สืบเนื่องจาก โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี (อ้างถึงข้อเขียนเกี่ยวกับ อารยะขัดขืน ของ คนชายขอบ “อารยะขัดขืน: ทางออกสุดท้ายของประชาชน?”
รถติดเป็นเรื่องถูก-ถูก
เวลามีงานศพคนใหญ่คนโต ตรงวัดเทพศิรินทร์ใกล้ ๆ บ้านผมนี่ รถอย่างติด เพราะเค้าปิดถนนไปเส้นนึงเลย เอาไว้จอดรถ เพราะจอดในวัดมันไม่พอ
ถ้านั่งรถเมล์กลับจากที่ทำงาน หรือไปสยามมา (ปอ. 8, 15, 47, 48, 204) บางทีลงเดินยังเร็วกว่า
ถัดมาหน่อยนึง หน้าโรงพยาบาลกลาง คืนศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ จะมีพ่อค้าแม่ค้ามากมายมาวางแผงแบกะดินขายของจิปาถะ เครื่องครัว/เตาแก๊สใหญ่ ๆ แบบที่ใช้ตามร้านอาหาร/โรงแรม วีซีดี วัสดุก่อสร้าง หนังสือเก่า เสื้อผ้า สารพัด รองเท้าข้างเดียวก็ขาย (หลาย ๆ อย่างก็เป็นของขโมยมา รถที่บ้านเคยถูกขโมยกระจกข้าง แจ้งความตำรวจ เค้าบอกให้ไปตามหาเอาที่ตลาดนี่แหละ อยู่หลังบ้าน เออ เจอเว้ย เลยซื้อคืนมา ไม่รู้จะทำไง) คนเยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งคนขาย คนซื้อ คนล้นลงมาถึงถนน เพราะทางเท้ามันเต็ม รถเมล์ก็จอดป้ายไม่ได้ เพราะรถเข็น/ขนของจอดเต็มเลนซ้ายสุด จะติดอย่างนี้ไปจนถึงดึก ๆ เลย
หรือตรงตลาดโบ๊เบ๊ ไม่ไกลจากบ้าน เวลาเช้า ๆ ก็จะรถติดเหมือนกัน เพราะเป็นช่วงที่เค้าขนของส่งของ รวมทั้งพวกแผงขายเสื้อผ้าบนทางเท้าก็จะเก็บของกลับบ้านช่วงนั้น (แผงพวกนี้เค้าขายกันตอนเช้ามืด) ก็จะมีทั้งรถเข็น รถลาก สามล้อ รถกระบะ อีรุงตุงนังไปหมด เมื่อก่อนตอนยังเรียนประถม-มัธยมอยู่ ต้องผ่านเส้นนี้บ่อย ๆ ตอนไปโรงเรียน ยังจำได้
หรือเวลาห้างใหญ่ ๆ เค้ามีลดราคา ซัมเมอร์เซล มิดไนท์เซล ไทยแลนด์แกรนด์เซล (ที่ไม่ได้แปลว่า ขายชาติ นะ) รถก็จะมหาติดเหมือนกัน อย่างถ้าวันไหนเซ็นทรัลชิดลมมีลดราคานี่ รถมันจะติดไปถึงโน่นเลย เพชรบุรี ตรงซอยก่อนถึงช่อง 3 เก่าน่ะ (อาคารวานิช) บางครั้งพ่อก็จะปล่อยให้พวกผมกะแม่เดินลงไปก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยไปเจอกันในห้าง จะได้ไม่เสียเวลา
ประสบการณ์ที่ใกล้ ๆ กว่านั้น ก็คงเป็น ตอนรับปริญญา ทั้งของรุ่นพี่ ของตัวเอง ของเพื่อนของน้อง รถติดเหลือเกิน จำได้ว่าแค่จะเอารถออกจากสนามหลวงได้เนี่ย หมดไปแล้วหนึ่งชั่วโมง มองไปทางไหนก็มีแต่รถ รถ รถ และต้นมะขาม (ส่วนผีขนุนนั้น เค้าเป็นผีที่ดี ปฏิบัติตนตามจรรยาผี คือไม่ออกมาโต๋เต๋ตอนกลางวัน ผมก็เลยไม่เห็น)
นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีอื่น ๆ อย่างตอนที่มีปิดถนนจัดงานออกร้านขายของ (ที่ช่วงนึงนิยมจัดบ่อย ๆ โดยใช้ชื่อแนว ๆ “ถนนคนเดิน” แรก ๆ ก็เน้นเรื่องศิลปะวัฒนธรรม มีการแสดงต่าง ๆ ทำไปทำมา หลัง ๆ ก็ไม่ต่างกับร้านออกร้านขายของซะเท่าไหร่) หรืองานใหญ่ ๆ โต ๆ อื่น ๆ ทั่วไป
งานบอลธรรมศาสตร์-จุฬานี่ก็ทำให้รถติดพอสมควร แต่ไม่ค่อยสาหัสมาก เนื่องจากเดี๋ยวนี้ พวกที่มีรถเค้าหนีไปจอดกันไกล ๆ แล้วโหนรถไฟฟ้ามา ไม่งั้นเพื่อนล้อแย่
ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามา ทำให้รถติดมั๊ย ? ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมั๊ย ?
