การร่วมสร้างอัตลักษณ์ “คนดี” โดยมวลมหาประชาชน: กรณีศึกษาสื่อส่วนบุคคล

การร่วมสร้างอัตลักษณ์ "คนดี" โดยมวลมหาประชาชน: กรณีศึกษาสื่อส่วนบุคคล โดย อาจินต์ ทองอยู่คง และ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

โดย อาจินต์ ทองอยู่คง และ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ธันวาคม 2560

งานวิจัยนี้ใช้แนวคิดเรื่อง “มีม” (meme) ศึกษาการมีส่วนร่วมในขบวนการทางการเมืองในประเทศไทยช่วงปี 2556-2557 ผ่านการผลิตมีมของผู้สนับสนุนขบวนการ โดยใช้นิยามของมีมว่า “หน่วยของการส่งผ่านวัฒนธรรม”

  • มีม (meme) ในฐานะหน่วยที่เล็กที่สุดทางวัฒนธรรม เป็นแนวคิดที่ล้อกับ ยีน (gene) ในฐานะหน่วยที่เล็กที่สุดทางพันธุกรรม
  • มีมที่ประสบความสำเร็จ คือมีมที่ถูกคัดลอก ทำซ้ำ
  • Mike Godwin เสนอว่า มีมคือสิ่งที่สามารถรวบยอดความคิดของทั้งสายความคิด

หนึ่งในข้อเสนอของงานก็คือ ในแง่กระบวนการ มวลชนนั้นร่วมผลิตเนื้อหาที่ไหลเวียนในขบวนการด้วย ความคิดในขบวนการไม่ได้มาจากด้านบน (โดยแกนนำ) และไหลลงสู่ผู้สนับสนุนเท่านั้น แต่ผู้สนับสนุนก็ร่วมผลิตด้วย (และบางส่วนก็ไหลขึ้นไปสู่แกนนำ) — สิ่งที่คิดต่อไปจากข้อเสนอนี้ได้ก็คือ เมื่อมวลชนไม่ได้เป็นเพียงปัจเจกที่ไหลไปตามกระแสที่แกนนำกำหนด แต่ยังตัดสินใจกระทำการบางอย่าง ดังนั้นก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่

สิ่งที่พบจากงานศึกษานี้อีกอย่างหนึ่ง คือลักษณะร่วมในมีมที่ถูกผลิตที่พอจะอธิบายได้ว่า อะไรคือ “คนดี” ในสายตาของผู้สนับสนุนการเมืองในแนวทางของ กปปส.

ดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอและรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ท้ายโพสต์นี้ – มีลิงก์วิดีโอนำเสนอที่ด้านท้ายด้วย

โจทย์วิจัยและวิธีการศึกษา

โจทย์วิจัย

มวลชนร่วมผลิตอะไร – อย่างไร? สร้างอัตลักษณ์แบบไหน?

วิธีการศึกษา
เราจะดู การร่วมผลิต ผ่านอะไรได้บ้าง? โครงการวิจัยนี้เลือกดู

  • มีม – การผลิตออนไลน์
  • สินค้ารักชาติ – การผลิตออฟไลน์
  • เซเล็บ – บุคคลในฐานะที่เป็นสื่อ

โดยมองว่าสื่อส่วนบุคคลทั้ง 3 สิ่งนี้คือ “ภาชนะ”

ทุนกับการผลิตสื่อ

เราพบว่า “ทุน” ในลักษณะต่างๆ ที่ผู้สนับสนุนมี ทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม ทำให้สามารถผลิตสื่อส่วนบุคคลที่มีพลังทั้งทางรูปแบบ เนื้อหา และปฏิบัติการได้

  • มีม – ส่งต่อความคิด แสดงอัตลักษณ์ออนไลน์ ช่วยในการเปล่งความคิดออกมาเป็นคำพูด (articulate) ผลิตง่าย-รู้สึกได้ร่วมขบวนการ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการมากขึ้น
  • สินค้ารักชาติ – แสดงอัตลักษณ์และจุดยืนบนร่างกาย พาการชุมนุมออกไปนอกพื้นที่การชุมนุมอย่างเป็นทางการ ไปสู่พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ที่ใช้ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว พื้นที่ที่ใช้ร่วมกับคนแปลกหน้า เช่น ในรถโดยสารสาธารณะ ทำให้เห็นคนที่มีจุดยืนแบบเดียวกันโดยต่างฝ่ายต่างไม่ต้องเปล่งเสียง
  • เซเล็บ – ได้รับความสนใจจากสังคม เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด โอกาสถูกผลิตซ้ำจากสื่อกระแสหลัก/สื่อดั้งเดิม เป็นตัวอย่างในการแสดงออก พื้นที่สื่อสังคมส่วนตัวในฐานะพื้นที่สาธารณะ

