National Security – Nation of Who ?


พ.ร.บ. ความมั่นคง (ยังเป็นร่างอยู่ กำลังจะผ่าน) จะสร้าง ‘ความถูกต้องและชอบธรรมทางกฎหมาย’ ให้กับกองทัพ ในการใช้อำนาจกดขี่ประชาชน ซึ่งรวมถึง:

  • อำนาจในการโยกย้ายข้าราชการ
  • อำนาจในการจับใครคุมขังก็ได้โดยไม่ต้องพึ่งหมายศาล — โดยสามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน รวมถึงขยายเวลาควบคุมต่อได้อย่างไม่สิ้นสุด
  • อำนาจในการห้ามมิให้มีการชุมนุม
  • อำนาจในการกักกันบริเวณ

“ สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นฝันที่เป็นจริง หากประชาชนไม่สามารถต้านทานพลังทหารและพวกเชลียร์ทหารได้ในอนาคตอันใกล้ ใครก็ตามหากถูกทหารจับไปซ้อมสักอาทิตย์สองอาทิตย์ก็อาจสามารถพูดอะไรก็ตาม ที่ทหารอยากให้ ‘สารภาพ’ ก็ได้ ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องแปลกและคาดไม่ถึง และคงจะเกิดขึ้นหาก พ.ร.บ. นี้ประกาศใช้ ”
— ประวิตร โรจนพฤกษ์

กลุ่มผู้ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นี้ อ้างว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็มีกฎหมายลักษณะนี้ และประเทศทั้งสองก็ดู ‘สงบเรียบร้อย’ ดี
(หากรู้ไหมว่า ความสงบเรียบร้อย(ราบคาบ) ของสองประเทศนี้ อยู่บนพื้นฐานของการกดขี่ ละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง)

และข้อแตกต่างสำคัญ ระหว่างร่างของเรา กับกฎหมายของเขาที่อ้างมานั้น ก็คือ
อำนาจตามกฎหมายของเขานั้น อยู่กับ นายกรัฐมนตรี (พลเรือน, ฝ่ายบริหาร, มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน)
แต่ในร่างของเรา อำนาจอยู่กับ ผู้บัญชาการทหารบก (ทหาร, กองทัพ, มาจาก..??..โดย..??..)
ซ้ำร้าย ยังเป็นอำนาจที่ตรวจสอบการใช้ไม่ได้เสียอีกด้วย (ไม่ว่าศาลหรือใคร ก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบ … อภิสิทธิ์ชนเต็มขั้น! … อีกหน่อยเราคงต้องมี wristband เรารักผบ.ทบ.! ทำเป็นเล่น)

พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ประเทศของเราก็จะเหมือนอยู่ในภาวะฉุกเฉินใต้กฎอัยการศึกอยู่ตลอดเวลา ทั้งปีทั้งชาติ 24 ชั่วโมง คือทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

การให้อำนาจกับทหารมากอย่างนี้ (เช่น โยกย้ายข้าราชการได้!) และเป็นอำนาจที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (เพราะไม่มีการตรวจสอบ) จะทำให้ประเทศไทย ไม่ต่างอะไรจากรัฐทหาร อย่าง พม่า ต่างหาก
(ปัจจุบันนี้ก็ใกล้เคียงอยู่แล้ว เพราะประธาน คมช. ส่งปลดนายกฯ ได้! … ช่างเป็นการรัฐประหารเพื่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยเสียนี่กระไร)

กฎหมายฉบับนี้ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจเลย คือ เมื่อเจ้าหน้าที่ของกอ.รมน.หรือผบ.ทบ.เห็นว่ามีภัยคุกคาม จะใช้กฎหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

ซึ่งตรงจุดนี้ ต่างกับภาวะปัจจุบันซึ่ง การประกาศภาวะฉุกเฉินต้องผ่านมติ ครม.ซึ่งอาจจะมีการท้วงติงว่าไม่จำเป็นก็จะประกาศไม่ได้ และหากครม.เห็นชอบให้ประกาศก็จะต้องมีการพิจารณาทบทวนสถานการณ์ความจำเป็น ทุก 3 เดือน หากมีการท้วงติงว่าหมดภาวะความจำเป็นแล้วก็จะต้องยกเลิกไป

แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ให้อำนาจผบ.ทบ.เหนือครม.ที่จะสั่งการในภาวะ ฉุกเฉินได้ทันที เท่ากับเป็นการรวบอำนาจตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินมาไว้กับผบ.ทบ.ในตำแหน่งผอ.รมน .

หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้ถ้าผ่านสนช.จะให้อำนาจผบ.ทบ.สูงสุด เสมือนอยู่ในภาวะเผด็จการทหารเลยทีเดียว ครม.รัฐสภา หรือศาลหมดความหมายอย่างสิ้นเชิง

— ผาสุก พงษ์ไพจิตร

นี่ไม่ใช่เรื่องกลัวเกินกว่าเหตุ หากดูประวัติของทหารในประเทศนี้ในอดีต เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เช่น การจับ/ควบคุมตัวผู้ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับทหาร (อาทิตย์ที่แล้ว) และ การจับสมาชิกกลุ่มสมัชชาผู้ใช้แรงงาน (เมื่อวานนี้)

ประธาน คมช. คนปัจจุบัน (ทหาร) กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แค่ พ.ร.บ.นี้ผ่านตัวเดียว ก็จะแย่อยู่แล้ว … แต่อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเขาคนนั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ?

ผบ.ทบ. (ทหาร) + นายก (ทหาร)

เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด คู่หู คู่ฮา

สงบเรียบร้อยอย่างที่หวังแน่ ๆ 🙂

คุณอยากให้เป็นอย่างนั้นไหม ?


เรียบเรียงจาก ประวิตร โรจนพฤกษ์ : พ.ร.บ. ความมั่นคง: เมื่อพล.อ.สนธิกำลังทำให้ฝันของทักษิณเป็นจริง, 18 ก.ค. 2550, ประชาไท (อ่านบทความโดยละเอียดที่ประชาไท)

เพิ่มเติม:

technorati tags:


One response to “National Security – Nation of Who ?”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.