The Crown – กษัตริย์ในฐานะบุคลาธิษฐาน


ตะกี้อ่านใบตองแห้ง เรื่องว่าเราจะก้าวหน้าไปได้แค่ไหน แนวหน้าก้าวไป 7 ก้าว สังคมพร้อมก้าวด้วย 2-3 ก้าว ก็ต้องเอาตามสังคมไหม เพราะสุดท้ายขบวนมันต้องมีคนสนับสนุนและยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกันต่อไป (ดู https://www.facebook.com/baitongpost/posts/3277567832325023) เลยขอโพสต์เรื่อง “The Crown” นี้ใหม่ เพิ่มเติมนิดหน่อยจากที่โพสต์ไปเมื่อคืน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ในการจัดที่ทางของอำนาจ เพื่อให้สิ่งที่เรียกว่า rule of law สามารถเกิดเป็นจริงได้มากขึ้น กลไกอำนาจทำงานเพื่อประชาชนได้จริงมากขึ้น

สังคมประชาธิปไตยที่เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีประโยชน์กับสาธารณะอยู่ (เช่น สวีเดน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร) เขาจัดที่ทางให้สถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน ในระบอบที่หลักใหญ่ใจความตามชื่อนั้นหมายความว่า อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน

การอภิปรายและพิจารณาถึงที่ทางของสถาบันกษัตริย์นี้มีความจำเป็น เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจอธิปไตย (ดังจะได้กล่าวต่อไป) ถ้าจะไม่ให้พูดถึงสถาบันกษัตริย์เลยในบทสนทนาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย นั่นหมายความว่าเราจะต้องไปใช้ระบอบการปกครองแบบอื่นที่ไม่มีกษัตริย์ ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนต้องการ

ในการคิดเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องกลับไปที่นิยาม/มโนทัศน์/หรือวิธีในการคิดถึงและเอ่ยถึง กษัตริย์และสถาบันกษัตริย์

(ใครมีความรู้ความเห็นเรื่องนี้ก็เชิญเพิ่มเติม-แก้ไข-แลกเปลี่ยนนะครับ)

(1) อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน

ใน Netflix มีซีรีย์ชื่อ The Crown เป็นรื่องราวในสถาบันกษัตริย์ของบริเตน

Crown นี้ไม่ใช่มงกุฎประดับหัวที่เป็นสิ่งของ แต่หมายถึงสัญลักษณ์แทนอำนาจอธิปไตย เป็น Crown ใน Crown prosecutor (อัยการ – ทำนองเดียวกับ public prosecutor) Crown Estate (UK) หรือ Crown Property Bureau (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของไทย)

“The Crown” เป็นแนวคิดที่เริ่มพัฒนาในอังกฤษ เพื่อแยกอำนาจอธิปไตยที่ใช้ผ่านกษัตริย์ (crown) ออกมาจากตัวกษัตริย์ (monarch)

การแบ่งแยกในเชิงแนวคิดนี้สำคัญสำหรับ Commonwealth realm หรือเครือจักรภพด้วย เพราะในทางบุคคล แม้จะเป็นกษัตริย์คนเดียวกัน (แง่เลือดเนื้อ-กายภาพ) แต่ในทางอำนาจ ถือว่าเป็นอำนาจคนละอำนาจกันในแต่ละประเทศ (เป็นอลิซาเบ็ธเดียวกัน แต่เป็นคนละควีนกันในแคนาดาและออสเตรเลีย)

เวลาอ้างอำนาจ ไม่ว่าจะฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ จะอ้างไปที่ crown ไม่ใช่ monarch เช่น ในการฟ้องคดีอาญาที่รัฐเป็นผู้ฟ้อง แม้จะเขียนว่า “Rex/Regina (ราชา/ราชินี) v ผู้ถูกฟ้อง” แต่เวลาอ่านออกเสียงจะอ่านว่า “The Crown (หรือไม่ก็ใช้ชื่อของอัยการ) v ผู้ถูกฟ้อง” ในความหมายว่า คดีความนี้รัฐมองว่าสาธารณะเป็นผู้เสียหาย จึงใช้อำนาจของปวงชนในการฟ้อง

