กินเหล้ากันได้จริงจังมากครับ
Campaign for Real Ale (CAMRA) หรือ “กลุ่มรณรงค์เพื่อเอลของแท้” เป็นองค์กรผู้บริโภคที่โปรโมตเรื่อง เอลของแท้ ไซเดอร์ของแท้ ผับบริติชแบบดั้งเดิม และสิทธิของนักดื่ม เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทำประเด็นเดียวที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร และเป็นสมาชิกก่อตั้งของสหภาพผู้บริโภคเบียร์แห่งยุโรป (European Beer Consumers’ Union – EBCU)
เอลนี่คือเบียร์ชนิดหนึ่ง ส่วนไซเดอร์คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากน้ำผลไม้หมัก โดยมากจะเป็นน้ำแอปเปิล
จุดประสงค์ของ CAMRA นั้นเพื่อ
- คุ้มครองและพัฒนาสิทธิผู้บริโภค
- ส่งเสริมคุณภาพ ตัวเลือก และความคุ้มค่า
- สนับสนุนผับในฐานะศูนย์รวมของชีวิตชุมชน
- รณรงค์เพื่อให้คนเห็นคุณค่าของเบียร์ ไซเดอร์ และแพรี่* แบบดั้งเดิม ในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ
- ผลักดันการปรับปรุงร้านขายเบียร์ทุกแห่ง ตลอดจนทั่วทั้งอุคสาหกรรมผลิตเบียร์
(* perry เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากน้ำลูกแพร์หมัก บางทีก็เรียกว่า pear cider – แต่ CAMRA ไม่ยอมให้เรียกแบบนั้นนะครับ)
ทุกปี CAMRA จะจัดพิมพ์หนังสือแนะนำผับและโรงเบียร์ Good Beer Guide และยังมี Good Cider Guide และ Good Bottled Beer Guide เป็นรายสะดวก
นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนเทศกาลเบียร์และไซเดอร์ทั่วประเทศ และจัดงาน Great British Beer Festival เป็นประจำทุกปี ที่ Earl’s Court (แถวนั้นผับดีๆ เยอะมาก / ไม่นับผับไทยนะ / ไม่ใช่ว่าผับไทยไม่ดี แต่มันคนละอย่างอ่ะ / วงเล็บมรึงยาวแซบซ้อนแมรก)
แล้วก็มีมอบรางวัล National Pub of the Year โดยกระบวนการตัดสินในรอบแรกจะให้สมาชิกในแต่ละสาขาโหวตผับที่ชอบมาก่อน แล้วผับที่ชนะโหวตก็จะเข้าสู่การแข่งขันระดับภูมิภาค ซึ่งจะมีกรรมการแวะไปนั่งกิน แล้วก็เลือกผับที่คิดว่าดีที่สุด มีรางวัล Pub Design Awards (จัดร่วมกับ English Heritage และ The Victorian Society) และรางวัล Champion Beer of Britain
ในทางหนึ่ง CAMRA ก็เรียกร้องสิทธิของนักดื่ม ที่จะได้เบียร์ดีๆ ผับดีๆ รวมไปถึงการยอมรับจากสังคมว่า การดื่มก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนะเว้ย ไม่ใช่เรื่องบาปหนาสาหัส และโดยตัวการดื่มเองก็ไม่ใช่ปัญหาสังคม ในอีกทางหนึ่งองค์กรอย่าง CAMRA ก็ช่วยให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ที่ผลิตของมีคุณภาพ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาด ผ่านการส่งเสริม งานเทศกาล และการให้รางวัล ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเป็นผลดีกับทั้งอุตสาหกรรมภาพรวมและกับผู้บริโภคเองด้วย
#สิทธินักดื่ม สุดๆ ครับ
แต่อะไรแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรายากครับ เพราะกฎหมายยังไม่อนุญาตให้มีบริเวอรีขนาดเล็ก คือสุราแช่อะไรทำได้หมด แต่ถ้าเป็นเบียร์นี่ต้องทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทขึ้นไป และผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี ก็เลยมีแต่สิงห์ ช้าง ไฮเนเก้น หรือโรงเบียร์ขนาดใหญ่อย่างตะวันแดง
ที่ตลกคือ ตอนนี้ตลาดเบียร์จากไมโครบริเวอรีในเขตเมืองเขตนักท่องเที่ยวโตขึ้นมาก มีการนำเข้าเบียร์จากไมโครบริเวอรีเล็กๆ ในเบลเยียม นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นมาขายในเมืองไทย บางล็อตนี่ทำแบบน้อยมากๆ จากบริเวอรีแบบกิจการครอบครัว ซึ่งหลายอันถ้ามาทำในเมืองไทยก็คงทำไม่ได้ แต่เรานำเข้าของพวกนี้ได้ :p กิจการที่โตในเมืองไทย ก็เลยเป็นกิจการนำเข้าเบียร์พวกนี้ครับ บริโภคอย่างเดียว ผลิตไม่ได้
เลยนึกถึงที่ กานดา นาคน้อย เขียนไว้เรื่องนี้ (เปิดเสรี “ข้าว เหล้า ไวน์” ก้าวให้พ้นจำนำข้าว) ว่าตลาดข้าวไทยจะพัฒนากว่านี้ ถ้าเปิดโอกาสให้ชุมชนแปรรูปข้าวเป็นเครื่องดื่มได้หลากหลาย รองรับตลาดภายในประเทศ รวมทั้งสร้างโอกาสตลาดต่างประเทศ
ตะกี้นึกได้อีกเรื่อง ว่าเราควรจะมีงานวิจัยเรื่อง ร้านเหล้าต๊อกในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เพราะบ้านเราก็ไม่ได้มีวัฒนธรรม public house ร้านเหล้าต๊อก ร้านน้ำชา ร้านของชำปากซอย อะไรพวกนี้น่าจะเข้ากะบริบทสังคมไทยมากกว่า
หลายเรื่องปนๆ กันครับ โพสต์นี้
ข้อมูล CAMRA จากวิกิพีเดีย โพสต์ครั้งแรกที่เฟซบุ๊ก Art Bact’ 6 ก.ค. 2556