การผลิตสื่อส่วนบุคคลที่เป็นภาชนะส่งต่อความคิดและร่วมสร้างอัตลักษณ์ของขบวนการนี้ ใช้ “ทุน” (ในลักษณะที่ Pierre Bourdieu จำแนกไว้ใน “The Forms of Capital” [1986]) เป็นปัจจัยในการผลิตและการเข้าถึง “ตลาด”

ผลผลิตของมวลมหาประชาชน: การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกทำให้ไม่เป็นการเมือง

ในกรณีของขบวนการ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) งานศึกษาพบว่าสิ่งที่มีร่วมกันในมีมต่างๆ ที่ถูกผลิตนั้น คือการหลีกเลี่ยงความเป็นการเมือง ความเป็นการเมืองคือสิ่งไม่ดี

  • การกลายเป็นแฟนชั่นของการเคลื่อนไหวทางการเมือง
  • ลักษณะร่วมของ 3 สื่อ: สื่อสารประเด็นทางการเมืองในรูปแบบที่(พยายามทำให้)ดูไม่เป็นการเมือง
  • การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกทำให้ดูไม่เป็นการเมือง (depoliticized political movement)
  • “ขบวนการทางการเมืองแบบคนดี” คือขบวนการทางการเมืองที่(ดู)ไม่เป็นการเมือง (apolitical political movement)
  • อัตลักษณ์: การหลีกเลี่ยงความเป็นการเมือง

งานศึกษาแยก: กรณีมีมอื่นๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

การผลิตมีมจำเป็นต้องอาศัยทุน การบริโภคมีมเองก็ต้องอาศัยทุน ซึ่งในแง่การเข้าใจมีมชุดหนึ่งจำเป็นต้องอาศัยทุนทางวัฒนธรรม สิ่งนี้อาจถูกใช้เพื่อสร้างภาษาเฉพาะเพื่อหลบเลี่ยงการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น (ทั้งจากรัฐหรือจากสังคม) แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอุปสรรคในการส่งต่อความคิดออกไปยังวงสังคมที่กว้างขึ้น

การนำเสนอจบโครงการ

การนำเสนอในสัมมนาสรุปโครงการวิจัย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียรอาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (ดูกำหนดการ)

การนำเสนอของ อาจินต์ และ อาทิตย์ จะอยู่ในคลิปที่ 3 ของ playlist ตั้งแต่ประมาณนาทีที่ 26:40 เป็นต้นไป หลังการนำเสนอของ ประจักษ์ ก้องกีรติ (ประเด็นว่า ศีลธรรม กับ ความรุนแรง ไปด้วยกันได้อย่างไรในขบวนการ)

https://www.youtube.com/playlist?list=PLTg78zFFSI7UvAQvK7K_xVQPafhBve-WC

ดาวน์โหลด

โครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการ การเมืองของคนดี: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน “ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” (“Good Man’s Politics”: Political Thoughts, Practices and Identities of the “Change Thailand Movement” Supporters) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) — ดูการสังเคราะห์จากงานของทั้งชุดโครงการวิจัยได้ใน อภิชาตและอนุสรณ์ 2560

ขอบคุณรายการ คนสวยเรียนสูงออนแอร์ EP. 5 ตอน hashtag the movement: ปั่นยังไงให้จีนสะดุ้ง (19 เม.ย. 2563) ที่ทำให้สลัดความขี้เกียจ รวบรวมลิงก์ต่างๆ มาโพสต์เสียที

“สุดงดงาม!!! นศ.ม.ศรีปทุม จัดทำภาพชุดพี่ตูน ใส่กรอบอย่างดี ติดชื่อผู้บริจาค นำรายได้สมทบ“ก้าวคนละก้าว”..โซเชียลแห่แชร์สนั่นหวั่นไหว!!!” — ทีนิวส์ 7 ธ.ค. 2560

Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version