ติดสิ รวม ๆ กันแล้ว เอาแค่แถวบ้านผม ปีนึงนี่ต้องเกินสองอาทิตย์แน่ ๆ
แล้วเราได้ประโยชน์อะไรมั๊ย ?
ส่วนใหญ่ที่ว่ามาข้างบนนั่น ผมไม่ได้แฮะ แล้วในกรณีที่ผมได้เนี่ย ผมก็คิดว่าผมเป็นคนส่วนน้อยน่ะ คือต้องมีคนเดือดร้อนเพราะไอ้งานที่ผมได้ประโยชน์นี่แหละ (อย่างวันที่ผมรับปริญญา ก็คงมีหลายคนนั่งหงุดหงิดอยู่ในรถ .. ซึ่งรวมจำนวนแล้วน่าจะเยอะกว่าคนที่รับปริญญานะ)
ก็แล้วทำไม เรายังยอมกันได้ ?
ขอยกคำพูดนี้อีกทีเถอะ:
“ผู้ใดก็ตามที่อ้างว่าตนนิยมเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูแคลนความวุ่นวาย คือคนที่อยากเห็นพืชพันธุ์งอกงามโดยไม่พรวนดินก่อน
พวกเขาอยากเห็นฝนที่ไม่มาควบคู่ไปกับเสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบ
พวกเขาอยากได้มหาสมุทรที่ปราศจากเสียงกึกก้องอันน่ากลัวของผืนน้ำ
การขัดขืนครั้งนี้อาจเป็นการขัดขืนทางศีลธรรม ทางร่างกาย หรือทั้งสองทาง แต่มันจะต้องเป็นการขัดขืน
อำนาจไม่เคยยอมอ่อนข้อโดยปราศจากการเรียกร้อง
มันไม่เคยยอมในอดีต และจะไม่มีวันยอมในอนาคต.”
— เฟรเดอริค ดักลาส, ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้สนับสนุนการเลิกทาส
ถ้ารถมันจะติดซักหนึ่งเดือน จีดีพีจะหดไป 1% แต่เราได้ปลุกสำนึกของคนในชาติ ได้กระตุ้นให้คนออกมาหาความรู้ ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ถกเถียง เรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง ได้ืทำให้คนทั่วไปรู้ว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ การเลือกตั้ง .. ซึ่งที่สุดจะนำไปสู่พัฒนาการทางการเมืองที่ก้าวหน้าขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ..
มันก็โคตรจะคุ้มเลยไม่ใช่หรือ ?
หลาย ๆ คนชอบพูดว่า บริหารประเทศ ก็ไม่ต่างอะไรกับบริหารบริษัท
แม้ผมจะไม่เห็นด้วย เพราะคิดเสมอว่า จุดหมาย และการมอง ประโยชน์ และ ต้นทุน ของสอง ‘กิจการ’ ที่ว่านั้น มันต่างกัน
แต่วันนี้จะลองเห็นด้วยดูสักครั้ง
.. แล้วก็เลยสงสัยต่อ ..
ความมั่งคั่ง ที่ยั่งยืน ของบริษัททั้งหลาย ล้วนต้องมาจากการบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
แล้วความมั่งคั่งของประเทศล่ะ ? ต้องการสิ่งเหล่านั้นมั๊ย ? หรือไม่ต้อง ?
บริษัทต่าง ๆ ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี หรือเดี๋ยวนี้ก็มีฮิต พวกกระบวนการก็ต้องผ่านมาตรฐานต่าง ๆ อย่าง ISO 9000, ISO 14000 ถ้าเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ก็ต้อง CMM กัน ต้องผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพมากมาย มอก. ISO JIS DIN FCC บางอันเค้าไม่ได้บังคับ ก็ยังเต็มใจไปสอบไปเรียกเค้ามาตรวจกัน
แล้วประเทศไม่ต้องมีอะไรพวกนี้เลยหรือ ?
ถ้าเผื่อไม่ได้สังเกต ก็ขออนุญาตชี้ให้เห็นว่า ทั้งหมดข้างบนนั่นน่ะ เป็นการตรวจสอบจากภายนอกทั้งสิ้น นั่นคือ ผู้ตรวจสอบอยู่นอกการควบคุมของผู้ถูกตรวจสอบ
หรือเราอยากเห็นประเทศโตแบบก้าวกระโดด ร่ำรวยใหญ่โต .. แต่มีจุดจบอย่าง Enron, Worldcom และ Livedoor ?
อาจจะเป็นเรื่องขำ ๆ ของเมืองไทย ที่คำว่า “ธรรมภิบาล” ฮิตกันในวงการธุรกิจมากกว่าวงการการเมือง
แต่ไม่รู้จะหัวเราะท่าไหนดี
ผมเห็นด้วยว่า การไปเดินขบวนบนท้องถนนน่ะ มันทำรถติด มีคนเดือดร้อน
แต่ผมก็เห็นว่า มันถูก ไม่ว่าจะมองแง่ไหน
ทั้งถูกต้องชอบธรรม และ ราคาถูกคุ้มค่า
ผมยอมจ่าย
Links: