หลักการ/กลไกการคุ้มครองข้อมูลใหม่ใน GDPR ของสหภาพยุโรป #infosec17

Ready for GDPR (?)

วันนี้เป็นวันที่ 2 ที่มางาน Infosecurity Europe ที่ลอนดอน ได้ฟังหลักๆ 2 เวที เป็น Keynote ทั้งคู่ อันแรกตอนเช้า ฟัง Bruce Schneier พูดหัวข้อ Artificial Intelligence & Machine Learning: Cybersecurity Risk vs Opportunity? ส่วนตอนบ่ายฟัง EU GDPR Special Focus – Extended Session โพสต์นี้เล่าของตอนบ่ายก่อน ส่วนของตอนเช้ากับของงานวันแรกยังไม่ได้เขียนถึง เดี๋ยวทยอยลงนะ

เรื่อง General Data Protection Regulation (GDPR) ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลตัวใหม่ของสหภาพยุโรปที่ประกาศเมื่อปีที่แล้วและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2018 นี่มาแรงมากๆ เดินไปไหนในงานก็เห็นคำนี้ มีในเกือบทุกทอล์ก เพราะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปีแล้ว ที่ทุกบริษัท ทุกหน่วยงาน จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้เหมือนกันหมดทั่วสหภาพยุโรป (หัวข้อตอนบ่ายที่ไปฟังมาอันนี้ฮิตมาก คนต่อแถวยาวเหยียด และเวลาก็ได้ยืดมากกว่าหัวข้ออื่น เป็น extended session)

Ready for GDPR (?)

Peter Brown ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีอาวุโสของ Information Commissioner’s Office (ICO – สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของสหราชอาณาจักร) เป็นคนพูดเปิด เล่าถึงหลักการทั่วไปของ GDPR กับความพร้อมของ ICO ในฐานะองค์กรกำกับและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหราชอาณาจักร ว่าได้เตรียมข้อแนะนำและหลักปฏิบัติอะไรต่างๆ ให้กับภาคธุรกิจปรับตัวและเปลี่ยนผ่านอย่างไรบ้าง

Peter บอกว่าหลักการคุ้มครองข้อมูลของ GDPR นั้น ไม่ต่างจากที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูล หรือ Data Protection Act (DPA) ที่สหราชอาณาจักรมีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่เพิ่มหลักการขึ้นมา 2 เรื่อง คือ Security และ Accountability & Governance

อธิบายต่อ (ผมพูดเอง) ก็คือ เดิม DPA นั้นพูดถึงเฉพาะตัวข้อมูลและการประมวลผลข้อมูล แต่ GDPR ยังพูดถึงระบบที่ใช้ประมวลผลข้อมูล (เน้นเชิงเทคนิค – technical measures) และความรับผิดและการบริหารจัดการของผู้ที่เกี่ยวข้อง (เน้นเชิงกระบวนการ – organizational measures)

จริงๆ ข้อคำนึงเหล่านี้ มีอยู่แล้วเงียบๆ ใน DPA แต่ GDPR ระบุให้มันแยกออกมาอย่างชัดเจน

พูดอีกแบบ DPA หรือหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยทั่วไปที่ผ่านมา จะเน้นการไม่เก็บ ไม่บันทึก ไม่ส่งต่อ ไม่ประมวลผล ข้อมูลที่ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับความยินยอม และกำหนดบทลงหากมีการทำเช่นว่า

แต่ GDPR คิดละเอียดกว่านั้น โดยเฉพาะในบริบทที่ข้อมูลจำนวนมากอยู่ในระบบเครือข่ายและสารสนเทศ คือแม้จะเก็บและใช้อย่างถูกต้องทุกอย่าง แต่ถ้าระบบที่ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลนั้นมีการจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีมาตรการป้องกันที่ควรมี ก็มีความผิดได้

สิ่ง “ใหม่” ที่ถูกพูดถึงในหลักการ Accountability & Governance ของ GPDR ก็คือหลัก data protection by design, data protection by default, และ data protection impact assessment (DPIA) — “ใหม่” ในที่นี้ หมายถึงมันไม่เคยถูกบังคับในกฎหมายมาก่อน

(เรื่อง data protection by design นี่ มีหลายบริษัทที่มาออกงานพูดถึง ตั้งแต่การออกแบบ user experience ที่สนับสนุน security, การทำระบบให้ลด cognitive load เพื่อให้คนทำงานอยู่ในภาวะมีสติ, การออกแบบให้ AI มาช่วยคนตัดสินใจได้ดีขึ้น)

ทั้งหลักการ Security และ Accountability ที่มีใน GDPR เรียกว่าเป็นความพยายามให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูล ไม่ได้มาเน้นเฉพาะการลงโทษหลังข้อมูลรั่วแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของ Security ก็ยังมีการกำหนดมาตรฐานการแจ้งเตือนในกรณีที่พบข้อมูลรั่วไหล (ทาง Article 29 Working Party จะออกแนวปฏิบัติมาภายในปีนี้)

พูดอีกแบบคือจะหวังว่า “เราจะโชคดี” “มันไม่เกิดกับเราหรอก” ไม่ได้ — ต่อให้ข้อมูลยังไม่รั่ว แต่ถ้าพบว่าไม่มีมาตรการที่เพียงพอก็มีความผิด

หน้าที่ของผู้ประมวลผล-ผู้ควบคุมข้อมูลคือ จะต้องสามารถแสดงหลักฐาน (evidence) ให้ได้ว่า ตัวเองได้ทำสิ่งที่ควรทำทั้งหมดแล้ว

ลองคิดถึงกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร ที่ต่อให้ไฟยังไม่ไหม้ แต่ถ้าพบว่าไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีอุปกรณ์จับควัน-แจ้งเตือน-ดับเพลิง ที่ได้มาตรฐานอย่างเพียงพอ ก็มีความผิดอยู่ดี

ใน GDPR หากมีกรณีข้อมูลรั่วไหล หากผู้ประมวลผล/ผู้ควบคุมข้อมูลสามารถแสดงได้ว่า ได้ทำตามมาตรฐานที่กำหนด ยังมีโอกาสได้รับลดหย่อนโทษลงด้วย

สำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทย ถ้าทำมาค้าขายกับคู่ค้าในสหภาพยุโรป ต้องประมวลผลข้อมูลของพลเมืองของสหภาพยุโรป ก็ต้องศึกษากฎหมาย GDPR นี้ไว้ด้วย เพราะกฎหมายครอบคลุมถึงข้อมูลของพลเมืองของเขา ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะถูกส่งไปประมวลผลหรือจัดเก็บที่ใดก็ตามครับ


2 responses to “หลักการ/กลไกการคุ้มครองข้อมูลใหม่ใน GDPR ของสหภาพยุโรป #infosec17”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.