กฎข้อสองของบาร์แคมป์: “คุณต้องบล็อกเกี่ยวกับบาร์แคมป์” (You do blog about BarCamp)
ที่บาร์แคมป์เวียงจันทน์, เอียน ชายอเมริกัน บอกผมถึงข้อสังเกตหนึ่ง เกี่ยวกับคนในภูมิภาคนี้
เขาพบว่าคนลาว เขมร เวียดนาม พยายามจะสื่อสารกับพวกเขาด้วยภาษาอังกฤษ ในขณะที่คนไทยพูดน้อยกว่ามาก
เราคุยกันเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง พิดจิน, ครีโอล, และสภาวะหลายภาษา-ข้ามภาษา
อัลวิน เป็นคนจีน-มาเลย์ ที่ครอบครัวพูดฮกเกี้ยนและแมนดาริน ตอนนี้อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ทำงานให้กับบริษัทสิงค์โปร์ เขาเข้าใจภาษา Singlish
เอียน เป็นคนอเมริกันที่เกิดที่ฮาวาย เคยทำงานและอาศัยที่นิวยอร์ก
แม็กกี้ เพื่อนของเอียน ก็เกิดที่ฮาวายเช่นกัน เธอไปทำงานที่โตรอนโต เมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมากแห่งหนึ่งของอเมริกาเหนือ
เอียนและแม็กกี้พูดพิดจินที่ใช้ในแถบฮาวายได้ ทั้งสองคนลาออกจากงานเพื่อเดินทาง
เอียนบอกว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับโลกภายนอกเลย และจำนวนมากก็พูดภาษาแค่ภาษาเดียวคือภาษาอังกฤษ
แม็กกี้เองก็อยากจะรู้ว่าโลกมันเป็นยังไง เลยเริ่มออกเดินทาง ทั้งสองคนเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาได้แปดเดือนแล้ว
ผมเล่าเรื่องโจ๊กของคนเอดินบะระที่แซวสำเนียงของคนกลาสโกว์ และนิยายเรื่องหนึ่งที่ผมจำชื่อและอะไรอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่า ตัวเอกของเรื่องเป็นคนอพยพจากยุโรปตะวันออกมาอยู่อเมริกา และเรียนภาษาอังกฤษจากช่องกีฬา
หลังจากเล่าจบ โธมัสก็ถามเราว่ารู้จัก เหยา หมิง ไหม เขาคือนักบาสตัวสูง โคตรสูง จากจีนที่ไปเล่นเอ็นบีเอ
โธมัสบอกว่า ตอนแรกที่เขาฟังเหยาหมิงพูดภาษาอังกฤษทางวิทยุ เขานึกว่าคนอเมริกันผิวดำพูดอยู่
ตอนเหยาหมิงไปอเมริกา เขาพูดอังกฤษไม่ได้เลย และจากการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนร่วมทีม เขาก็ได้สำเนียงและสไตล์การพูดแบบนั้นมา
ก่อนหน้านั้น ผมเล่าให้เอียนฟังเกี่ยวกับความซีเรียสของคนไทย กับการออกเสียงให้ ‘ถูกต้อง’
เอียนบอกว่า บางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่คนไทยรู้สึกประหม่า ไม่กล้าคุยกับฝรั่ง เพราะกลัวออกเสียงผิด
เอียนน่าจะเป็นคนที่ไม่กลัวเรื่องนี้ ตลอดมื้ออาหารเขาพยายามพูดภาษาลาวกับคนรอบ ๆ ตลอดเวลา
สำเนียงของเขาเพี้ยนไปจากที่คนลาวพูดแน่ ๆ “โค้กหนึ่งป๋อง” เขาได้กินตามที่สั่ง
โธมัสพูดลาวและเขมรได้นิดหน่อย บางคำ แต่บ่นว่าภาษาเวียดนามยาก และคนเวียดนามดูจะไม่สนับสนุนการพยายามหัดภาษาของเขาเลย ทุกคำที่เขาพูดจะถูกล้อ จนเขาเบื่อ และเลิกเรียนมันในที่สุด
โธมัสและภรรยาเป็นชาวเยอรมัน ทั้งสองคนอยู่ในประเทศแถบนี้มาได้หลายปีแล้ว เริ่มที่กัมพูชา ไปอยู่เวียดนามอีกสองปี จากนั้นก็มาลาว
ก่อนจากเยอรมนี โธมัสมีโอกาสไปงานบาร์แคมป์ที่แฟรงก์เฟิร์ต เขาชอบ และเอาไอเดียนั้นไปเผยแพร่ต่อในประเทศที่เขาเดินทางไปถึง
ระหว่างเดินข้ามถนนไปร้านอาหาร ผม เอียน กับแม็กกี้ คุยถึงทิศทางของเลนรถที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ความเคยชินที่ทำให้เกิดอันตราย
แม็กกี้บอกว่าหลังจากเดินทางมาเยอะ ๆ ความเคยชินใหม่ของเธอก็คือ ต้องดูถนนมันทั้งสองทาง อย่าไปคิดเอาเอง
อัลวินก็ดูจะเป็นคนชอบเดินทาง เขาอายุ 27 ปี ทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และตกลงกับบริษัทที่สิงคโปร์ว่าจะทำงานผ่านเน็ต
เขาย้ายเมืองอยู่ไปเรื่อย ๆ และตอนนี้อยู่เชียงใหม่ได้สามเดือนแล้ว
ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เดินทางเยอะ ตาได้เห็นความไม่ปกติอันเป็นปกติ และหูได้ฟังภาษาและสำเนียงอันหลากหลาย
สมัยมัธยมเรามีครูภาษาอังกฤษจากอินเดียและฟิลิปปินส์ อาจารย์จำนวนหนึ่งของผมในมหาลัยที่เมืองไทย เป็นคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น จำนวนหนึ่งเป็นคนจากเอเชียใต้
ตอนไปอยู่เอดินบะระ ผมก็ยิ่งได้ยินสำเนียงภาษาสารพัด ทั้งจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน คนตามร้านค้า และโต๊ะข้าง ๆ ในผับ ได้รู้ว่าภาษาอังกฤษแบบสก็อตมีไวยากรณ์บางอย่างต่างจากอังกฤษ ‘แบบบีบีซี’
ผมนึกถึงคำว่า ‘แก้ว’ ในภาษาลาว (ขวด) และ ‘แก้ว’ ในภาษาไทย
โธมัสบอกว่า เขาไม่เข้าใจว่า ทำไม Z จึงต้องเรียกว่า ‘ซี’ เขาคิดว่าการเรียกแบบอังกฤษว่า ‘เซ็ด’ นั้นก็เมกเซนส์อยู่แล้ว (ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าที่เขาอ้างนี้ถูกรึเปล่า มันน่าจะเป็น ‘แซ็ด’ สิ ‘เซ็ด’ มันดูเยอรมันไปหน่อย)
แม็กกี้เห็นด้วย เธอบอกว่าสมัยเด็ก ๆ เธองงมากว่าทำไมตอนต้นเริ่มด้วย เอ บี ซี แล้วตอนท้ายต้องไปจบที่ ซี อีก (โอเค โดยเคร่งครัดแล้ว มันอาจเป็นคนละซีกัน แต่เราคงพอนึกออกถึงความสงสัยนี้)
สมัยเด็ก ๆ ผมเรียก H ว่า ‘เฮช’ มาโดยตลอด จนสมัยวัยรุ่น ใครก็ไม่รู้มาบอกว่า ต้องเรียกว่า ‘เอช’ สิ มีแต่คนไทยเท่านั้นแหละสอนกันผิด ๆ ว่า ‘เฮช’ … ผมเพิ่งได้รู้อีกครั้งตอนไปอยู่สกอตแลนด์ ว่าอย่างน้อยคนแถวนั้นก็เรียกมันว่า ‘เฮช’
