เมื่อต้นปีนี้ ไปเที่ยวนอกเมืองตามเส้นทาง Wild Atlantic Way กับเพื่อนๆ ที่ดับลิน รถที่เช่าเป็น Volkswagen Golf ซึ่งระหว่างขับจะแสดงตัวเลขขีดจำกัดความเร็วของถนนช่วงนั้นขึ้นบนหน้าปัดเลย
ถ้าเกินขีดจำกัด ตัวเลขจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
เกินนานๆ จะมีเสียงร้องเตือน
ถ้าเกินขีดไปมาก ตัวเลขจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และยิ่งร้องดังหนัก
บนหน้าปัดยังมีกราฟิกแสดงระยะห่างจากรถคันหน้าที่เหมาะสมกับความเร็วที่ใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย โดยจะแสดงเป็นรูปรถและเส้นแสดงระยะ
นอกจากกฎที่เหมาะสมแล้ว เทคโนโลยี + การออกแบบก็ช่วยให้คนตัดสินใจทำตามกฎได้สะดวกขึ้น
รถยี่ห้ออื่นก็มีความสามารถเดียวกันนี้ ลองค้นในเน็ต เจอคู่มือภาษาไทยของ Volvo S90 รุ่นปี 2020 เรื่อง “การเตือนสำหรับขีดจำกัดความเร็วและกล้องตรวจจับความเร็วจากระบบข้อมูลป้ายถนน” ด้วย
การกำหนดขีดจำกัดความเร็วตามลักษณะการใช้สอยพื้นที่
โดยทั่วไป ความเร็วสูงสุดในเขตเมืองดับลิน (Dublin City Council – ประมาณเทศบาลนครของไทย) คือ 50 กม./ชม. — ส่วนย่านที่อยู่อาศัย ย่านชุมชน จะกำหนดที่ไม่เกิน 30 กม./ชม.
ยกเว้นทางหลวงในเขตเมืองซึ่งถนนแยกเป็นสัดส่วนเฉพาะ จะอยู่ที่ 60 หรือ 80 กม./ชม. — ถ้าพ้นเขตเมืองไปแล้วก็จะสูงกว่านี้
เว็บไซต์รัฐบาลท้องถิ่นมีแผนที่ข้อเสนอการจำกัดความเร็วให้ดาวน์โหลด
สีชมพูคือพื้นที่ที่ปัจจุบันจำกัดความเร็วที่ 30 กม./ชม. ส่วนพื้นที่สีเหลือง ฟ้า และแดง กำลังถูกเสนอให้จำกัดความที่ 30 กม./ชม. เช่นกัน จะเห็นได้ว่าตัวเมืองเองพยายามจะขยายเขตที่เป็น 30 กม./ชม. ออกไปให้มากขึ้น โดยในเว็บไซต์บอกว่ารัฐบาลท้องถิ่นตั้งใจจะกำหนดให้ทุกย่านที่อยู่อาศัย ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ภายในสิ้นปีที่ผ่านมา
เทคโนโลยีที่ช่วยให้ขับรถปลอดภัยขึ้น
สหภาพยุโรปออกกฎความปลอดภัยทั่วไปฉบับปรับปรุง (Regulation 2019/2144 หรือ “General Safety Regulation 2” หรือ “GSR2”) เมื่อ 27 พ.ย. 2562 กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2565 (ปีนี้) รถในประเภท M1 (รถยนต์นั่ง) และ N1 (รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเบา) รุ่นใหม่ทุกรุ่นที่จะขออนุมัติเพื่อขายในยุโรป ต้องติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย เช่น ระบบช่วยเตือนเมื่อใช้ความเร็วเกินกำหนด (intelligent speed assistance – ISA) และเทคโนโลยีช่วยในกรณีฉุกเฉินให้ขับอยู่ในช่องจราจร (emergency lane keeping systems – ELKS) ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอีกย่อย 2 อย่างประกอบกันคือ การเตือนเมื่อวิ่งคร่อมช่องจราจร (lane departure warning systems – LDWS) และ การช่วยขยับให้กลับช่องจราจรที่ถูกต้อง (corrective directional control functions – CDCF)
ทั้งนี้ภายใน 7 ก.ค. 2567 รถใหม่ทุกคัน ไม่ว่าจะรุ่นใดก็ตาม จะต้องมีเทคโนโลยีความปลอดภัยต่างๆ ข้างต้น
นับจากวันที่ประกาศกฎหมายจนถึงวันบังคับใช้ขยักแรก (เฉพาะรถรุ่นใหม่) 2 ปี 7 เดือน และขยักสอง (รถใหม่ทุกคัน) 4 ปี 7 เดือน
เทคโนโลยีช่วยควบคุมความเร็วอัจฉริยะทำงานอย่างไร
