สภากาชาดไทย – หน่วยงานที่รัฐให้อำนาจมาก แต่มีกลไกกำกับน้อย?


สภากาชาดไทยเป็นหน่วยงานรัฐหรือไม่?

สภากาชาดไทยนี่ก็เป็นอีกองค์กรที่สถานะงงๆ ในเว็บไซต์บอกว่าเป็นองค์กรการกุศล (ทำนองสมาคม เอ็นจีโอ) งบประมาณจำนวนมากมาจากงบประมาณแผ่นดิน (ซึ่งก็มาจากภาษี เงินรายได้ เงินกู้ ฯลฯ) ส่วนสภานายก/นายิกาและอุปนายกผู้อำนวยการ กษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งโดยตรง

ในแง่การได้รับงบประมาณจากรัฐ (ไม่ว่าสถานะหน่วยงานจะเป็นอะไรก็ตาม) เรื่องนี้ไม่ได้แปลก เพราะก็มีหลายหน่วยงานได้รับอุดหนุนในลักษณะนี้ รวมไปถึงวัดต่างๆ ด้วย และแม้งบประมาณที่สภากาชาดไทยจะได้รับเป็นตัวเงินที่สูงมาก (ปี 63 ได้รับจัดสรร 10,651 ล้านบาท ปี 64 ได้ 8,872 ล้าน) คิดว่าหลายคนก็คงมองว่า ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะภารกิจที่ทำก็เป็นสิ่งสาธารณะได้ประโยชน์

แต่ก็มีคำถามในแง่ว่า แล้วในฐานะผู้อุดหนุนงบประมาณ ตัวรัฐบาลสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานของสภากาชาดได้มากน้อยแค่ไหน หรือกระบวนการสรรหาผู้บริหารและการบริหารของสภากาชาด มันรับผิดรับชอบกับเจ้าของเงินมากน้อยแค่ไหน

เพราะบางทีก็ดูเหมือนว่าสภากาชาดจะได้รับอำนาจเหมือนหน่วยงานรัฐ แต่พอมีกรณีพิพาท ก็เหมือนกับว่าสภากาชาดจะไม่ต้องรับผิดรับชอบภายใต้กลไกเดียวกันกับหน่วยงานรัฐ

เคยมีคนจะขอข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย มีคำสั่งที่ สค 235/2558 (12 พ.ย. 2558) วินิจฉัยว่าสภากาชาดไทย (ซึ่งเป็นนิติบุคคลบุคคลที่ดำเนินงานโรงพยาบาลจุฬาฯ) ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นจึงขอข้อมูลไม่ได้

ในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีอ้างถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ว่าสภากาชาดไทย “มีลักษณะเป็นองค์การอาสาสงเคราะห์ ไม่ใช่หน่วยงานทางปกครอง” ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

นี่ก็เพิ่งรู้ เท่ากับว่าสำหรับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ อะไรก็ตามที่อยู่ภายใต้สภากาชาดไทย เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อตรวจสอบการทำงานได้เลย รวมถึงไม่สามารถใช้กลไกทางปกครองมาคุ้มครองได้

ยังมีอีกที่แก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยสภากาชาดไทยล่าสุด ยกเว้นให้สภากาชาดไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ ประกันสังคม ซึ่งแพทเทิร์นการเขียนแบบนี้มันเหมือนพวกองค์การมหาชนทั้งหลายเลย เท่ากับคนทำงานในสภากาชาดนี่ ไม่ใช่ทั้งพนักงานรัฐ แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองแบบพนักงานเอกชน (ในมุมคนทำงานที่สภากาชาด สภาพปัจจุบันก็อาจจะโอเคก็ได้ เพราะมีสวัสดิการนั่นนี่ตามที่หน่วยงานจะจัดให้ ซึ่งเผลอๆ ดีกว่าหลายที่ แต่ถ้าจะเกิดไม่พอใจ จะฟ้องร้อง เครื่องมือทางกฎหมายก็หายไปเยอะมาก)

อย่างศูนย์โลหิตแห่งชาตินี่ ถ้าจะให้มีสถานะ “แห่งชาติ” เป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ของทั้งประเทศ มีอำนาจตัดสินใจให้เกิดผลได้เสียกับประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ ก็ควรจะทำให้มันมาอยู่ในกลไกที่ใช้กฎหมายปกครองถ่วงดุล คุ้มครอง และเยียวยาได้ หรือใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงสิทธิที่ประชาชนควรมีได้ตามปกติรึเปล่า