การได้เห็นอะไรที่ผิดความคาดหมายบ่อย ๆ มันก็สอนให้เราเผื่อใจ และไม่ตัดสินคนจากความแผก หรือไปมองว่ามันเป็นสาระสำคัญ จนมองข้ามเรื่องอื่น
ผมคิดว่าปัญหาอะไรหลาย ๆ อย่าง มันก็มาจากแค่นี้แหละ
ทัศนคติที่ตัดสินว่า แผก คือ ผิด
โพสต์ครั้งแรกที่เฟซบุ๊ก 21 พ.ย. 2554
เพิ่มเติม
พิดจิน (pidgin) คือภาษาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่คนตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป ต้องการจะสื่อสารกัน แต่ไม่มีภาษากลางที่ใช้ร่วมกัน จึงต้องคิดภาษาใหม่ขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวมักเกิดบ่อยกับพ่อค้าทางเรือในสมัยก่อน ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพิดจินก็คือ มันไม่ใช่ภาษาแม่ของคนกลุ่มใดเลย ทุกคนเรียนมันเป็นภาษาที่สอง (หรือสามสี่…)
ครีโอล (creole) เป็นภาษาที่เกิดจากการผสมกันของภาษาตั้งแต่สองภาษาขึ้นไป และถูกทำให้กลายเป็นภาษาถิ่น ลักษณะสำคัญของมันที่ต่างจากพิดจินก็คือ มันสามารถเป็นภาษาแม่ได้ แต่ก็ไม่จำเป็น เช่น Bahasa Indonesia ซึ่งถือว่าเป็นครีโอลที่อยู่บนฐานของภาษามาเลย์ผสมกับภาษาถิ่นและภาษาจากยุโรป มีผู้พูดมันเป็นภาษาแม่เฉพาะในเขตเมือง (อย่างจาการ์ตา) เท่านั้น และเอาเข้าจริงแล้ว Bahasa Indonesia ที่พูดตามเมืองต่าง ๆ ในอินโดนีเซียเองก็จะได้รับอิทธิพลจากภาษาถิ่นเข้าไป Singlish ในสิงคโปร์ก็เป็นครีโอลที่อยู่บนฐานของภาษาอังกฤษ ผสมกับภาษามาเลย์ จีน ทมิฬ และภาษาถิ่นอื่น ๆ
ครีโอลนั้นเคยถูกมองว่ามีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่า “ภาษามาตรฐาน” (กระทั่งในวงวิชาการภาษาศาสตร์เองก็เคยมีมุมมองแบบนี้ คือมองว่าครีโอลเป็นภาษาที่ “ถูกปนเปื้อน”) แต่ภายหลังยุคอาณานิคม ความคิดเช่นนั้นก็เริ่มถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ บางประเทศประกาศให้ครีโอลเป็นภาษาประจำชาติ แต่ก็มีบางประเทศอย่างสิงคโปร์ที่สถานะทางสังคมของ Singlish ก็ยังต่ำกว่า “ภาษาอังกฤษมาตรฐาน” รัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนับสนุนให้ใช้มันในสื่อ แต่เหมือนนักวาดการ์ตูน Troy Chin จะไม่สนใจ เขาเลือกใช้ Singlish ในการ์ตูน The Resident Tourist
3 responses to ““รวมมิตร” บาร์แคมป์เวียงจันทน์ #barcampvte”
เซ็ด ถูกแล้ว มาจาก zeta แซ็ดนี่น่าจะสำเนียงไทย
ถ้าดูจาก IPA ในวิกิพีเดียแล้ว L ก็น่าจะเป็น เอ็ล เหมือนกันนะ (หรืออย่างน้อยก็น่าจะเหมือน เอ็ม เอ็น)
กำลังหาความหมายของ ครีโอล
แต่พออ่านเนื้อเรื่องแล้ว ได้ความรู้เยอะกว่าที่คิดเลย ขอบคุณนะครับ