วิดีโออธิบายการทำงานของระบบช่วยเตือนขีดจำกัดความเร็ว โดย Road Safety Authority Ireland
ที่หน้ารถจะมีกล้องที่อ่านป้ายแจ้งขีดจำกัดความเร็วที่ติดไว้ข้างถนน (ตัวป้ายมีมาตรฐานกำหนดหน้าตาไว้) ไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับ GPS หรืออินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังสามารถใช้แผนที่ดิจิทัลที่มีข้อมูลขีดจำกัดความเร็วของถนนแต่ละช่วง (ข้อมูลน่าจะมาจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องถนน) + ข้อมูลที่ตั้งของรถจาก GPS เสริมด้วย เผื่ออ่านป้ายไม่ได้ (ป้ายมีฝุ่น ถูกต้นไม้บัง กล้องถูกบัง มีหมอก ฯลฯ)
ระบบนี้จะถูกเปิดโดยอัตโนมัติเป็นค่าปริยายเมื่อจุดเครื่อง และผู้ขับสามารถเลือกกดปิดการทำงานได้
ตัวอย่างของป้ายจราจรที่รถ Volvo รุ่น S90 (2020) สามารถอ่านได้
กลไกตลาด กับ การส่งเสริมด้วยกฎหมาย
เมื่อต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง และเงินในกระเป๋ามีจำกัด คนมีแนวโน้มเลือกซื้อความปลอดภัยสำหรับตัวเองก่อน เช่น ถุงลมนิรภัย (คุ้มครองคนในรถ) ระบบกันเบรกล็อก (ช่วยมากกรณีใช้ความเร็วสูง ซึ่งคนในรถเสี่ยงจะเจ็บด้วย)
ในขณะที่เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยของคนอื่น เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยลดโอกาสชนที่ความเร็วต่ำ (ที่คนในรถมักไม่เจ็บ แต่คนนอกรถเจ็บ) หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนขับรถบรรทุก รถลาก สามารถมองเห็นจักรยานหรือรถเล็กในจุดบอดสายตา จะถูกซื้อทีหลัง หรือถูกซื้อน้อยกว่า
การใช้ “กลไกตลาด” เพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่มากพอหรือไม่เร็วพอ
การเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยการออกเป็นกฎหมายให้รถยนต์ใหม่ต้องมีเทคโนโลยีความปลอดภัยที่คำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคนบนถนนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าพิจารณา โดยคำนึงถึงผลกระทบและภาระของผู้ซื้อรถหรือใช้รถด้วย อาจจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างกรณีของสหภาพยุโรป ที่มาการออกกฎหมายล่วงหน้าหลายปี และเริ่มบังคับกับรถรุ่นใหม่ก่อน รถใหม่ที่ยังเป็นรุ่นเก่าอยู่ยังไม่ต้อง และให้เวลาอีก 2 ปี จึงจะขยับไปสู่รถใหม่ทุกคัน
—
ใครสนใจเรื่องเทคโนโลยีช่วยความปลอดภัยเชิงรุก (“active”) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแต่แรก [เทียบกับเทคโนโลยี “passive” เช่น ถุงลมนิรภัย ที่เป็นเรื่องลดความเสียหายเมื่อเกิดเหตุแล้ว] ดูได้เว็บไซต์ RoadSafetyFacts.eu — ซึ่งจะเป็นข้อมูลจากมุมมองของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ European Automobile Manufacturers’ Association (ACEA)
สำหรับข้อมูลเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในสหภาพยุโรป ดูได้ที่เว็บไซต์ของ European Transportation Safety Council ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ได้รับเงินสนับสนุนจากทั้งภาครัฐที่เป็นผู้กำกับกิจการ และเอกชน ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสมาคมผู้ผลิตสุรา จะมีข่าวสารเกี่ยวกับพวกกฎหมายใหม่ๆ ด้วย
เผยแพร่ต้นฉบับครั้งแรกเมื่อ 21 ก.พ. 2565 ในเฟซบุ๊ก