คืองานกาชาดและงานบริการเลือดมันเริ่มจากบริบทสงครามก็จริง (กรณีงานบริการเลือดคือสงครามกลางเมืองสเปน) แต่พอหลังสงคราม ในหลายประเทศก็คลี่คลาย เอางานบริการเลือดนี้ไปเป็นงานสาธารณสุขในภาวะปกติที่รัฐดูแลจัดการ ไม่ได้เป็นเรื่องภาวะพิเศษอีกต่อไปแล้ว เช่นงานเลือดและอวัยวะระดับชาติของสหราชอาณาจักร NHS Blood and Transpant จะเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่ British Red Cross ซึ่งพอเป็น NHS มันก็เข้ากลไกร้องเรียน เยียวยา ตามปกติของหน่วยงานรัฐ รวมถึงในแง่การดำเนินนโยบาย มันก็จะประสานไปในทางเดียวกันกับ NHS หลัก — แต่ของไทย งานบริการเลือดของเรายังอยู่กับกาชาด เหมือนสมัยสงครามอยู่จริงๆ

คืองานบริการเลือด งานรับบริจาคอวัยวะ จะอยู่กับกาชาดต่อก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตราบใดที่กลไกคุ้มครองมันมีพอกันกับหน่วยงานบริการสาธารณะอื่นๆ

คำถามรวมๆ ก็คือ ทำไม power กับ accountability นี่มันไม่มาด้วยกัน

มีคนทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ด้วย จากมุมกฎหมายมหาชน

อัครพล อร่ามเจริญ. สถานะทางกฎหมายของสภากาชาดไทย. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2561. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:165987 (ฉบับย่อเป็นบทความ ในวารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4 เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2562PDF)

กลุ่มองค์กรที่ใช้เงินรัฐ ใช้การอำนวยความสะดวกจากอำนาจรัฐ บุคลากรของรัฐ และทรัพยากรของรัฐ แต่ไม่อยู่ภายใต้ความรับผิดรับชอบแบบที่องค์กรรัฐปกติต้องมี นี่น่าจะมีอีกเยอะ (ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์?) และน่าจะมีไปทั่วทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น

เช่นกรณีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด มท 0808.2/ว5426 (24 ก.ย. 2561) “ซักซ้อมแนวปฏิบัติ” กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในการตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนภารกิจของกาชาดจังหวัด

ในมุมการกระจายอำนาจ การที่ส่วนกลางมีหนังสือให้ส่วนภูมิภาค ไปซักซ้อมกับส่วนท้องถิ่นถึงการตั้งงบประมาณ เจาะจงให้ไปสนับสนุนงานของมูลนิธิอะไรเป็นการเฉพาะนี่ก็น่าตั้งคำถามอยู่ ว่ามันเหมาะสมหรือเปล่า คือถ้าท้องถิ่นเขาจะให้เองนี่ก็เรื่องของเขา แต่ส่วนกลางไปยุ่งแบบนี้ได้เหรอ (แต่ในหนังสือก็มีความระมัดระวังในการใช้คำ เข้าใจว่าก็รู้ว่าไม่มีอำนาจ เลยเลี่ยงไปใช้คำว่า ซักซ้อม แนวปฏิบัติ เปิดช่องไว้ว่า จริงๆ ไม่ต้องทำก็ได้นะ ดังนั้นไม่ใช่คำสั่ง)

คำสั่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 235/2558 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประวัติการรักษาพยาบาล (12 พ.ย. 2558) http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTEROPM/DRAWER01/GENERAL/DATA0004/00004684.PDF

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 585/2554 ระหว่าง นาย ส. ผู้ฟ้องคดี และเลขาธิการสภากาชาดไทย ที่ 1 อุปนายกผู้อํานวยการสภากาชาดไทย ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี https://www.krisdika.go.th/data/article77/filenew/585-2554.pdf

ที่ มท 0808.2/ว5426 เรื่อง ซักซ้อมแนวปฏิบัติการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัด (24 ก.ย. 2561) http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/12/24704_3_1608885882330.pdf

โพสต์ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 2 ก.ย. 2564


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.