แฟลตทหาร แฟลตตำรวจ บ้านพักผู้พิพากษา ฯลฯ โดยรวมๆ ควรเอาเงินไปกองรวมกันที่การเคหะไหม แล้วสร้างระบบ public housing ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ โดยไม่ผูกกับนายจ้าง ไม่ให้การจะมีที่อยู่อาศัยต่อหรือไม่มาเป็นพันธนาการรั้งการตัดสินใจไปในทิศใดทิศหนึ่งระหว่างประกอบอาชีพ (ถ้าทำแบบนี้ ถูกไล่ออก ครอบครัวจะไปอยู่ไหน)
ไอเดียเดียวกันกับ สหกรณ์ออมทรัพย์(เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ)ที่สถานะสมาชิกไม่ควรผูกกับหน่วยงาน (อาจจะผูกกับวิชาชีพก็ได้ ถ้ามีความต้องการเฉพาะ แต่ไม่ผูกกับนายจ้าง)* ประกันสุขภาพที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการกับอาชีพอื่น (ประท้วงนายวันนี้ ถูกไล่ออกวันนี้ พรุ่งนี้พ่อแม่ก็ยังเข้าโรงพยาบาลได้มาตรฐานเดิม)
ถ้าจะสู้กับอำนาจนิยม-ระบบอุปถัมภ์ หนึ่งในแอกที่เราต้องปลดก็คือ เราต้องแยกการได้รับสวัสดิการพื้นฐาน (และการเข้าถึงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการขยับชั้นทางสังคม) [ที่อยู่-รักษาพยาบาล-การศึกษา-เงินออม-เงินกู้] ออกมาจากความสัมพันธ์ลูกจ้าง-นายจ้าง หรือ ข้า-นาย ให้มันไปอยู่ในความสัมพันธ์พลเมือง-รัฐ แทน เพื่อให้คนมีอิสระและตัดสินใจในชีวิตตัวเองได้มากขึ้น
(นี่ยังไม่นับประเด็น echo chamber ของการมีเพื่อนบ้านอยู่ในแวดวงอาชีพเดียวกันเท่านั้น – และความปลอดภัยของการที่นายจ้างสามารถระบุตำแหน่งและเข้าถึงที่พักของลูกจ้างได้ตลอดเวลา)
เราควรสนับสนุนให้คนทุกคนสามารถมีที่พักอาศัยที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย ราคาเหมาะสม อยู่ใกล้งานและโอกาสอื่นๆ ใครได้ที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้นก็ควรยินดีด้วย แต่มันควรเป็นสิทธิปกติ ไม่ใช่สิ่งตอบแทนพิเศษ และเป็นสิทธิในฐานะพลเมือง ไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างองค์กร
—
*การพัฒนาสถาบันการเงินอย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน และ building society ยังทำให้เงินไม่ไปกระจุกอยู่กับกลุ่มทุนธนาคารเพียงไม่กี่กลุ่ม เป็นการบาลานซ์อำนาจด้วย
**เรื่องที่อยู่อาศัยที่ให้รัฐเข้ามาจัดการมากๆ ก็อาจจะต้องระวังเรื่องผลกระทบที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นจากการวิศวกรรมทางสังคม (social engineering) หรือการใช้อำนาจดังกล่าวในทางที่ผิดด้วย เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ (gerrymandering) ในสิงคโปร์ (ซึ่งมีนโยบาย public housing ครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่)