Trans-Pacific Partnership และการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ … จะคุ้มครองทุกฝ่ายให้แฟร์ๆ ได้ยังไง?


ความคิดเห็นเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) หรือ ทีพีพี (TPP) โดย Susan Chalmers @susan_chalmers ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและ(อดีต)ที่ปรึกษาด้านนโยบายของ InternetNZ ผู้ดูแลระบบโดเมนของนิวซีแลนด์ ซึ่งมาเมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักกฎหมายและผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตไทย

“นอกจากปัญหาเทคนิคทางกฎหมาย เช่นกรณี ‘สำเนาชั่วคราว’ แล้ว การเข้าร่วม TPP อาจทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เช่นมาตราที่ว่าด้วยการนำเข้าซ้อน (parallel import) ระบุว่า เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิในการขอให้ประเทศสมาชิกห้ามนำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์อย่างเดียวกันจากประเทศอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาหนังสือ สื่อการสอน ภาพยนตร์ เพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และงานอันมีลิขสิทธิ์อื่นมีราคาแพงขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยไทยที่ต้องการสั่งซื้อหนังสือเรียนชื่อเรื่องหนึ่ง จำเป็นต้องซื้อหนังสือดังกล่าวจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น มหาวิทยาลัยไม่สามารถซื้อหนังสือชื่อเรื่องเดียวกันจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นที่อาจมีราคาถูกกว่าได้ แม้จะเป็นสินค้าถูกต้องตามลิขสิทธิ์เหมือนกัน เนื่องจากจะเป็นการละเมิดข้อห้ามเรื่องการนำเข้าซ้อน

นอกจากนี้แล้ว ไทยยังต้องอยู่ภายใต้ความตกลงทริปส์พลัส (TRIPS+) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่จะขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปีหลังการเสียชีวิตของผู้เขียนออกไปเป็น 70 ปีหลังการเสียชีวิตสำหรับเจ้าของงานที่เป็นบุคคลธรรมดา และอาจยาวนานถึง 95 ปีหลังการตีพิมพ์หรือยาวนานถึง 120 ปีหลังการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับเจ้าของผลงานที่เป็นนิติบุคคล

การขยายเวลาคุ้มครองและกฎระเบียบที่อาจมองว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดมากขึ้นนี้ ถือเป็นข้อน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้นำเข้าสื่อมากกว่าการเป็นผู้ส่งออก”

ยังมีประเด็นความรับผิดของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ และความสามารถในคิดค้นนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก อ่านฉบับเต็ม (ซึ่งมีอธิบายด้วย ว่าอะไรคือ TPP) ที่ นำเข้าซ้อน-สำเนาชั่วคราว-ขยายลิขสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญห่วง ไทยเข้าร่วม TPP อาจได้ไม่คุ้มเสีย ถอดความและสัมภาษณ์โดย ลีลา สัตยมาศ @officiallyleela


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.