Thai spelling of "Lanna"


จากเว็บ โลกล้านนา, เขาว่างี้:

ล้านนา หรือ ลานนา ?

ข้อถกเถียงนี้เกิดจากในอดีตธรรมเนียมการเขียนไม่เคร่งครัดการใส่วรรณยุกต์ คัมภีร์ใบลานจำนวนมากจึงมีทั้งคำ “ล้านนา” และ “ลานนา” ปรากฏอยู่ มีหลักฐานว่าในภายหลัง คือช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 อักษรธรรมล้านนาจึงมีรูปวรรณยุกต์ อย่างไรก็ตามผู้คนในช่วงนั้นยังคงเคยชินกับการใส่หรือไม่ใส่วรรณยุกต์ก็ได้ จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า ธรรมเนียมการเขียนแบบไม่ต้องกำกับวรรณยุกต์โท แต่ให้อ่านออกเสียงแบบวรรณยุกต์โทกำกับ ธรรมเนียมนี้มีสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ล้านนา มีศัพท์ที่มีภาษาบาลีกำกับ โดยสืบพบจากท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่นๆ อีก จำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่ง ในภาษาบาลีว่า “ทสลกฺขเขตฺตนคร” อ่านว่า (ทะ-สะ-ลัก-ขะ-เขต-ตะ-นะ-คอน) แปลความได้ว่า “เมืองสิบแสนนา” หมายถึงดินแดนที่มีจำนวนที่นานับล้าน เป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร “ล้านช้าง” คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว หรือช้างร้อยหมื่น

ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา ในหมู่นักวิชาการระดับสูงจำนวนหนึ่งพบคำว่า “ล้านนา” เป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และชัดเจนมากขึ้นเมื่อ ดร.ฮันส์ เพนธ์เสนอบทความใน พ.ศ. 2523 ยืนยันการพบคำล้านนาในศิลาจารึกวัดเชียงสา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบศิลาจารึกดังกล่าวแล้วเห็นว่า มีคำ “ล้านนา” คู่กับคำว่า “ล้านช้าง” จริง จึงเสนอให้ใช้คำ “ล้านนา” แทนคำ “ลานนา” ใน พ.ศ. 2526 ความเห็นนี้สอดคล้องกับนักวิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ที่เสนอให้ใช้ “ล้านนาไทย” เป็นชื่อหนังสืออนุสรณ์พระราชพิธีเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่เชียงใหม่ พ.ศ. 2526-2527 หลังจากนั้นมา คำ “ล้านนา” ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง พ.ศ. 2530 มีการโต้เถียงในเรื่องนี้กันอีกครั้งหนึ่ง และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยโดยมีศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธานการสอบชำระ ได้ให้ข้อยุติว่า คำ “ล้านนา” เป็นคำที่ถูกต้องแล้ว

(เรียบเรียงจากทิว วิชัยขัทคะ)

วิกิพีเดีย: อาณาจักรล้านนา

technorati tags:
,


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.