อาทิตย์ที่ผ่านมา 24 มิ.ย. – วันชาติ
วันนี้ 27 มิ.ย. – วันรัฐธรรมนูญ
วันเก่า เก่า
ประชาไท: โปรดฟังอีกครั้งในรอบ 75 ปี เมื่อ ‘ลูกพระยาพหลฯ’ อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
หลังก่อการจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเชิญรัชกาลที่ 7 กลับ พระองค์ทรงตกลงแล้วเสด็จกลับโดยทางรถไฟ เมื่อมาถึงทางคณะราษฎรก็เข้าไปในลักษณะเชิงขอขมาลาโทษ นายปรีดีเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นท่านรับสั่งกับพระยาศรีวิศาลวาจา ว่า “ฉันบอกแกแล้วใช่หรือไม่ ให้มีการปกครองแบบใหม่ขึ้น” ซึ่ง คณะราษฎรก็ไม่ทราบมาก่อนว่าจะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่พระราชทานโดยพระเจ้าแผ่นดินหลายอย่างนั้นจะสงวนไว้สำหรับพระ มหากษัตริย์อยู่ดี ปัจจุบันจึงถูกพูดว่าเป็นคุณหลวงห่ามๆ รีบทำกันเพราะในหลวงท่านพร้อมพระราชทานอยู่แล้ว แล้วมีความยายามลบความทรงจำตรงนี้ออกไป
จากการที่กำลังศึกษาเรื่องประวัติรัฐธรรมนูญพบว่า หลัง 24 มิ.ย. 2545 กลุ่มพลังเก่าพยายามลบล้าง ประวัติศาสตร์ 24 มิ.ย. 2475 ออกไป ที่ชัดเจนคือการยกเลิกการให้วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันชาติ ใน พ.ศ. 2503 ไทยจึงกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีวันชาติ และผู้พยายามยกเลิกก็คือ ตระกูล ‘ชุณหะวัณ’ หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญหลังจากนั้นมา ก็พยายามยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิ.ย. 2475 ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าเป็นการทำสัญญาประชาคม หลังการยื่นคำขาดต่อในหลวง
รัชกาลที่ 7 กลับมาในวันที่ 25 มิ.ย. หลังรับคำขาดวันที่ 24 มิ.ย. และถึงกรุงเทพฯ วันที่ 26 มิ.ย. โดยได้สาส์น 2 ฉบับ คือ การขอออกกฎหมายนิรโทษกรรมคณะราษฎรกับรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ขอนิรโทษกรรมนั้นทรงอนุญาต แต่ส่วนรัฐธรรมนูญนั้นทรงขอพิจารณาหนึ่งคืนโดยไม่ลงพระนามในวันนั้น จากนั้นจึงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ลงไป
นายสุพจน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ มาตราที่ 1 บอกว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ และตอกย้ำด้วยมาตรา 7 ว่า การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
มันอยู่ที่ใครเขียน – ประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญ …
ไปดูประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 กัน สาระในนั้นเป็นอย่างไร บ้านเมืองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 75 ปีที่ผ่านมา
ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑
ราษฎรทั้งหลาย
เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศ เพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอม ให้ทำนาบนหลังคน
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่ สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย์” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า
คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
technorati tags:
Thailand,
constitution
One response to “Thai Constitution Day – 27 June”
ผ่านมา 75 ปีแล้ว ก็แค่อำนาจเปลี่ยนมือ ทุกอย่างยังคงเดิม ไม่แม้แต่จะแย่ลง