(2) กษัตริย์เป็นร่างทรง กษัตริย์เป็นภาชนะว่างเปล่า

The Crown นี้ จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นช่องทางให้อำนาจวิ่งผ่าน แต่ไม่ใช่ต้นทางของอำนาจในตัวมันเอง

ประเด็นเรื่อง “The Crown” ซึ่งดูคล้ายบุคคล (monarch) แต่จริงๆ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นบุคลาธิษฐาน*ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่ชัดเจน พร่าเลือน ก็จะทำให้เข้าใจผิดไปหมดว่าอำนาจต่างๆ นั้นเป็นของกษัตริย์ที่เป็นบุคคลคนหนึ่ง ทั้งที่จริงนั้นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือ “ร่างทรง” (legal embodiment) หรือ “ทางผ่าน” ของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น

กล่าวคืออำนาจที่แท้จริงนั้นมาจากประชาชน เพียงแต่ในทางสัญลักษณ์ เพื่อให้ทำงานบางอย่างง่าย (เช่นการเอ่ยปากในพิธีหรือการลงชื่อในหนังสือ) ก็เอามนุษย์สักคนหนึ่งอุปโลกน์ขึ้นมาทำหน้าที่แทนปวงชนเสีย

เช่นที่เรียกกันโดยราชาศัพท์ว่าพิธี “ถวายสัตย์” นั้นไม่ใช่การสาบานกับบุคคลคนหนึ่ง แต่เป็นการกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประชาชน – เนื่องจากการจะเอาปวงชนทุกคนในประเทศมาอยู่ในที่พิธีเดียวกัน ให้รัฐมนตรีและข้ารัฐการทั้งหลายสาบาน ในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้

หรือ Crown Property นั้นก็หมายถึงทรัพย์สินของสาธารณะ ไม่ใช่ทรัพย์สินของบุคคลหนึ่งคน จะปล่อยให้กษัตริย์ที่เป็นบุคคลบริหารจัดการ “ตามพระราชอัธยาศัย” ไม่ได้ (เนื่องจากตัวกษัตริย์ที่เป็นบุคคลนั้นไม่ได้มีอำนาจเป็นของตัวเอง) ต้องให้รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกของประชาชนเป็นคนจัดการ

หรือการที่ศาลเอ่ยว่าพิจารณาพิพากษาคดี “ในพระปรมาภิไธย” นั้น ก็หมายถึงว่าศาลใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นขาหนึ่งของอำนาจอธิปไตย (ตามหลักแบ่งแยกอำนาจคือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ) โดยอำนาจที่ว่านี้ไม่ใช่อำนาจของผู้พิพากษาหรือของศาลเอง แต่เป็นอำนาจที่ได้ผ่านมาจากช่อง The Crown ซึ่งต้นทางของอำนาจก็คือปวงชน (ดูที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อภิปราย https://botkwamdee.blogspot.com/2012/07/n-oldcc.html)

กษัตริย์ในบริบทนี้จึงเป็นเหมือนท่อ หรือเป็นเหมือนภาชนะว่างเปล่า ที่ถูกบรรจุด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชน ในช่วงเวลาหนึ่งๆ

กรณีที่มีการเปลี่ยนภาชนะ ความผูกพันหรือสัมพันธ์ทางกฎหมายใดๆ ก็ยังดำเนินต่อไปโดยไม่ขึ้นกับภาชนะหรือกษัตริย์ที่เป็นบุคคลที่เปลี่ยนไป เนื่องจากอำนาจอธิปไตยของปวงชนก็ยังเป็นอำนาจเดิม ไม่ใช่ว่ากฎหมายที่ออกในสมัยกษัตริย์คนก่อนจะไม่มีผลในสมัยกษัตริย์คนใหม่ เพราะโดยแท้แล้ว อำนาจในการตรากฎหมายเหล่านั้น ไม่ใช่อำนาจของกษัตริย์คนใด ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีคนใด แต่เป็นอำนาจอธิปไตยจากปวงชนซึ่งดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

