การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทย หลังพ.ร.บ.คอมฯ


ปตท.เขาถามเราบ่อย ๆ (ในโฆษณา) ว่า ประเทศเราจะอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก ?

สงสัยต้องถามปตท.กลับ ว่า แผนที่โลกยุคไหนล่ะพี่ ?

ด้วยกฎหมายต่าง ๆ ของเมืองไทยในปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต และผู้จะต้องร่วมรับผิดชอบหากพบว่ามีเนื้อหาใด ๆ ผิดกฎหมาย (แม้จะไม่ใช่ของตัวก็ตาม) ผมไม่แน่ใจว่า นี่จะทำให้โอกาสของประเทศไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ สื่อดิจิทัล และ ดาต้าเซนเตอร์ ในระดับภูมิภาค กระทบหรือไม่

ทั้งนี้รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ ศูนย์ข่าว (อย่างพวกรอยเตอร์ เอพี บลูมเบิร์ก) ศูนย์กระจายข้อมูล และ โครงข่ายสื่อสาร ด้วย

ผมไม่แน่ใจนัก แต่คิดว่า ที่ผ่านมา ที่สำนักข่าวบางแห่ง เลือกที่จะตั้งศูนย์ภูมิภาคที่กรุงเทพ และไม่ใช่สิงคโปร์ เพราะที่ผ่านมา ชื่อเสียงเรื่องเสรีภาพสื่อของเมืองไทยดีมาก ดีกว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน — แต่ปัจจุบันนี้คงไม่ใช่แล้ว

คือโดยสาธารณูปโภค โครงข่ายสื่อสาร เราคงไปสู้มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ในอดีตเขาก็สู้เราไม่ได้เหมือนกัน ในเรื่องเสรีภาพสื่อ มันเลยสูสี ก็แล้วแต่ว่า คนที่จะมาลงทุน เขาจะให้น้ำหนักกับอะไร บ้างก็เลือกเขา บ้างก็เลือกเรา พอแข่งกันได้ หรือบางแห่งก็เลือกจะมีสำนักงานมันสองที่เลย แบ่งส่วนหน้าที่กันไป

ที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ มาเลเซีย ซึ่งยก Multimedia Super Corridor เป็นวาระแห่งชาติอย่างแข็งขันต่อเนื่อง ต้องการให้ต่างชาติมาลงทุนเรื่องสื่อดิจิทัลในประเทศตัวมาก ถึงขนาดมี “นโยบายเอาหูไปนาเอาตาไปไร่” กับสื่ออินเทอร์เน็ต ไม่เข้มงวดกับสื่อชนิดนี้มากเท่ากับหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่น ๆ ที่รัฐทั้งเซ็นเซอร์ ทั้งกดดัน จับกุม สารพัดรูปแบบ (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini ดำเนินงานมาได้อย่างค่อนข้างปลอดภัย [แต่ก็ยังถูกใช้กฎหมายอื่นเล่นงาน เช่น กฎหมายความมั่นคงภายใน])

เรื่องเซ็นเซอร์และความยุ่งยากทางกฎหมายนี้ ไม่ได้กระทบแค่สำนักข่าวอย่างเดียว แต่หมายถึงธุรกิจเนื้อหาและสารสนเทศทั้งหมด ถ้าใครจะเสนออะไร ก็คงอยากจะเสนอได้อย่างสบาย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องเสี่ยงคุกตะรางหรือความจุ้นจ้านจากกระทรวงวัฒนธรรม (เช่นจะแพร่ภาพ “ภิกษุสันดานกา” เป็นต้น) ถ้าสำนักงานอยู่มาเลเซียแล้วแพร่ภาพแพร่สัญญาณไปได้ทั้งภูมิภาค โดยที่คุณภาพโครงข่ายก็ดีกว่าเมืองไทย ความเสี่ยงด้านกฎหมายก็น้อยกว่าเมืองไทย แล้วจะมาอยู่เมืองไทยทำไม ก็น่าจะเลือกอยู่มาเลเซียดีกว่า

หรือกระทั่งในกรณีผู้ใช้บริการ ที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรแน่ ๆ เช่นเปิดร้านขายจตุคามหรือวุ้นมะพร้าวออนไลน์ ก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดี ว่าในดาต้าเซนเตอร์/โฮสติ้งเดียวกันนั้น จะมีผู้ใช้บริการรายอื่นที่มีความเสี่ยงรึเปล่า เพราะนั่นหมายถึงตัวเองก็จะพลอยโดนหางเลขไปด้วย (เช่นกรณีเพื่อนร่วมโฮสติ้งของเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน) ที่ว่าโดนหางเลข ก็เพราะแม้ตัวเองจะไม่ได้โดนคดีไปด้วยก็ตาม เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็เป็นความยุ่งยากเสียเวลาเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่มีผู้ประกอบการคนใดอยากเจอ

นี่ยังไม่ได้พูดถึงต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับ ที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องทำการจัดเก็บข้อมูลการเข้าใช้บริการทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกดูได้ทุกครั้งเมื่อต้องการ

เมื่อประเทศไทย (ซึ่งสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว ด้านโครงข่าย) มีนโยบายเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในแบบปัจจุบันนี้ ก็ชวนสงสัยว่า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรา ก็คงจะตกลงไป อีกหนึ่งประเภทอุตสาหกรรม … และเผอิญว่ามันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเสียด้วยสิ

ก็ดีครับ อย่าไปแข่งมาก .. พอเพียง พอเพียง


หมายเหตุ: ผมเห็นด้วยกับการมีกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ดังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และยังเห็นด้วยว่า การมีกฎระเบียบและบทลงโทษที่ชัดเจน จะส่งเสริมความมั่นใจในการทำการค้าและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ และส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ — แต่เรื่องการคัดกรองและเซ็นเซอร์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นคนละเรื่องกันกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และไม่ควรนำไปรวมกันไว้ในพ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน (ถ้ามันจำเป็นจะต้องมี) – เมื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบันนี้เป็นอย่างนี้ คือมีสาระเกี่ยวกับเนื้อหาในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มที่ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไอทีและสื่อดิจิทัล อย่างที่หลายคนหวังไว้ (เช่นที่ อ.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.เนคเทค เคยเสนอไว้ ซึ่งตามที่เสนอให้มีนั้น เป็นกฎระเบียบเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในระบบเลย)

กรณีการขอยกเลิกการให้บริการเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน โดยบริษัทเว็บโฮสติ้ง เป็นกรณีที่ชัดเจนถึงสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้แล้วว่า พ.ร.บ.คอมฯ นี้ จะเป็นการกระจายการเซ็นเซอร์ออกจากรัฐไปสู่ผู้ให้บริการทุกระดับ (ไม่ว่าจะเป็น ไอเอสพี ดาต้าเซนเตอร์ เว็บโฮสติ้ง ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ฯลฯ) ในลักษณะ “เซ็นเซอร์ไว้ก่อน” เนื่องจากกลัวผลกระทบต่อธุรกิจของตน การกระจายการเซ็นเซอร์ออกไปนี้ นอกจากจะช่วยให้การเซ็นเซอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว (เซ็นเซอร์ได้มากขึ้น ครอบคลุมขึ้น โดยใช้กำลังของรัฐน้อยลง) ยังทำให้รัฐปลอดภัยจากการต้องรับผิดชอบใด ๆ ยิ่งขึ้นด้วย ทั้งทางกฎหมายและทางสังคม


ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง

เผยแพร่ครั้งแรก 6 ม.ค. 2551 ที่เว็บไซต์ palawat.com (ปัจจุบันคือ arayachon.org)

,

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.