกคำสั่ง หรือกำหนดระเบียบ แต่ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติการบังคับใช้คำสั่งหรือระเบียบเหล่านั้นด้วยตัวเอง อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้นำนโยบายและแผนงานไปปฏิบัติ ก็จะมีหน่วยงานอื่นมารับไปทำอีกที
นอกจากนี้หากงานของคณะกรรมการมีมาก ก็จะมี “สำนักงานเลขานุการ” มาทำหน้าที่เรื่องประสานงาน ธุรการ เลขานุการอื่นๆ เป็นการเฉพาะด้วย เช่น คณะรัฐมนตรี มีสำนักงานคณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการกฤษฎีกา มีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการกสทช. มีสำนักงานกสทช., คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ก็ไม่จำเป็นว่าหน่วยงานหนึ่งๆ จะรับเป็นสำนักงานเลขานุการให้กับคณะกรรมการเพียงคณะเดียว บางหน่วยงานอาจจะรับมากกว่าหนึ่งก็ได้ แล้วแต่จะออกแบบ
ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ฉบับเสนอครม. ม.ค. 2558) นอกจากให้มีคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) แล้ว ในมาตรา 14 ยังตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” ขึ้นมาเป็นสำนักงานเลขานุการช่วยงานกปช.ด้วย โดยมาตรา 17 ให้สำนักงานมีหน้าที่ 13 ข้อ ซึ่งรวมถึงการประสานความร่วมมือทางปฏิบัติในการดำเนินงาน ประสานงานเพื่อรวบรวมข้อมูล บริหารแผนงานตามคำสั่งคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม และงานเลขานุการของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย และในมาตรา 21 กำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงาน ดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นต่อต่อประธานกรรมการกปช. และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
ในขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเมื่อ ก.ย. 2558) ในมาตรา 7 (ประกอบนิยามในมาตรา 5) กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นเลขานุการและกรรมการโดยตำแหน่งของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (และให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมาช่วยงานได้อีก 2 ตำแหน่ง) และในมาตรา 16 ให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติทำงานวิชาการและธุรการให้กับคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ซึ่งตรงนี้ก็ตั้งคำถามต่อได้อีก ว่าแม้ในบางกรณีหน้าที่ของงาน 2 ส่วนนี้ (มั่นคงไซเบอร์ และ คุ้มครองข้อมูล) จะส่งเสริมกัน แต่ก็มีบางกรณีที่หน้าที่อาจจะขัดกัน (เช่น คณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์จะใช้อำนาจตามมาตรา 34 ของพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ สั่งเอกชนขอข้อมูลส่วนบุคคล แต่ทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลอาจจะไม่เห็นด้วย) แบบนี้จะทำอย่างไร
การทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลจะเป็นอิสระคานอำนาจได้จริงไหม เพราะตัวเลขานุการก็เป็นเลขาธิการสำนักมั่นคงไซเบอร์ ที่ถูกแต่งตั้งและถอดถอนได้โดยคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ หรือถ้าไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร คนในสำนักงานก็ใส่เกียร์ว่างละกัน แบบนี้งานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็อาจจะดำเนินไปได้ยากในทางปฏิบัติหรือไม่
ถ้าลองดูที่แผนผังความสัมพันธ์ที่มาและที่ไปของอำนาจ ก็จะเห็นได้ว่า มันเอนไปทางฝั่งมั่นคงไซเบอร์มากกว่าด้านคุ้มครองข้อมูล ตรงนี้บอกอะไรกับเราไหม
** อัปเดต 28 พ.ย. 2559 — กมธ.สื่อสารมวลชน ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เสนอปรับเปลี่ยนสัดส่วนของคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ ให้เพิ่มกรรมการจากฝ่ายความมั่นคง(ทางการทหาร)เข้าไปอีก พร้อมให้พิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ส่วนอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคงและเหล่าทัพ แปลว่าอำนาจก็ยิ่งเอนไปทางฝ่ายความมั่นคงทางการทหารมากขึ้นไหม? อำนาจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงโครงสร้างคณะกรรมการก็อาจจะอ่อนลงโดยเปรียบเทียบหรือเปล่า? ถ้าวาดแผนผังใหม่ ก็จะได้แบบนี้ สังเกตตรงประธานคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ จะเปลี่ยนจากรัฐมนตรีดิจิทัลเป็นนายกรัฐมนตรี และมีเพิ่มตำแหน่งรองประธาน 2 ตำแหน่ง หนึ่งในนั้นเพิ่มรัฐมนตรีกลาโหมเข้ามา
[นอกเรื่องนิด: พอดูจากข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนฯ ดูเหมือนนิยามคำว่า “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ที่หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะความมั่นคงทางทหารของไทยเข้าใจ จะรวมเรื่อง “เนื้อหาที่มนุษย์สื่อสารกัน” เข้าไปด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงปลอดภัยของตัวระบบสารสนเทศ — ซึ่งพอมองแบบนี้ก็ทำให้เข้าใจได้ ว่าทำไมกมธ.สื่อสารมวลชนถึงเข้ามาเกี่ยว]
ใครสนใจการทำงานของอำนาจรัฐ สนใจว่ากลไกพวกนี้สุดท้ายจะคุ้มครองเราได้แค่ไหนอย่างไร ใครเป็นผู้เล่นสำคัญ คณะกรรมการที่ควรจะมีอิสระในการทำงานนั้นอิสระจริงไหม ลองทำแผนที่ของอำนาจแบบนี้กันดูเล่นก็ได้ครับ สนุกดี ตอนผมวาดตอนแรกนี่เส้นพันกันยุ่งมาก ลองขยับอยู่สองสามรอบ
ถ้ากฎหมายต่างๆ อยู่ในรูปแบบที่เครื่องอ่านได้ (machine readable) และทำลิงก์เชื่อมโยงระหว่างอำนาจของกฎหมายต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ก็น่าจะสะดวกในการทำความเข้าใจกฎหมายและความสัมพันธ์ของอำนาจดีนะ
อ้างอิง
- การเข้าสู่ตำแหน่งที่เหลื่อมกันของคณะกรรมการไทยพีบีเอส (Facebook)
- ช่วงอายุของกรรมการ ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุด (ก.ย. 2559) (Facebook)
- มาตรา 7 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….
- มาตรา 7 ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
- มาตรา 8 ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
- มาตรา 11 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
- มาตรา 6 พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542
- มาตรา 8 พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- มาตรา 19 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551
- มาตรา 8 พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551
- มาตรา 11 พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559
- มาตรา 8 และมาตรา 14 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543
- มาตรา 8 มาตรา 14 และมาตรา 50 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543
- มาตรา 7 และมาตรา 20 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
- มาตรา 222 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. 2559)
- มาตรา 232 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ 7 ส.ค. 2559)
- มาตรา 6 พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559
- รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
- มองกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านฐานคิดของฝ่ายความมั่นคง
- “ความมั่นคงไซเบอร์” แบบไทยๆ (Facebook)
4 responses to “ออกแบบอำนาจ: อ่านโครงสร้างคณะกรรมการในกฎหมายไทย”
[…] […]
[…] […]
[…] […]
[…] (พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 กำหนดไว้ที่ 35 ปี ต่อมาเมื่อปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร ได้แก้ไขกฎหมายในสาระสำคัญหลายส่วน รวมถึงวิธีการสรรหาและคุณสมบัติกรรมการ และขยับอายุขั้นต่ำจาก 35 ไปเป็น 40 ปี — เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ เทียบกรรมการห…) […]