อนุญาตให้เรียนไม่สดเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึง + การสร้างพื้นที่ปลอดภัยระหว่างบันทึกการสอน

ห้องบรรยายว่างเปล่า

การสอนออนไลน์ ควรมีการบันทึกการสอนไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนที่มีทรัพยากรเพื่อการเข้าถึงจำกัด และในการบันทึกก็มีข้อควรพิจารณาต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้สำหรับทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน

การสอนออนไลน์แบบสด มีข้อดีคือการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอนโดยทันที หากผู้สอนมีทรัพยากรที่สามารถทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีเฉพาะแบบสด ควรมีการบันทึกไว้ด้วย ควบคู่กัน เพื่อให้ผู้เข้าเรียนท่ี่ไม่สามารถเข้าเรียนสดได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถเลือกเรียนได้ใน “เวลาที่สะดวก”

เวลาที่สะดวกสำหรับการเรียนที่ขึ้นกับทรัพยากรของผู้เรียน

“เวลาที่สะดวก” ในแง่การเรียนออนไลน์นี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

1) การเข้าถึงอุปกรณ์ที่เหมาะสม (โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถเพียงพอจะเปิดสื่อการสอนได้อย่างครบถ้วน)

2) ความเร็วและความเสถียรของอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม

3) พื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ที่นั่ง ความสงบ (อาจเป็นในที่พักอาศัยหรือที่อื่น เช่น บ้านญาติ ร้านเน็ต)

“เวลาที่สะดวก” คือช่วงเวลาที่ผู้เรียนสามารถจัดหา (1), (2), และ (3) ได้พร้อมกัน

กรณีบ้านเดียวกันมีอุปกรณ์ตาม (1) เพียงเครื่องเดียว แต่มีสมาชิกในบ้านหลายคนที่ต้องทำงานหรือเรียน การเรียนแบบสด (real time) จะสร้างปัญหาการแย่งกันใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด

กรณีมีอุปกรณ์ตาม (1) เพียงพอกับสมาชิกที่ต้องใช้ทุคนในเวลาเดียวกัน แต่บ้านมีพื้นที่เล็ก การต้องเปิดสื่อการสอนพร้อมกันในพื้นที่จำกัดตาม อาจทำให้เกิดการรบกวนสมาธิกันและกันระหว่างสมาชิกในบ้าน กล่าวคือปัจจัยที่ (3) ไม่เกิด หรือการแบ่งความเร็วอินเทอร์เน็ตกันเนื่องจากใช้งานพร้อมกัน ก็ทำให้ปัจจัยที่ (2) ด้อยลงไป

กรณีไม่มีอุปกรณ์ตาม (1) หรืออินเทอร์เน็ตตาม (2) หรือพื้นที่ตาม (3) ที่บ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง และผู้เรียนจำเป็นต้องไปใช้อุปกรณ์ เน็ต หรือสถานที่นอกบ้าน เช่น บ้านญาติ หรือร้านเน็ต ก็จะมีเงื่อนไขข้อจำกัดของร้านหรือของบ้านนั้นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย เช่น น้ายินดีให้ยืมคอม เพียงแต่ช่วง 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นน้าก็ต้องทำงานด้วยคอมเครื่องเดียวกัน ถ้าหลัง 5 โมงเย็นนี่ใช้ได้ไม่มีปัญหา หรือการไปใช้เน็ตที่ร้าน ก็ไม่รับประกันว่า ตอนไปถึงร้านจะมีที่นั่งว่างทันที

การมีการสอนสดเพียงอย่างเดียวจะทำให้การจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดทำได้ลำบากขึ้น ทำให้เป็นไปได้ว่าครอบครัวของผู้เรียนอาจจำเป็นต้องดึงเงินที่ตั้งใจจะใช้เพื่อเรื่องอื่น มาซื้ออุปกรณ์ตาม (1) หรือเพิ่มคุณภาพเน็ตตาม (2) ส่วนเรื่องพื้นที่(3) นี่ดูจะเป็นที่จัดการลำบากอยู่

หากมีการบันทึกการสอนเอาไว้ด้วย ก็จะทำให้ผู้เรียนและสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน สามารถจัดการทรัพยากรตาม (1), (2), และ (3) ได้ดีขึ้น มีการแบ่งใช้ทรัพยากรกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้เหมาะสมขึ้นหรือเพิ่มทางเลือกให้สามารถหยิบยืมหรือใช้ทรัพยากรจากภายนอกครอบครัวเป็นการชั่วคราวได้สะดวกขึ้น

การบันทึกการสอนเอาไว้ ยังมีประโยชน์กับผู้เรียนสดอีกด้วย เนื่องจากเป็นไปได้ว่าคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบางช่วงอาจมีปัญหา ทำให้พลาดจุดสำคัญบางช่วงไป ถ้ามีการบันทึกไว้ ก็จะสามารถย้อนกลับมาดูได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ “เวลาที่สะดวก” ที่ผู้เรียนสามารถจัดหา (1), (2), และ (3) มาได้พร้อมกันนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเวลาที่ต่อเนื่องกัน เช่น สำหรับคาบเรียน 2 ชั่วโมง ในสัปดาห์หนึ่ง ผู้เรียนรายหนึ่งอาจมีเวลาที่สะดวกตอน 11:30-12:30 หนึ่งชั่วโมงในวันจันทร์ และ 20:00-21:00 อีกหนึ่งชั่วโมงในวันอังคาร และเวลานี้อาจเปลี่ยนไปในอีกสัปดาห์

การบันทึกกับพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนการสอน

การบันทึกนี้ ไม่จำเป็นต้องให้สาธารณะหรือบุคคลภายนอกวิชาเรียนในชั้นเรียนดังกล่าวเข้าถึง เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ที่ไม่สะดวกสอบถามแลกเปลี่ยนหากมีการบันทึกเสียงหรือภาพหรือสถานะบทจอภาพใดๆ ที่จะทำให้ระบุตัวตนได้

ทุกการเรียนการสอนที่จะมีการบันทึก และมีผู้เรียนเข้าร่วม ผู้สอนจะต้องแจ้งให้กับผู้เรียนทราบก่อนทุกครั้ง ว่าจะมีการบันทึก การบันทึกเริ่มเมื่อใด สิ้นสุดลงเมื่อใด และจะมีใครเข้าถึงการบันทึกได้บ้าง

เนื่องจากผู้เรียนอาจไม่สะดวกที่จะสอบถามแลกเปลี่ยนบางประเด็น ซึ่งอาจเป็นประเด็นอ่อนไหว ในระหว่างการบันทึก ผู้สอนควรแบ่งเวลาบางช่วงในระหว่างการสอนที่จะไม่มีการบันทึกใดๆ ให้ผู้เรียนซักถามแลกเปลี่ยนได้ โดยผู้เรียนจะต้องสามารถรับรู้และสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ขณะเวลาดังกล่าวมีการบันทึกอยู่หรือไม่

หากการบันทึกไม่ได้ทำโดยผู้สอนเอง แต่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่สามอื่นทำการบันทึกให้ ในการบันทึก ผู้สอนจะต้องรู้อยู่เสมอด้วยว่ามีการบันทึกอยู่

จำนวนหรือกลุ่มประเภทของผู้เข้าถึงสื่อการสอนที่ได้มีการบันทึกไว้ จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้แจ้งผู้สอนและผู้เรียนเอาไว้ในตอนเริ่มการบันทึก

การเผยแพร่สื่อบันทึกการเรียนการสอนสู่สาธารณะ

หากผู้เรียนและผู้สอนในชั้นเรียนได้ตกลงร่วมกันล่วงหน้า ว่าจะเปิดเผยการเรียนการสอนเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็สามารถทำได้ โดยอาจเลือกตัดไม่เผยแพร่บางช่วงที่เป็นการซักถามแลกเปลี่ยนประเด็นที่ต้องการให้มีเฉพาะผู้ลงเรียนเท่านั้นที่จะดูได้ ทั้งนี้ระหว่างการเรียนการสอน ให้ระมัดระวังการขานชื่อหรือส่งสัญญาณใดในลักษณะที่จะระบุตัวผู้เรียนได้ เว้นแต่กรณีผู้เรียนตั้งใจแสดงตนด้วยตัวเอง

สื่อการสอนดังกล่าว ถือว่าอยู่ในพื้นที่ของห้องเรียน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครอง ชื่อบุคคล ชื่อหน่วยงาน กรณีศึกษา และสิ่งอื่นใด ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งของการสอน ทั้งผู้เรียนและผู้สอนควรมีอิสระเต็มที่ในการอภิปรายเพื่อการศึกษาโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

การคำนึงถึงสมาธิในพื้นที่ทางกายภาพที่ไม่ใช่ห้องเรียนโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ การออกแบบกระบวนการการเรียนการสอนและสื่อการสอน ที่เป็นออนไลน์ ทั้งแบบสด และแบบบันทึกไว้ล่วงหน้า ยังควรคำนึงถึงระยะเวลาที่ผู้เรียนจะสามารถมีสมาธิและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ห้องเรียน ซึ่งอาจทำได้ต่อเนื่องสั้นกว่า จึงควรพิจารณาแบ่งช่วงการสอนเป็นช่วงที่ไม่ยาวจนเกินไป และกรณีเป็นการสอนสดก็ควรจัดให้มีเวลาพักตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถไปทำธุระส่วนตัว เช่น เข้าห้องน้ำ ได้ เช่นสอน 50 นาที พัก 10 นาที และสอนต่ออีก 50 นาที

การแบ่งเนื้อหาการสอนเป็นช่วงสั้นๆ และมีการเขียนกำกับไว้อย่างชัดเจนในสื่อที่ทำการบันทึก ยังมีประโยชน์เมื่อต้องการดูย้อนหลัง ทำให้ค้นหาเนื้อหาช่วงที่ต้องการได้สะดวกขึ้น

ฝากทางสถานศึกษาต่างๆ พิจารณาสำหรับภาคการศึกษานี้หรือที่จะถึงนี้ครับ


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.