(*บุคลาธิษฐาน/personification – การทำให้สิ่งไม่มีชีวิต พืช สัตว์ หรือสิ่งนามธรรม มีลักษณะของบุคคลขึ้นมา)

(3) ขีดเส้นความสัมพันธ์ที่ชัดเจน

สถาบันกษัตริย์กับระบอบที่อำนาจเป็นของประชาชน ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้นไปด้วยกันได้ ตราบใดที่กษัตริย์ยังเป็นตัวแทนบุคลาธิษฐานของอำนาจอธิปไตยของปวงชน และไม่ถือว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของกษัตริย์ซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งเสียเอง

นายทหารคนไหนที่เพ้อเจ้อหลงลืม พูดทำนองว่าเป็นทหารของพระราชา (ซึ่งเป็นคำที่เจาะจงกับมนุษย์หนึ่งคนหรือหนึ่งหน่วยครอบครัว) คนเหล่านี้ถือว่าทำผิดสัตย์ปฏิญาณ เพราะไม่ได้จงรักภักดีเฉพาะกับปวงชน แต่เอาใจออกห่างไปจงรักภักดีกับบุคคลคนหนึ่งคน ซึ่งก็ถือว่าเป็นกบฏ

การแก้ไขกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งระลอกใหญ่ล่าสุดคือช่วงหลัง 2560 ทำให้การแบ่งแยก crown/สาธารณะ/ปวงชน และ monarch/บุคคล นั้นพร่าเลือนมากขึ้น เกิดความไม่ชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมาจากปวงชนจริงหรือไม่, ถ้ากษัตริย์ในฐานะบุคคลใช้อำนาจได้เองโดยไม่ต้องมีผู้สนองโองการ อำนาจนั้นเป็นอำนาจจากไหน, ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังเป็นของสาธารณะอยู่หรือไม่, การใช้อำนาจและทรัพยากรยังต้องรับผิดรับชอบกับประชาชนอยู่หรือไม่

การแก้ไขกฎหมายที่ทำให้ขอบเขตอำนาจพร่าเลือนเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ อานนท์ นำภา ได้นำเสนอในการปราศัยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 — ดูสรุปโดยไอลอว์ที่ https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164208505220551/

สิ่งที่อานนท์พูดถึงโดยหลักจึงเป็นเรื่องการรักษาอำนาจอธิปไตยของปวงชน

(4) รูปคำที่แข็งแรงเพื่อรักษาความชัดเจนของความคิด

เราไม่จำเป็นต้องตามประเทศใดเป๊ะๆ ในการนิยามแนวคิดลักษณะ The Crown แต่เราควรแบ่งแยกเรื่องบุคคลกับสาธารณะให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นการแบ่งแยกอำนาจ rule of law และความรับผิดรับชอบต่างๆ มันเกิดไม่ได้

และเราควรมีรูปคำสำหรับแนวคิดลักษณะ The Crown ที่เปล่งเสียงได้และเข้าใจตรงกัน จะได้สื่อสารกันได้อย่างชัดเจน ไม่ปะปน crown กับ monarch

คือจะตกลงกันเรื่องที่ทางอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่ภาษาคือเครื่องมือพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อที่จะได้สามารถตกลงกันได้ ถ้าภาษามันไม่ชัด ก็ทำงานกันลำบาก

ใครทราบว่ามีคำที่เหมาะสมอยู่แล้ว หรืออยากจะเสนอคำ ก็เชิญได้นะครับ

ปรับปรุงบางส่วนจากโพสต์บนเฟซบุ๊ก 9 ส.ค. 2563 และ “The Crown” (28 พ.ย. 2559) และเผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.facebook.com/arthit/posts/10157020621931086


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.