อุตสาหกรรมไอทีล้มเหลวที่จะปกป้องผู้ใช้ เพราะเรา move fast and break things?

Move Fast and Break Things.

“Move fast and break things. Unless you are breaking stuff, you are not moving fast enough”

— Mark Zuckerberg

ไม่ใช่แค่เฟซบุ๊กนะครับ ผมว่าเกือบทั้งอุตสาหกรรมไอทีนั่นแหละที่มีปัญหา อุตสาหกรรมเราโตมาโดยคิดเรื่องความปลอดภัยสาธารณะเป็นอันดับท้ายๆ ไม่เหมือนพวกวิศวกรรมโยธา ที่สร้างตึกสร้างถนนที่คนใช้ร่วมกันเยอะๆ ทุกๆ วัน

การสร้างของที่ “ดีพอ” (good enough) เอาล่ะพอใช้ได้แล้ว แล้วเอาไปใช้ก่อน เสียก็ซ่อม ผิดก็แก้ไข เมื่อก่อนมันไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเทคโนโลยีมันมาเกี่ยวกับชีวิตคนเราน้อย – ข้อผิดพลาดในการคำนวณเลขทศนิยมในซีพียูเพนเทียมไม่ได้ทำให้ใครตาย (อย่างน้อยก็ไม่มีบันทึกเอาไว้) เล่นเกมแล้วติดบั๊ก ไอเท็มไม่ออก ก็ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย (แม้จะอารมณ์เสีย)

แต่เดี๋ยวนี้ เกมมีการแข่งขันเป็นอาชีพ มีเรื่องเงินทองจำนวนมากมาเกี่ยวข้อง ก็ต้องหาวิธีจัดการที่ซีเรียสขึ้น, อุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวกับร่างกายและสวัสดิภาพของเรามากขึ้น ก็ต้องมีการทดสอบต่างๆ ให้มั่นใจก่อนใช้จริง, ระบบประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเรื่องชีวิตเราในฐานะพลเมืองและในฐานะผู้บริโภคมากขึ้น (ได้หรือไม่ได้ทุนการศึกษา ได้หรือไม่ได้เงินกู้ ได้หรือไม่ได้งาน ได้หรือไม่ได้ประกัน…) มันก็ต้องมีการตรวจมาตรฐานตามเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย audit กันมากขึ้นเป็นปกติ

Move Fast and Break Things.

“Move fast and break things.” (ให้แปลก็คงทำนองว่า พุ่งให้เร็ว ใส่ไม่ยั้ง พังไม่เป็นไร) เป็นคำขวัญที่โด่งดังของเฟซบุ๊ก เป็นหลักคิดที่ดีเพื่อการสร้างนวัตกรรม ทดลองทำ ดูว่าใช้ได้หรือไม่ เก็บข้อมูล ตรงไหนไม่ดีก็ทำใหม่ ทำซ้ำวนรอบไปเรื่อยๆ

ฟังดูโอเค แต่ถ้าเมื่อใดมันเป็นเรื่องที่จะกระทบกับสาธารณะ คุณทำแบบนี้คนจะเจ็บเยอะ มันไม่ควร โน่นครับ ไปทำใน sandbox ก่อนดีไหม เพื่อจำกัดความเสียหาย

ถ้า things ที่จะถูก break เป็น status quo หรือเป็นวิธีการทำธุรกิจแบบเก่าๆ น่ะ break ไปเถอะครับ break คนที่โดยเปรียบเทียบแล้วมีอำนาจมากกว่า

แต่ถ้า things ที่จะถูก break เป็นข้อมูลคนทั่วไป เป็นผู้ใช้บริการ ที่โดยเปรียบเทียบแล้วมีอำนาจน้อยกว่า พังแล้วมีโอกาสที่ชีวิตเขาจะพังไปอีกนาน โอ้โห คือคุณไม่มีความรับผิดชอบน่ะครับ (ซึ่งอันนี้เฟซบุ๊กก็ควรถูกด่าจริงๆ เพราะมีคนเตือนมาตลอด แต่เฟซบุ๊กก็ไม่ได้สนใจ)

ถ้าตอนนี้จะ “เห็นใจ” มาร์ก ก็มีแค่เรื่องนี้ล่ะครับ คือทุกคนรุมเฟซบุ๊กราวกับว่าคนอื่นในอุตสาหกรรมไม่ได้ทำงานในโหมดนี้กันเลย (หรือเอาจริงๆ คนที่เห็นใจมาร์กจำนวนหนึ่งก็คือคนที่ทำงานในโหมดนี้แหละ รู้สึกว่าการ break things มันก็โอเคนี่นา มีปัญหายังไงเหรอ ไม่เข้าใจ) คือผมว่ามันห่วยทั้งอุตสาหกรรม

ถ้าอุตสาหกรรมไอทีกำลังจะทำสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้คนทั้งสังคมใช้ คุณจะ break things ง่ายๆ ไม่ได้ ชีวิตคนมันพังได้ยาวอยู่ ต่อให้แก้บั๊กแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตมันจะหายพังทันที

อ้อ เฟซบุ๊กเปลี่ยนคำขวัญแล้วตั้งแต่ปี 2014 มาใช้ของใหม่ว่า “Move fast with stable infrastructure.”

(โพสต์ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 12 เม.ย. 2018)


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.