มองออกไปนอกหน้าต่างรถเมล์ หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ตอนเย็น ๆ
รถติดไฟแดง รถเก๋งคันหนึ่งลักไก่วิ่งย้อนศร หวังมาแทรกเข้าข้างหน้า
“โชคไม่ดี” ไฟจราจรปล่อยรถอีกด้านมาแล้ว รถกระบะคันหนึ่งวิ่งมาตามเลนของตัว และเจอกับรถเก๋งคนนั้น
ไม่ใครก็ใครต้องถอย ไม่มีที่หลบ
ไม่มีรถอื่นตามรถเก๋งมา เช่นเดียวกัน ไม่มีรถอื่นตามรถกระบะมา
ดูตามพื้นที่แล้ว รถกระบะน่าจะถอยง่ายกว่า เพราะเพิ่งเข้ามาในเลนได้นิดเดียว ยังมีที่ให้ถอยไปได้เพื่อให้รถเก๋งเข้ามาหลบในเลนซ้ายได้
ดูเหมือน “แล้งน้ำใจ” ? รถกระบะบีบแตรทันที และขยับรถเดินหน้าเข้าใกล้รถเก๋ง ดูท่าทางเอาจริง เสียงแตรถี่ขึ้น
ภาพสุดท้ายที่เห็นคือ รถเก๋งถอยยาว มีรถกระบะรุกไล่ไปตลอดจนลับตา
ถ้าคุณเป็นรถกระบะ คุณจะทำเช่นนี้ไหม ?
ถ้าคุณเป็นรถเก๋ง คุณจะลักไก่วิ่งย้อนศรไหม ?
และถ้าทำ คุณจะทำอย่างไร เมื่อเจอรถกระบะ ?
เมืองที่เราอยู่ร่วมกัน ถนนที่เราใช้ด้วยกัน
ถนนที่เราเป็นเจ้าของร่วมกัน
แปลว่า ในขณะที่เราเป็นเจ้าของ คนอื่น ๆ ก็เป็นเจ้าของมันด้วย
สังคมที่เราอยู่ร่วมกัน กติกาบางอย่างที่เราตกลงกัน
เราปฏิบัติตามนั้น ด้วยความคาดหวังว่าคนอื่นจะทำตามกติกาด้วย
เพื่อเราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสะดวก ไม่ต้องมาทำความเข้าใจตกลงอะไรกันใหม่ไปทุกเรื่องทุกครั้ง
ต่างคนต่างรู้ว่าใครจะซ้ายจะขวา จะหยุดจะไป
ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างไหลลื่น ไม่สะดุด ติดขัด
แต่หากมีใครละเมิดกติกา จะด้วยจงใจหรือหลงลืม
ในฐานะเพื่อนร่วมสังคม เราจะทำอย่างไร
สยบยอม ? หรือ ยืนยันสิทธิ์ของตัว ?
ในทุกขณะที่เราทำตามกติกา นั่นคือเรายืนยันสิทธิ์ของคนอื่นอยู่
ไม่มีอะไรน่าอาย หากเมื่อถึงเวลา เราจะยืนยันสิทธิ์ของเราบ้าง
และการยืนยันสิทธิ์ของเรา ที่สุดแล้ว ก็เป็นการยืนยันย้ำกับคนรอบ ๆ ในสังคมของเราว่า คุณก็มีสิทธิ์นี้เช่นกัน
นั่นคือ ที่สุดแล้ว การยืนยันสิทธิ์ของเรา ก็คือ การยืนยันสิทธิ์ของคนอื่นด้วย
เพราะสิทธิ์นี้ อยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันของสังคมทั้งหมด
สิทธิ์นี้จะมีเฉพาะคนหนึ่งคนใดกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดของสังคมไม่ได้
หากเรามี คนอื่นก็ย่อมมี — หากคนอื่นไม่มี เราก็ย่อมไม่มี
พูดอีกอย่าง
การยืนยันและเคารพสิทธิ์ของคนอื่น ก็คือ การยืนยันและเคารพสิทธิ์ของเรา เช่นกัน
ภาพจากท้องถนนในทุกวัน มีสิ่งสะกิดเราเสมอ หากได้มองและตรองดู
เราไม่ได้อยู่คนเดียว
หากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สังคม”
เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ทั้งหมด
และทุก ๆ คน เกี่ยวข้องกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตรงหรืออ้อม
“ประชาธิปไตย” “รัฐธรรมนูญ” “ประชาสังคม” “การมีส่วนร่วม” “ประชามติ” “ประชาพิจารณ์” “ธรรมาภิบาล” “นิติรัฐ” “…” ฯลฯ
อย่าเพิ่งรีบร้อน … เริ่มจากฐานคิดที่ว่ามาข้างบนให้ได้เสียก่อน ก่อนจะไปสู่อะไรที่ใหญ่กว่านั้น
“ทุก ๆ คนอยู่ร่วมกัน — อย่างเท่า ๆ กัน”
(เผยแพร่ครั้งแรกที่ palawat.com [ปัจจุบัน arayachon.org])